วันนี้ (17 พ.ค.65) ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องทั้งคืนในพื้นที่ป่าและบนภูเขาสูงชันในเขตรอยต่อ อ.งาว จ.ลำปาง และ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ส่งผลให้พื้นที่บ้านแม่ตีบ ต.แม่ตีบ อ.งาว จ.ลำปาง เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน โดยน้ำได้ไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ใน 2 หมู่บ้าน คือบ้านงิ้วงามและบ้านน้ำหลง ต.แม่ตีบ อ.งาว ชาวบ้านแตกตื่นเก็บของหนีน้ำขึ้นไปไว้บนที่สูง และยังมีชาวบ้านส่วนหนึ่งหนีน้ำออกมาไม่ทัน ต้องหลบขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้าน
ล่าสุดเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง เจ้าหน้าที่อำเภองาว และองค์กรปกครองท้องถิ่นเร่งเข้าช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำป่าไหลหลาก ออกมาจากพื้นที่ประสบภัยอย่างปลอดภัย และพร้อมทั้งแจ้งเตือนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำป่าหลาก เนื่องจากในพื้นที่ยังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการช่วยเหลือประชาชน ที่บ้านห้วยทาก ต.บ้านหวด อ.งาว เกิดน้ำป่าไหลหลากเอ่อเข้าท่วมบ้านของชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดลำปาง ร่วมกับอำเภองาว อบต.แม่ตีบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือชาวบ้านที่ขึ้นไปหลบกระแสน้ำบนหลังคาลงมาอย่างปลอดภัยแล้ว
ฝนตกหนักต่อเนื่องในจ.กาญจนบุรี ส่งผลให้เกิดดินสไลด์ปิดเส้นทางการจราจร ระดมเจ้าหน้าที่เร่งช่วยเหลือ ชาวบ้านในอำเภอทองผาภูมิ และสังขละบุรี
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี สาขาทองผาภูมิ รายงานว่า สถานการณ์ฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวันในพื้นที่ ทำให้เกิดดินสไลด์ปิดเส้นทางการจราจร และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ อำเภอสังขละบุรีและอำเภอทองผาภูมิ
โดยที่อำเภอทองผาภูมิ ฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวันในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลปิล็อค ทำให้เกิดดินสไลด์ปิดเส้นทางจราจรและต้นไม้ลัมลงมาขวางถนนบริเวณทางขึ้นศาลเจ้าเขายาว รถยนต์ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชน และอาสาสมัครในพื้นที่ได้นำรถแบคโฮเข้าเปิดเส้นทาง และระดมกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรกลตัดต้นไม้ออกจากผิวการจราจร รวมถึงประสานหมวดการทางทองผาภูมินำเครื่องจักรเข้าปรับปรุงถนน ปัจจุบันสามารถใช้เส้นทางสัญจรได้ตามปกติแล้ว
ขณะที่อำเภอสังขละบุรี เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. เกิดน้ำไหลหลากเอ่อล้นเข้าท่วมร้านค้าชุมชนบริเวณริมแม่น้ำซองกาเรีย พื้นที่หมู่ที่ 8 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี ซึ่ง ปภ.กาญจนบุรี และ ปภ.สาขาทองผาภูมิ ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ เบื้องต้นอำเภอสังขละบุรี หน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กองพล ร.9 ตชด.ที่ 134 กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อส. และอาสาสมัครในพื้นที่ได้เข้าให้ความช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของของประชาชนขึ้นที่สูงแล้ว
กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำท่วมขังตัวเมืองเชียงใหม่ และอีกหลายอำเภอ หลังเกิดฝนตกหนักสะสมหลายวัน น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำสาขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 65 ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นผลทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง และน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในหลายพื้นที่ โดยที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ พื้นที่ตลาดต้นพะยอม ต.สุเทพ เกิดน้ำหลากจากดอยสุเทพ-ปุย ไหลมาตามถนนสุเทพ (หลัง มช.)
เนื่องจากไม่มีทางระบายน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมผิวจราจรประมาณ 20-30 เซนติเมตร และได้ไหลไปลงคลองส่งน้ำสายใหญ่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง, แยกโรงแรมเชียงใหม่ภูคำ ต.สุเทพ เกิดน้ำหลากจากดอยสุเทพ-ปุย ไหลมาตามลำห้วยแก้วและห้วยช่างเคี่ยน, ถนนโชตนา ต.ช้างเผือก เกิดน้ำหลากในลำห้วยแม่หยวก และทำให้เกิดน้ำท่วมขังบนถนนโชตนา ประมาณ 30-40 เซนติเมตร, อำเภอจอมทอง บ้านลุ่มหมู่ 4 ต.บ้านหลวง น้ำแม่กลางไหลล้นตลิ่งเอ่อเข้าท่วมพื้นที่บ้านแม่ลุ่มในวงกว้าง เนื่องจากเป็นหมู่บ้านตามแนวเส้นทางน้ำผ่าน
บ้านสี่แยกน้อย ม.6 ต.ข่วงเปา เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรของราษฎร, ฝายแม่แจ่ม ต.บ้านแปะ เกิดน้ำหลากไหลผ่านฝาย ทำให้เกิดการกัดเซาะตลิ่งด้านท้ายฝายฝั่งขวาได้รับความเสียหาย, ฝายเหมืองใหม่ ต.บ้านหลวง เกิดน้ำหลากในน้ำแม่กลาง กัดเซาะตลิ่งด้านท้ายฝายฝั่งขวาได้รับความเสียหาย, บ้านหนองห่ายสามัคคี ม.13 ต.ข่วงเปา เกิดน้ำท่วมขังทางหลวงหมายเลข 108 ช่วง กม.51 สัญจรได้เส้นทางเดียว โดยเส้นทางขาเข้าเมืองเชียงใหม่ไม่สามารถใช้งานได้
อำเภอดอยหล่อ บ้านสบอาว หมู่ 4 ต.สันติสุข ปริมาณน้ำหลากในลำน้ำแม่ขานเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อาศัยของราษฎร ประมาณ 90 หลังคาเรือน และพื้นที่การเกษตรของราษฎรได้รับความเสียหาย,
อำเภอสันป่าตอง ฝายดอนปิน หมู่ 10 บ้านทุ่งสะโตก เกิดน้ำหลากในลำน้ำแม่วางปริมาณมาก ทำให้เอ่อล้นตลิ่งด้านหน้าฝาย (บริเวณสะพานข้ามน้ำแม่วาง) ทำให้สะพานได้รับความเสียหายบางส่วน ส่งผลกระทบต่อการสัญจรของราษฎร
ส่วนอำเภออมก๋อย เกิดน้ำเอ่อเข้าท่วมในพื้นที่ ต.อมก๋อย ระดับน้ำในลำน้ำแม่ต๋อม และลำน้ำแม่ตื่น มีระดับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้น้ำในลำน้ำแม่ต๋อมล้นตลิ่งไหลหลากเข้าท่วมเส้นทางคมนาคม บริเวณสะพานคู่รัก ตำบลอมก๋อย, บ้านแม่ลอง ต.หางดง เกิดปริมาณน้ำหลากในห้วยแม่ลอง, อำเภอแม่แจ่ม เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ หมู่ 18 บ้านเจียง, หมู่ 3 บ้านสันหนอง, หมู่ 15 บ้านพุทธเอ้น, หมู่ 5 บ้านนางแล ต.ช่างเคิ่ง,หมู่ 10 บ้านไร่,หมู่ 5 บ้านทับ ต.ท่าผา
อำเภอแม่วาง, ฝายปูโล้ บ้านสารภี หมู่ 5 ต.ทุ่งรวงทอง เกิดทรุดตัวเนื่องจากมีปริมาณน้ำหลากจากน้ำแม่วาง และมีเศษสวะลอยติดบริเวณด้านหน้าฝาย, สะพานเข้าหมู่ที่ 6 บ้านท่า ต.ทุ่งรวงทอง มีน้ำป่าไหลหลากในน้ำแม่วางปริมาณมาก และเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่บ้านเรือนของราษฎรตามแนวลำน้ำทั้งสองฝั่ง, อำเภอแม่อาย บ้านเมืองหนอง หมู่ 10 ต.แม่สาว เกิดน้ำหลากจากน้ำแม่สาว กัดเซาะคอสะพานคอนกรีตในเขตบ้านเมืองหนอง ปิดการสัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าว
ทั้งนี้ โครงการชลประทานในพื้นที่ได้ดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว ดังนี้
1. ได้หยุดการส่งน้ำเข้าคลองสายใหญ่แม่แตง ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. 2565 เพื่อใช้พื้นที่คลองรองรับน้ำฝั่งตะวันตก (ห้วยแก้วและห้วยช่างเคี่ยน) ได้เต็มศักยภาพ ซึ่งจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น คลองส่งน้ำสายใหญ่แม่แตง ได้รับน้ำทั้งหมดจากห้วยแก้วและห้วยช่างเคี่ยน ปริมาณรวมสูงสุด 31 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่เขตเมืองเชียงใหม่ชั้นใน
และได้ร่วมบูรณาการกับจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ โดยการวางกระสอบกั้นน้ำให้ไหลลงคลองส่งน้ำสายใหญ่โครงการฯ แม่แตง
2. ด้านท้ายคลองส่งน้ำสายใหญ่แม่แตง ได้ยกบานเพื่อระบายน้ำและรอรับมวลน้ำที่จะหลากจากฝั่งตะวันตกของตัวเมืองเชียงใหม่ โดยรับน้ำจากห้วยแก้วแล้วระบายไปลงทางทิ้งน้ำท่าเดื่อ ในอัตรา 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.2565 และยังคงระบายน้ำต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
3. ได้ประสานเจ้าหน้าที่เทศบาลช้างเผือกและเจ้าหน้าที่ประจำจุดต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์และประเมินความเสียหาย พร้อมให้ความช่วยเหลือในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังต่าง ๆ
4. สำนักงานชลประทานที่ 1 และโครงการฯ แม่แตงได้ลงสำรวจพื้นที่ประสบอุทกภัยชุมชนที่อยู่ตามแนวทางระบายน้ำหลากและในพื้นที่ลุ่มต่ำที่น้ำท่วมขัง สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้กับสู่ภาวะปกติ
5. โครงการชลประทานในพื้นที่ ได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงสำรวจพื้นที่ประสบอุทกภัยและแจ้งเตือนชุมชนที่อยู่ตามแนวทางระบายน้ำหลากให้ทราบและเฝ้าระวังน้ำเอ่อท่วม ในพื้นที่ลุ่มต่ำที่น้ำท่วมขัง
และได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้กับสู่ภาวะปกติ พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของอาคารชลประทานและพื้นที่ประสบภัย เพื่อพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ต่อไป
การบริหารจัดการน้ำดังกล่าวสอดรับกับ 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ที่ทางสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ชี้แจงให้สื่อมวลชนทราบเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 เป็นการคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมของเมืองเชียงใหม่ฝั่งตะวันตกและกำหนดเส้นทางการระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วม โดยสามารถปฏิบัติงานได้ตามแผนที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ จากแนวโน้มและการคาดการณ์ปัจจุบัน ฝนได้หยุดตกในทุกพื้นที่แล้ว และระดับน้ำท่วมขังในพื้นที่มีแนวโน้มลดลง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็วๆนี้ หากไม่มีฝนตกในพื้นที่
เชียงราย -น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมหลายพื้นที่ อ.แม่จัน-เวียงป่าเป้า เสียหายหนัก ทั้งบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร ปิดการจราจรหลายเส้นทาง
22 พฤษภาคม 2565 หลังจากฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 2 วันทำให้ระดับน้ำตามลำน้ำสายต่างๆ ใน จ.เชียงราย เพิ่มสูงขึ้น โดยพื้นที่ลุ่มแม่น้ำลาว เริ่มล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณ ถนนสาย118 เชียงใหม่-เชียงราย น้ำได้ท่วมบนถนนบริเวณบ้านทรายมูล ตำบลป่าวิ้ว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย สามารถเดินรถได้ช่องทางเดียว บางจุดท่วมเต็มพื้นที่ และถนนสายเชียงใหม่ -เชียงราย สายหลักบริเวณอำเภอเวียงป่าเป้า น้ำกำลังขึ้นท่วมถนนสูง โดยเจ้าหน้าที่แนะนำให้เลี่ยงการจราจร เพราะมีรถเสียหลายคัน เนื่องจากกระแสน้ำไหลแรง
นอกจากนี้น้ำป่าจากแม่น้ำลาว ยังหลากท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านโฮ้ง ต.แม่เจดีย์ใหม่ อ.เวียงป่าเป้า เสียหายหนักโดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรถูกโคลน และหิน ทับพืชผลการเกษตรที่ใกล้เก็บเกี่ยวได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง
นายบรรจง ขุนเพชร นายอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ได้นำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ พบมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมรวม 6 ตำบล ได้รับผลกระทบจำนวน 40 หมู่บ้าน ยังไม่มีรายงานคนเจ็บ หรือเสียชีวิต จึงมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าช่วยเหลือ กรณีมีผู้ประสบภัย พร้อมจัดระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หากมีน้ำท่วมฉับพลัน พร้อมกับประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าควบคุมดูแลการจราจร
ด้านพื้นที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย แม้ว่าจะมีการทำแนวป้องกันตลิ่งเสริมคันให้สูงขึ้นกว่า 1 เมตร แต่กระแสนน้ำที่ไหลเชี่ยวและมีปริมาณมาก ส่งผลทำให้มีน้ำบางส่วนไหลทะลักเข้าท่วมตลาดแม่จันและย่านชุมชน มีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมขังกว่า 300 หลังคาเรือน โดยระดับน้ำท่วมประมาณ 20-30 ซม. แต่บางจุดที่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมสูงกว่า 50 ซม. ชาวบ้านและพ่อค้าแม่ค้าต้องขนย้ายสินค้าและข้าวของมีค่าไว้บนที่สูงเพื่อความความปลอดภัย
ด้าน ร.ท.ประยูร สุทนะ อายุ 62 ปี พ่อค้าในตลาดแม่จัน กล่าวว่า ตลาดแม่จันถูกน้ำท่วมทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 2-3 ครั้ง เมื่อถึงฤดูฝนทางพ่อค้าแม่ค้า จึงมีการเตรียมความพร้อมขนย้ายทรัพย์สินไว้บนพื้นที่สูงและยกระดับชั้นสินค้าให้สูงกว่าระดับน้ำ ทำให้น้ำท่วมครั้งนี้ จึงไม่มีทรัพย์สินได้ระดับความเสียหาย แต่กระทบต่อการค้าขาย ที่ไม่สามารถเปิดขายสินค้าได้ชั่วคราว อย่างไรก็ตามน้ำท่วมระยะหลังไม่มีความรุนแรงมากนัก โดยมีน้ำท่วมหนักเมื่อประมาณ 2553-2554 น้ำท่วมสูงถึงระดับลำคอ จากนั้นแม้จะท่วมไม่สูง แต่เกิดบ่อยครั้ง
ขณะที่นางสาวละออง ติยะไพรัช ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย พร้อมทีมงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เข้าสำรวจผลกระทบน้ำท่วมและให้กำลังใจช่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบภัย
ด้านเทศบาล ต.แม่จัน และฝ่ายปกครอง อ.แม่จัน ได้นำเจ้าหน้าที่ทำแนวกั้น ตามริมฝั่งไปตลอดแนวเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะลักเข้าท่วมเพิ่มเติม รวมทั้งตำรวจ สภ.แม่จัน มีการปิดการสัญจรชั่วคราวจนกว่าฝนจะซาและระดับน้ำจะลดลง โดยเฉพาะที่สะพานข้ามแม่น้ำจันติดกับกาดแลงแม่จัน เจ้าหน้าที่ใช้แผงกั้นตรงคอสะพานทั้ง 2 ข้าง และต้องคอยเก็บกิ่งไม้ ใบไม้ ขยะ และวัชพืช ที่ไหลมากับน้ำและอุดทางเดินน้ำใต้สะพานทำให้น้ำทะลักเข้าสู่พื้นที่ชุมชนด้านข้าง
ที่ผ่านมาทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการจัดแผนป้องกันน้ำท่วมไว้แล้ว มีการจัดทำแนวตลิ่งให้สูงขึ้น แต่เนื่องจากพายุฝนที่ตกหนักจนลำน้ำจันไม่สามารถรองรับได้ เพราะลำน้ำแคบประกอบกับพื้นที่ตลาดและย่านชุมในชนตัวเมืองแม่จัน เป็นพื้นที่ลุ่มจึงทำให้น้ำเอ่อล้นมาท่วมและน้ำระบายได้ช้า จึงเกิดการท่วมขัง แต่คาดว่าจะท่วมขังในระยะสั้น ภายใน 1-2 วันก็จะแห้ง
ทั้งนี้ตั้งปี 2566 กรมโยธาธิการได้อนุมัติงบประมาณ 316 ล้านมาดำเนินการทำตลิ่งแม่น้ำจัน มีการวางระบบส่งและระบายน้ำจากจุดที่ถูกน้ำท่วม ให้สามารถระบายได้ดีและมีความรวดเร็วไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ความจริงโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมแม่น้ำจันควรจะแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2557 แต่มีปัญหาด้านงบประมาณที่หยุดชะงัก ทำให้เกิดความล่าช้าจนได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการในปีนี้และการดำเนินการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี