พายุโซนร้อน "เบบินคา" (BEBINCA) ได้ก่อตัวจากหย่อมความกดอาากศต่ำกำลังแรง บริเวณตอนบนของทะเลจีนใต้ ทางด้านตะวันออกของเกาะไหหลำ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2561 และได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันในวันเดียวกัน โดยยังคงปกคลุมด้านตะวันออกของเกาะไหลหลำ เนื่องจากได้ถูกหย่อมความกดอากาศต่ำจากพายุยากิเหนี่ยวนำเอาไว้ หลังจากนั้นเมื่อหย่อมความกดอากาศต่ำจากพายุยากิอ่อนกำลังลง พายุ "เบบินคา" ได้เคลื่อนตัวไปทางตอนทิศเหนือ ผ่านบริเวณนอกชายฝั่งทางด้านตะวันออกของเกาะไหหลำเข้าสู่ตอนใต้ของประเทศจีนบริเวณเมืองหยางเจียง ในวันที่ 11 สิงหาคม 2561 หลังจากนั้นพายุดังกล่าวได้เคลื่อนตัววกกลับลงทะเลอีกครั้ง พร้อมทั้งได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "เบบินคา" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ในวันที่ 13 สิงหาคม 2561 โดยมีทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออก และเคลื่อนตัววกกลับมาทางทิศตะวันตกในวันที่ 14 สิงหาคม 2561 ในขณะที่ยังอยู่ในระดับพายุโซนร้อน หลังจากนั้นได้เคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตกอย่างต่อเนื่องผ่านเกาะไหหลำในวันที่ 15 สิงหาคม 2561 และผ่านอ่าวตังเกี๋ย ในวันที่ 16 สิงหาคม 2561 และเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบน แล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันบริเวณประเทศลาวตอนบน ในวันที่ 17 สิงหาคม 2561 และเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณจังหวัดน่าน เชียงราย และเชียงใหม่ในวันเดียวกัน ก่อนได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ปกคลุมบริเวณตอนบนของประเทศเมียนมาร์ และสลายตัวไป ในวันที่ 18 สิงหาคม 2561
พายุโซนร้อน "โทราจี" (TORAJI) ก่อตัวขึ้นจากพายุดีเปรสชันบริเวณตอนกลางของทะเลจีนใต้ ทางตะวันออกของประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2561 โดยมีทิศทางเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก พร้อมกับทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "โทราจี" ในช่วงเย็นวันเดียวกัน หลังจากนั้นได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน บริเวณชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 และได้อ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในวันเดียวกัน จากนั้นหย่อมความกดอากาศที่หลงเหลือยู่ได้เคลื่อนตัวลงสู่อ่าวไทย และเริ่มจัดระบบใหม่ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันอีกครั้ง โดยพายุ "โทราจี" ได้พัดขึ้นฝั่งเป็นครั้งที่ 2 บริเวณจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 หลังจากนั้นได้อ่อนกำลังลง และสลายตัวไปบริเวณช่องแคบมะละกา ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561
ภาพแผนที่ความกดอากาศระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากพายุอีก 6 ลูก ที่ถึงแม้จะไม่ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย แต่พายุดังกล่าวได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำก่อนเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณประเทศไทยหรือพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งส่งผลทำให้ประเทศไทยมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น
โดยพายุทั้ง 6 ลูก ประกอบด้วย
1) พายุโซนร้อน "บอละเวน" (BOLAVEN) ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงต้นเดือนมกราคม
2) พายุโซนร้อน "เอวิเนียร์" (EWINIAR) ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงต้นเดือนมิถุนายน
3) พายุโซนร้อน "เซินติญ" (SON-TINH) ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม
4) พายุโซนร้อน "บารีจัต" (BARIJAT) ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงกลางเดือนกันยายน
5) พายุซุปเปอร์ไต้ฝุ่น "มังคุด" (MUNGKHUT) ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงกลางเดือนกันยายน
6) พายุไต้ฝุ่น "อูซางิ" (USAGI) ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน
พายุโซนร้อน "บอละเวน" (BOLAVEN) ก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดาอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทางด้านตะวันตกของประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 1 มกราคม 2561 และได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันในวันเดียวกัน โดยมีทิศทางเคลื่อนที่ไปทางแนวตะวันตกค่อนไปทางเหนือ ผ่านบริเวณทะเลจีนใต้ พร้อมทั้งทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "บอละเวน" ในวันที่ 3 มกราคม 2561 หลังจากนั้นได้เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่าง แล้วอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ในวันที่ 4 มกราคม 2561 และสลายตัวไปบริเวณด้านตะวันออกของประเทศเวียดนาม ในวันที่ 5 มกราคม 2561
ภาพถ่ายทางอากาศระหว่างวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2561
พายุโซนร้อน "เอวิเนียร์" (EWINIAR) ก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณตอนกลางของทะเลจีนใต้ ในวันที่ 2 มิถุนายน 2561 หลังจากนั้นได้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกและค่อยๆ โค้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เข้าปกคลุมบริเวณตอนบนของทะเลจีนใต้ในวันเดียวกัน ต่อมาได้เคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือเข้าสู่เกาะไหหลำและทวีกำลังแรงขึ้น และได้เข้าปกคลุมบริเวณมณฑลกวางตุ้งในวันที่ 6 มิถุนายน 2561 พร้อมทั้งทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "เอวิเนียร์" และได้พัดขึ้นฝั่งบริเวณประเทศจีนตอนใต้ในวันเดียวกัน หลังจากนั้นพายุโซนร้อน "เอวิเนียร์" ที่ปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ได้อ่อนกำลังลง และถูกเหนี่ยวนำให้เคลื่อนที่ออกไปทางทิศตะวันออก พร้อมเข้าปกคลุมเมืองเซินเจิ้นและเกาะฮ่องกง แล้วทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนอีกครั้ง ในวันที่ 7 มิถุนายน 2561 หลังจากนั้นได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และสลายตัวไปเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในวันที่ 9 มิถุนายน 2561
ภาพแผนที่ความกดอากาศระหว่างวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2561
พายุโซนร้อน "เซินติญ" (SON-TINH) ก่อตัวขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ทางด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2561 หลังจากนั้นได้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก ผ่านบริเวณเหนือเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ เข้าสู่ทะเลจีนใต้ และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนในวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 หลังจากนั้นเคลื่อนตัวต่อไปทางทิศตะวันตกอย่างต่อเนื่องโดยผ่านเกาะไหหลำในวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ในขณะที่ยังคงเป็นพายุโซนร้อนและได้เคลื่อนตัวลงสู่อ่าวตังเกี๋ยในวันเดียวกัน ต่อมาในวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 พายุดังกล่าวได้เคลื่อนขึ้นตัวฝั่งบริเวณเมืองวิญ ประเทศเวียดนาม และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันพร้อมกับเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณตอนบนของประเทศลาว และอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในวันเดียวกัน หลังจากนั้นหย่อมความกดอากาศต่ำได้เปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออก ผ่านตอนบนของประเทศเวียดนาม มุ่งหน้าลงสู่อ่าวตังเกี๋ย และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันอีกครั้งในวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 พร้อมทั้งได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนในวันเดียวกัน และเคลื่อนตัวเข้าสู่ทางตอนใต้ของเกาะไหหลำและเคลื่อนตัวต่อไปทางทิศเหนือของเกาะจนถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ซึ่งพายุดังกล่าวจึงได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำ ตามลำดับ ก่อนเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมบริเวณตอนใต้ของประเทศจีน
พายุโซนร้อน "บารีจัต" (BARIJAT) ก่อตัวขึ้นบริเวณจังหวัดบาตาเนส ประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 8 กันยายน 2561 โดยได้รับชื่อท้องถิ่นว่า "เนเนง" (NENENG) ซึ่งความแรงของพายุอยู่ในระดับพายุดีเปรสชัน หลังจากนั้นได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "บารีจัต" ในวันที่ 9 กันยายน 2561 มีทิศทางเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกตามแนวนอนในทะเลจีนใต้ และพัดขึ้นฝั่งที่คาบสมุทรเหลโจว บริเวณตอนใต้ของประเทศจีน ในวันที่ 13 กันยายน 2561 และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน ก่อนที่จะพัดขึ้นฝั่งอีกครั้งที่ตอนเหนือของประเทศเวียดนามในวันเดียวกัน และอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ และสลายตัวไปในที่สุด ในวันที่ 14 สิงหาคม 2561
ภาพแผนที่ความกดอากาศระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2561
พายุซุปเปอร์ไต้ฝุ่น "มังคุด" (MUNGKHUT) ก่อตัวขึ้นใกล้กับหมู่เกาะมาร์แชลล์ ในวันที่ 7 กันยายน 2561 ซึ่งความแรงของพายุอยู่ในระดับพายุดีเปรสชัน พร้อมทั้งทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนในวันเดียวกัน ต่อมาพายุโซนร้อน "มังคุด" ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่น และพัดขึ้นฝั่งที่หมู่เกาะโรตาในหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา ในวันที่ 11 กันยายน 2561 หลังจากนั้นพายุดังกล่าวได้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก มุ่งหน้าสู่ประเทศฟิลิปปินส์ และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุซูเปอร์ไต้ฝุ่นระดับ 5 ในวันที่ 12 กันยายน 2561 ต่อมาพายุดังกล่าวได้พัดขึ้นฝั่งประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 14 กันยายน 2561 โดยในขณะที่เคลื่อนผ่านไปบนแผ่นดินนั้น ได้ปรากฏให้เห็นถึงตาพายุขนาดใหญ่ ซึ่งมีทิศทางมุ่งหน้าไปทางฮ่องกง ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุไต้ฝุ่นเข้าสู่ทะเลจีนใต้ในวันที่ 15 กันยายน 2561 และเคลื่อนขึ้นฝั่งอีกครั้งบริเวณประเทศจีนตอนใต้ในวันที่ 16 กันยายน 2561 แล้วอ่อนกำลังลงอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดพายุดังกล่าวได้สบายตัวไปเหนือมณฑลกวางซี ประเทศจีน ในวันที่ 17 กันยายน 2561
พายุไต้ฝุ่น "อูซางิ" (USAGI) ก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 และได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันในวันเดียวกัน โดยมีทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกตามแนวนอนอย่างต่อเนื่อง และพัดขึ้นฝั่งบริเวณตอนล่างของประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 โดยได้อ่อนกำลังลงเล็กน้อยเนื่องจากเคลื่อนตัวผ่านหมู่เกาะ ต่อมาเมื่อเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ได้กลับมาทวีกำลังแรงขึ้นอีกครั้ง และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "อูซางิ" ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 หลังจากนั้นพายุดังกล่าวได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 1 ในเช้าวันที่ 24 กันยายน 2561 และอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ก่อนที่จะพัดขึ้นฝั่งอีกครั้งทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม บริเวณปลายแหลมญวน ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 แล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันในวันเดียวกัน โดยเคลื่อนตัวเข้ามาถึงประเทศกัมพูชา และสลายตัวไปในที่สุด