ข่าวน้ำท่วม


ตรัง น้ำหลากไหลทะลักท่วมแล้ว 3 อำเภอ ชาวบ้านขนของหนีน้ำจ้าละหวั่น บางพื้นที่ระดับน้ำสูง 2 เมตร [ 77ข่าวเด็ด : 18 ธ.ค. 2565 ]

ตรัง น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน ในพื้นที่ 3 อำเภอ โดยเฉพาะพื้นที่ติดแนวเทือกเขาบรรทัด ชาวบ้านเร่งขนของกันจ้าละหวั่น ระดับน้ำตั้งแต่ 50 ซม. ถึง 2 ม. รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้

วันที่ 18 ธันวาคม 2565 เมื่อเวลา 17.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ฝนตกหนัก ทำน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน ในพื้นที่ จ.ตรัง โดยเฉพาะพื้นที่ติดแนวเทือกเขาบรรทัด ซึ่งได้รับรายงานสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง พื้นที่ได้รับผลกระทบ อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก จังหวัดตรัง จำนวน 3 อำเภอ 3 ตำบล 9 หมู่บ้าน 448 ครัวเรือน 1,975 คน ได้แก่ พื้นที่ อ.นาโยง อ.ย่านตาขาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง

ชาวบ้านเร่งขนข้าวของหนีน้ำกันจ้าละหวั่น โดยเฉพาะพื้นที่ต.แหลมสอม และ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน ซึ่งมีมวลน้ำ ทะลักลงมาจากเทือกเขาบรรทัด ผ่านน้ำตกโตนเต๊ะและน้ำตกโตนตกทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ด้านล่างอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวบ้านเร่งขนของขึ้นที่สูงแทบไม่ทัน พบน้ำ

ท่วมสูงถึง 2 เมตร และบางพื้นที่ท่วมถึงหลังคาบ้านแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ ปภ.ตรัง และเจ้าหน้าที่ไฟฟ้าได้ลาดตระเวน ทำการตัดกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ที่น้ำท่วมสูง หวั่นเกิดกระแสไฟช็อตกับชาวบ้านได้

และในพื้นที่หน้าวัดโคกมะขาม(หาดเลา) หมู่ 9 ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน ระดับน้ำตัดผ่านถนน รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ในขณะที่รถโฟวิลหรือรถกระบะยกสูงสามารถสัญจรได้เป็นบางช่วง และในพื้นที่หมู่ 2 ตำบลแหลมสอม มีบ้านเรือนประมาณ 30 หลังคาเรือน ถูกน้ำทะลักเข้าท่วม ประชาชนต้องเร่งขนข้าวของขึ้นสู่ที่สูง ระดับน้ำประมาณ 50 ซม. ถึง 1 เมตร โดยชาวบ้านบางรายจะต้องไปอาศัยค้างคืนที่บ้านญาติ ส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ต้องเคลื่อนย้ายมาจอดไว้ที่ริมถนน และภายในวัดโคกมะขาม นางสุดารัตน์ กังแฮ ชาวบ้านหมู่ 2 ตำบลแหลมสอม บอกว่า เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ติดต่อกันตั้งแต่เมื่อวาน(17 ธ.ค.) ส่วนวันนี้น้ำเริ่มไหลเข้ามาในหมู่บ้านตั้งแต่ช่วงเวลา 15.00 น. ทำให้ชาวบ้านต้องรีบขนของและใช้ชีวิตกันอย่างยากลำบาก เนื่องจากน้ำไหลทะลักในช่วงเย็น ชาวบ้าน

ยังไม่ได้เตรียมหุงหาอาหาร ต้องรีบมาขนของกันก่อน ในขณะที่ชาวบ้านบางคนชะล่าใจทำให้ขนของไม่ทัน โดยระดับน้ำในพื้นที่หมู่ 2 มีปริมาณน้ำสูงถึง 1.2 เมตร ส่วนในพื้นที่สวนยางพาราถูกน้ำท่วมขังเต็มพื้นที่แล้ว

ด้านนางมินตรา ฉิมเรือง บอกว่า บ้านตนเป็นร้านขายของชำ ต้องขอแรงชาวบ้านมาช่วยขนของยกขึ้นสู่ที่สูง เพราะน้ำมาเร็วมาก ที่ผ่านมา 17 ปียังไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ครั้งนี้ถือว่าวิกฤตหนักสุด และน้ำไหลหลากเชี่ยวแรงมาก

นอกจากนี้พบว่าในพื้นที่ยังพบมีผู้ป่วยติดเตียง ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เร่งนำผู้ป่วยติดเตียงออกมาจากพื้นที่ดังกล่าวแล้ว และชาวบ้านที่อยู่ริมถนนสายหลัก ได้ช่วยกันอำนวยความสะดวกจราจรและแจ้งผู้ขับรถ สัญจรไปมาที่บริเวณหน้าวัดโคกมะขาม ซึ่งขณะนี้น้ำยังคงเพิ่มปริมาณสูงขึ้นเป็นระยะ ๆ เนื่องจากยังคงมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง








ฝนถล่มพัทลุง! น้ำท่วมหลายอำเภอ [ กรุงเทพธุรกิจ : 18 ธ.ค. 2565 14.39 น.]

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพัทลุงว่า 18 ธันวาคม 2565 ฝนยังคงตกหนักครอบคลุมทุกอำเภอของจังหวัดพัทลุง โดยเฉพาะพื้นที่ริมเขตรักษาพันสัตว์ป่าเขาบรรทัดพัทลุง ท้องที่ อ.ป่าบอน อ.กงหรา อ.ตะโหมด อ.ศรีนครินทร์ โดยมวลน้ำป่าที่ไหลหลากลงมาตามน้ำตกต่างๆของเขตรักษาพันธ์ยังแรงและเพิ่มปริมาณมากขึ้นต่อเนื่อง

โดยเฉพาะน้ำตกไพรวัลย์ น้ำตกมโนราห์ น้ำตกหนานสูง พื้นที่อำเภอกงหรา น้ำตกโตนแพรทอง อำเภอศรีนครินทร์ และล่าสุดบริเวณน้ำตกไพรวัลย์ ตำบลคลองเฉลิม อำเภอกงหรา น้ำป่าได้ไหลหลากลงสู่น้ำตกเป็นจำนวนมากและมีสีแดงขุ่น ไหลหลากท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ ต.คลองเฉลิม อ.กงหรา ในหลายหมู่บ้าน พร้อมทั้งมวลน้ำดังกล่าวได้ไหลหากท่วมพื้นที่ ของ ต.ชะรัด อ.กงหรา เช่นกัน ซึ่งมวลน้ำที่ไหลหลากดังกล่าวได้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือน

ประชาชน บางครอบครัวขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงไม่ทัน ต้องจมอยู่ใต้น้ำ ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 434 พัทลุง เร่งลงพื้นที่ บ้านน้ำใต้แดง ม.12 ต.คลองเฉลิม อ.กงหรา เพื่อช่วยขนย้ายสิ่งของให้กับชาวบ้านผู้ประสบภัย แต่ก็ทำได้ไม่มากเนื่องจากปริมาณน้ำท่วมได้ขยายเป็นวงกว้าง

ส่วนพื้นที่ อ.ตะโหมด มวลน้ำจากน้ำตกหม่อมจุ้ยก็ยังคงไหลหลากลงมาท่วมบ้านเรือนประชาชนในเขตเทศบาลตำบลตะโหมด โดยมวลน้ำได้ท่วมโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งชาวบ้านกำลังอลลม่านกะบการขนย้ายสิ่งของไว้ในที่ปลอดภัย เนื่องจากน้ำมาเร็วและแรง

ขณะที่ทางจังหวัดพัทลุง ได้ออกประกาศเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวัง

อันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง และจนถึงขณะนี้ทั่วพื้นที่ของจังหวัดพัทลุงยังมีสภาพฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ท้องฟ้ามืดครึ้มตลอดทั้งวัน และล่าสุดที่อำเภอศรีนครินทร์ ตำบลบ้านนา บริเวณบ้านต้นไทร น้ำท่วมผิวถนนสายเพชรเกษมช่วงจังหวัดพัทลุง-ตรัง ครึ่งเลนฝั่งเข้าตัวจังหวัดพัทลุง โดยมีเจ้าหน้าที่แขวงการทางพัทลุง เปิดไฟเตือนคอยให้บริการเป็นระยะ โดยคาดว่ามวลน้ำจาก อ.กงหรา อ.ตะโหมด ที่กำลังหลากท่วม จะไหลหลากลงมาสมทบในพื้นที่ลุ่มด้านล่าง ท้องที่ อ.เขาชัยสน และ อ.ป่าบอน โดยคาดว่าอีกไม่เกิน3 ชั่วโมง มวลน้ำดังกล่าวจะไหลหลากท่วมถนนเพชรเกษม ช่วงบ้านโคกยา ท้องที่ อ.เขาชัยสน และบ้านพรุพ้อ อ.ป่าบอน จ.พัทลุง ของให้ผู้ใช้รถใช้ถนนขับรถด้วยความระมัดระวัง





ฝนถล่มสงขลา!‘น้ำท่วม’ถนนกาญจนวนิช ปิดเส้นทาง-รถเล็กผ่านไม่ได้ [ แนวหน้า : 18 ธ.ค. 2565 18.50 น.]

ฝนถล่มสงขลา!‘น้ำท่วม’ถนนกาญจนวนิช ปิดเส้นทาง-รถเล็กผ่านไม่ได้ 18 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.สงขลา ว่า หลังจากที่ฝนตกสะสมต่อเนื่องมา 2 วัน จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่หยุดตก ทำให้เกิดน้ำท่วมเส้นทางในหลายอำเภอของ จ.สงขลา เช่น ถนนกาญจนวนิช ซึ่งเป็นเส้นทางระหว่าง อ.เมือง กับ อ.หาดใหญ่ สายเก่า

น้ำได้ท่วมทางหลายจุด เช่น บริเวณห้าแยกเกาะยอ บริเวณบ้านควนหิน และบริเวณบ้านบางดาน รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ จนต้องปิดเส้นทางในบริเวณดังกล่าว และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่เดินทางระหว่าง อ.เมือง กับ อ.หาดใหญ่ ให้เลี่ยงไปใช้ถนนลพบุรีราเมศวร์ สายใหม่แทน และทางเทศบาลตำบลพะวงกำลังเร่งสูบน้ำออก

ให้เร็วที่สุดแต่ก็ยังเจออุปสรรคที่มีฝนตกต่อเนื่องมาตลอด ส่วนในอำเภออื่นก็เช่นกัน เช่น อ.รัตภูมิ น้ำในท่วมเส้นทางถนนยนตรการกำธร ตั้งแต่ตัว อ.รัตภูมิมายังสี่แยกคูหา รถเล็กผ่านยาก ประชาชนที่เดินทางมาจากสตูลให้เลี่ยงไปใช้เส้นทางถนนเพชรเกษมสายเก่าแทน




พิษฝนถล่มเทศบาลเมืองปัตตานี น้ำท่วมขังสูงฉับพลัน [ สยามรัฐออนไลน์ : 18 ธ.ค. 2565 16.27 น.]

ผู้สื่อข่าวรายงาน วันที่18 ธ.ค. 2565 สืบเนื่องเมืองคืนที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีเกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก และมีลมกรรโชกแรง จนถึงบ่ายวันนี้ยังคงมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีบริเวณน้ำฝนเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายพื้นที่จังหวัดปัตตานีมีน้ำท่วมขังสูงฉับพลัน เช่นเดียวกับในเขตเทศบาลเมืองจังหวัดปัตตานี จากการที่ผุ้สื่อข่าวในตระเวน พบว่าเส้นทางต่างๆ โดยเฉพาะในยานเศษฐกิจ เกิดน้ำท่วมขังบนถนน น้ำระบายไม่ทัน ทำให้ถนนจมอยู่ใต้น้ำ สูง20—30 ซม. ซึ่งจุดน้ำท่วมขังเขตเทศบาลเมืองประกอบด้วย ถนนหนองจิก (ตั้งแต่หน้าโรงพยาบาลปัตตานี จนถึงวงเวียนหอนาฬิกา), ถนนมะกรูดตลาดเส้นทาง(ตลาดสด), ถนนพิพิธ(ตลาดโต้รุ่ง), ถนนฤาดี ,ถนนเจริญประดิษฐ์(สายมอ.ปัตตานี), ถนนยะรัง(หน้าไดอาน่าปัตตานีและมัสยิดกลาง) และถนนกะละพอ

ทำให้การสันจรของประชาชนเป็นไปอย่างยากลำบาก นอกจากนี้บ้านเรือนริมถนนในยานเศษฐกิจ บางจุดน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน สิ่งของได้รับความเสียหาย ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ขณะที่บางหลังได้เตรียมกระสอบทรายมาวางกั้นน้ำบริเวณหน้าบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าสู่ภายในบ้านขณะที่รถกำลังสันจร พร้อมได้นำทรัพย์สินของมีค่าตั้งไว้ที่สูง

นายนิอันวา สุไลมาน นายกเทศมนตรี ได้สั่งการไปยังเจ้าหน้าที่เทศบาลให้มีการเปิดเครื่องสูบน้ำแต่ละจุดที่ได้วางไว้ก่อนแล้ว เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำปัตตานีอย่างเร่งด่วน ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่สามารถควบคุมได้ บางจุดยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ เนื่องจากยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง

ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานี พบว่ามีระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปริมานน้ำฝนมาก และน้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำจากตอนบนได้ไหลลงสู่แม่น้ำปัตตานี ส่งผลให้น้ำได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนที่อาศัยติดกับริมแม่น้ำ ซึ่งได้เข้าท่วมในระลอกที่4 ในเขต พื้นที่ราบลุ่ม อ.เมือง ประกอบด้วย ต.บาราเฮาะ ต.ปะการัง อำเภอหนองจิก อำเภอยะรัง ซึ่งจังหวัดได้แจ้งประกาศเตือนให้ประชาชนให้ประชาชนย้ายสิ่งของไว้ที่สูง เพื่อป้องกันความเสียหาย ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ถนนมะกรูด เทศบาลเมือง เผยว่า ขณะนี้เดือดร้อนแล้ว ในหมู่บ้านมีน้ำท่วมสูงเข้าบ้านเรือน คนที่มีบ้านสูงก็โชคดีหน่อย ส่วนคนที่อยู่ต่ำก็เดือดร้อน จะออกไปซื้อของก็ลำบาก ซึ่งตนก็ได้ย้ายข้าวของไว้ที่สูงแล้ว เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ตนเชื่อว่าน้ำจะขึ้นอีกอย่างแน่นอน รู้สึกต้องใจมาก เมื่อเช้าน้ำยังไม่มี ไม่นานก็ขึ้นสูงอย่างรวดเร็วแบบไม่ทันตั้งตัว




นราธิวาส ยังอ่วม น้ำท่วมหนัก ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้วทั้ง 13 อำเภอ [ ไทยรัฐออนไลน์ : 18 ธ.ค. 2565 20.26 น.]

นราธิวาส น้ำยังคงทะลักท่วมพื้นที่ราบลุ่มต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดแม่ค้าพ่อค้ายังค้าขายปกติ ล่าสุดจังหวัดประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้วทั้ง 13 อำเภอ เจ้าหน้าที่อพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงไปยังพื้นที่ปลอดภัยแล้ว

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ขณะนี้ระดับน้ำยังคงเข้าท่วมในพื้นที่ราบลุ่มอย่างต่อเนื่อง โดยในพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ราบติดแนวเชิงเขาระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว บางจุดเอ่อล้นตลิ่งปิดเส้นทางการจราจร โดยเฉพาะบริเวณทางเข้าน้ำตกซีโป

ขณะที่บรรยากาศการค้าขายที่ตลาดฮูลูปาแระ ถึงแม้จะมีฝนตกต่อเนื่องแต่พ่อค้าแม่ค้ายังคงออกมาขายของตามปกติ ซึ่งยังมีประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อของเพื่อใช้ในครัวเรือนในช่วงที่เกิดสถานการณ์อุทกภัย และบางส่วนออกมาดูสถานการณ์น้ำและออกมาซื้อของเพื่อรับประทาน ทำให้บรรยากาศคึกคักขึ้น

ส่วนอำเภออื่นๆ ของจังหวัดนราธิวาส ทั้ง อ.รือเสาะ อ.เจาะไอร้อง และ อ.เมือง เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ต่างนำกำลังออกช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่างๆ นำสิ่งของอาหารแห้งและช่วยขนย้ายในเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางจังหวัดประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินอุทกภัย 13 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 13 อำเภอ 70 ตำบล 454 หมู่บ้าน 2 เทศบาล 22 ชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบ 29,113 ครัวเรือน 119,638 คน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 2 ราย ประกอบด้วย อ.สุคิริน มีพื้นที่ประสบภัย 4 ตำบล 42 หมู่บ้าน 830 ครัวเรือน 2,010 คน, อ.ศรีสาคร 6 ตำบล 35 หมู่บ้าน 1,135 ครัวเรือน 4,540 คน, อ.รือเสาะ 9 ตำบล 67 หมู่บ้าน 1,791 ครัวเรือน 6,598 คน, อ.ระแงะ 7 ตำบล 37 หมู่บ้าน 3,291 ครัวเรือน 16,420 คน ,อ.จะแนะ 4 ตำบล 32 หมู่บ้าน 4,149 ครัวเรือน 19,699 คน ,อ.เมือง 5 ตำบล 23 หมู่บ้าน 828 ครัวเรือน 3,312 คน, อ.เจาะไอร้อง 3 ตำบล 33 หมู่บ้าน 1,165 ครัวเรือน 3,741 คน, อ.สุไหงปาดี 5 ตำบล 48 หมู่บ้าน 6,198 ครัวเรือน 23,296 คน, อ.บาเจาะ 6 ตำบล 29 หมู่บ้าน 330 ครัวเรือน 998 คน, อ.ยี่งอ 6 ตำบล 40 หมู่บ้าน 4,084 ครัวเรือน 16,336 คน, อ.แว้ง 6 ตำบล 43 หมู่บ้าน 3,235 ครัวเรือน 13,538 คน, อ.สุไหงโก-ลก 2 ตำบล 14 ชุมชน 1,435 ครัวเรือน 6,397 คน, อ.ตากใบ 7 ตำบล 15 หมู่บ้าน 642 ครัวเรือน 2,753 คน

ซึ่งอพยพ 39 ครัวเรือน 120 คน ไปยังมัสยิดคอยรียะห์ ม.3 ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ ความเสียหาย 1. สะพาน/คอสะพานขาด 10 สาย 2. บ้านเสียหาย(ทั้งหลัง) 1 หลัง โรงเรียนได้รับผลกระทบ 57 แห่ง ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำสายหลัก ลุ่มน้ำสายบุรี ที่จุดวัดน้ำท่าเรือ ระดับสูงกว่าตลิ่ง 0.86 ม. แนวโน้มเพิ่มขึ้น ที่จุดวัดน้ำซากอ ระดับต่ำกว่าตลิ่ง 1.36 ม. แนวโน้มลดลง ลุ่มน้ำบางนรา ที่จุดวัดน้ำตันหยงมัส ระดับสูงกว่าตลิ่ง 1.62 ม. แนวโน้มเพิ่มขึ้น ลุ่มน้ำโก-ลก ที่จุดวัดน้ำสะพานลันตู ระดับต่ำกว่าตลิ่ง 0.37 ม. แนวโน้มเพิ่มขึ้น ที่จุดวัดน้ำบูเก๊ะตาระดับสูงกว่าตลิ่ง 0.53 ม. แนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้าน นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และรองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์น้ำในทุกอำเภอพร้อมกำชับให้ นายอำเภอ และนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัย และเฝ้าระวังป้องกันความเสี่ยงจากอุทกภัยเพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และจากอุทกภัยในระลอกนี้ ทั้งนี้เบื้องต้นจังหวัดนราธิวาสร่วมกับอำเภอ หน่วยทหาร ตำรวจ อปท.และจิตอาสาในพื้นที่ได้ช่วยขนย้ายสิ่งของ และอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงไปยังพื้นที่ปลอดภัยแล้ว





เขื่อนบางลาง จ.ยะลา หยุดระบายน้ำ 2 วัน เตรียมพร่องน้ำรับฝนกระหน่ำ [ ประชาชาติธุรกิจ : 19 ธ.ค. 2565 06.23 น.]

ยะลา เขื่อนบางลาง หยุดระบายน้ำ 2 วัน เตรียมพร่องน้ำรับมือฝนตกหนัก ด้านเทศบาลนครยะลาเร่งระบายน้ำป้องพื้นที่เขตเทศบาล
วันที่ 18 ธันวาคม 2565 นายเกริกเกียรติ กุมารสิงห์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 4 ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะทำงานการบริการจัดการน้ำเขื่อนบางลาง เปิดเผยว่า จากการที่มีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง รวมทั้งจังหวัดยะลาด้วยนั้น

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ประสานข้อมูลกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เขื่อนบางลาง รวมทั้งชลประทาน เพื่อประเมินสถานการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และศักยภาพการรองรับน้ำของเขื่อนบางลางวันนี้ว่า หากมีฝนตกหนักเพิ่มมากขึ้น จะมีปริมาณน้ำฝนรวมกับน้ำที่ระบายจากเขื่อนบางลาง อาจทำให้ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนมีระดับสูงขึ้น จนอาจล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนได้ ประกอบกับศักยภาพเขื่อนในขณะนี้ ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก

ดังนั้นจึงได้หารือและมีความเห็นร่วมกันว่า ให้เขื่อนบางลางหยุดการระบายน้ำเป็นเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม 2565 โดยเริ่มหยุดการระบายตั้งแต่เที่ยงคืนของ

วันที่ 18 ธันวาคม 2565 เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนท้ายน้ำ ทั้งจังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี

อย่างไรก็ตาม การหยุดการระบายน้ำชั่วคราวของเขื่อนบางลางครั้งนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และหากสถานการณ์เปลี่ยนไป หรือจะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จะได้แจ้งให้ประชาชนรับทราบต่อไป

ขณะเดียวกันรายงานข่าวจากจังหวัดยะลา แจ้งว่า จากปริมาณฝนที่ตกหนักรอบ 24 ชม.ในพื้นที่อำเภอเมืองของจังหวัดยะลา วัดปริมาณน้ำฝนได้ 86.3 มิลลิเมตร ทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลองภายในหมู่บ้านเพิ่มสูงและล้นทะลักเข้าท่วมในเขตพื้นที่โรงเรียนบ้านต้นหยี และพื้นที่ทางการเกษตรบริเวณรอบ ๆ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ม.7 บ้านต้นหยี ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา โดยหากปริมาณน้ำยังคงสูงทางโรงเรียนจะประกาศปิดเรียนจนกว่าปริมาณน้ำจะลดเข้าสู้ภาวะปกติ

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ลงพื้นที่สำรวจและควบคุมการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เรือผลักดันน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ตลาดมะพร้าว ชุมชนหลังวัดยะลาธรรมาราม หลังโรงเรียนจีน และชุมชนเมืองทอง เพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครยะลา

ขณะนี้น้ำจากตำบลบุดี และสะเตงนอกไหลสู่บึงแบเมาะอย่างต่อเนื่อง หากชาวยะลา ประสบปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครยะลา สามารถแจ้งได้ที่ งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลนครยะลา โทร.0-7321-2345 ตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.จาริพัฒน์ ทองแดง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 ฐานปฏิบัติการที่วัดธารโต ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 2 อำเภอที่รับผิดชอบประกอบด้วย อ.เบตง และ อ.ธารโต จ.ยะลา โดยมอบน้ำดื่ม ข้าวสาร อาหารแห้ง และขนม แก่ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมจัดกำลังชุดช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมดินสไลด์

อย่างไรก็ตาม ทางอุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้ประกาศเตือนว่าจะมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2565






น้ำท่วมยะลา กระทบ 8 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อน 23,605 คน เสียชีวิต 1 ราย [ ประชาชาติธุรกิจ : 20 ธ.ค. 2565 11.18 น.]

ยะลา น้ำท่วมกระทบ 8 อำเภอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 23,605 คน ขณะที่ฝนเริ่มลดลง ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำสายบุรียังสูงกว่าตลิ่ง
วันที่ 20 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดยะลา ตอนนี้ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานี ที่อำเภอเมืองยะลา ยังสูงกว่าตลิ่ง อยู่ที่ 1.25 เมตร และแม่น้ำสายบุรี ที่อำเภอรามัน ยังสูงกว่าตลิ่ง อยู่ที่ 2.47 เมตร ไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนของพี่น้องประชาชนเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ยังคงมีน้ำท่วมอยู่ ระดับน้ำยังทรงตัว รอการไหลระบาย ขณะเดียวกัน ฝนในพื้นที่เริ่มลดลง

ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยและดินถล่ม จ.ยะลา ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ภายหลังที่ได้มีฝนตกหนักเมื่อวันที่ 18-19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดมีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งจังหวัดจำนวน 8 อำเภอ ได้แก่

อ.ธารโต อ.บันนังสตา อ.ยะหา อ.รามัน อ.เมืองยะลา อ.กรงปินัง อ.กาบัง และ อ.เบตง มี 56 ตำบล 239 หมู่บ้าน 14 ชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 5,525 ครัวเรือน ราษฎร 23,605 คน มีผู้สูญหาย 1 ราย และผู้เสียชีวิตมี 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 1 คน ตอนนี้มีการอพยพทั้งสิ้น 30 ครัวเรือน 105 คน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 20 หลัง ด้านทรัพย์สิน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 20 หลัง พื้นที่ทางการเกษตร 5,591 ไร่ และปศุสัตว์ 207 ตัว สิ่งสาธารณประโยชน์ ถนน 17 สาย สะพาน 2 แห่ง คอสะพาน 2 แห่ง เสาไฟฟ้า 21 ต้น และสุเหร่า 1 แห่ง ด้านการให้ความช่วยเหลือ ทางศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา ได้นำเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว จำนวน 2 เครื่องมาติดตั้งที่ ม.3, ม.9 ต.สะเตงนอก เพื่อระบายน้ำ และสำนักงาน ปภ.จ.ยะลา ก็ได้นำเครื่องสูบน้ำขนาดท่อส่ง 14 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง และ

เรือท้องแบน 2 ลำ มาสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนที่ ม.6 สะเตงนอก เช่นเดียวกัน และมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นการเบื้องต้นทั้งจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว สนับสนุนทรัพยากรในพื้นที่ประสบอุทกภัย มอบถุงยังชีพช่วยเหลือ ด้านการดำรงชีพ และให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร ซึ่งทางสำนักงานปศุสัตว์ยะลา ได้จัดเตรียมอาหารสัตว์ไว้จำนวน 70,000 กิโลกรัม

ส่วนประชาชนที่ได้รับผลกระทบแต่ไม่ได้ย้ายที่อยู่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ให้ความช่วยเหลือดูแลเป็นการเบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แนวโน้มในพื้นที่ยังมีฝนตกเล็กน้อย ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักและสายรอง เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มลดระดับลง ทั้งนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังอยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป