วันที่ 9 ต.ค.2566 ภายหลังจากมีฝนตกหนักในช่วงคืนที่ผ่นมา ได้ทำให้น้ำจากเทือกเขาไหลลงสู่แม่น้ำจันและทำใหระดับเอ่อล้นเข้าท่วมริมฝั่งพื้นที่หมู่ 1 หมู่ 2 หมู่ 5 หมู่ 6 และหมู่ 7 ต.ป่าตึง และหมู่ 1 หมู่ 2 และหมู่ 3 ต.แม่จัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย โดยน้ำได้ไหลเข้าท่วมตั้งแต่ริมถนนสายแม่จัน-แม่อาย บริเวณแยกแม่อายที่เป็นที่ลุ่มและริมตลาดสดแม่จัน ภายในเขตเทศบาลตำบลแม่จัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย ทำให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ป่าตึง และเทศบาลตำบลแม่จัน ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปขุดตักและขนวัชพืชโดยเฉพาะประเภทกิ่งไม้ใบไม้ที่ติดอยู่
บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำจันด้านหลังตลาดสดออก เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลผ่านไปโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ยังเร่งระบายก็ได้ทำให้น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนริมฝั่งและถนนลึกประมาณ 25 ซ.ม. ภายหลังเกิดเหตุนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดเชียงราย ได้เข้าช่วยเหลือชาวบ้าน โดยเฉพาะขนย้ายข้าวของไปไว้บนพื้นที่สูง และสำรวจความเสียหายทั้งหมด ขณะนี้น้ำได้ลดระดับลงอย่างต่อเนื่องและหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติมคาดว่าจะกลับเข้าสู่
ภาวะปกติในวันเดียวกันต่อไป ด้านนายทัต วังเมือง ปลัด อบต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย กล่าวว่า น้ำเข้าเอ่อล้นเข้าท่วมในช่วงเวลากลางคืนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยแต่ก็เข้าท่วมและลดลงอย่างรวดเร็วทำให้ทรัพย์สินชาวบ้านไม่ได้รับความเสียหาย ส่วนเส้นทางในบางหมู่บ้านมีดินโคลนก็ใช้รถแทรคเตอร์เข้าขุดตักออก นอกจากนี้ยังมีสะพานเหล็กกว้าง 2 เมตรของ อบต.ป่าตึง ซึ่งใช้ข้ามแม่น้ำจันพื้นที่หมู่บ้านห้วยยาโนถูกน้ำได้พักขาด ซึ่งจะได้รอให้น้ำแห้งและเข้าซ่อมแซมต่อไป
น้ำเอ่อล้นท่วมผิวจราจรบริเวณทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) รถผ่านได้แต่ต้องใช้ความระวังระวัง ขณะที่แม่น้ำวังทอง อ.วังทอง จังหวัดพิษณุโลก น้ำเอ่อล้นตลิ่ง เช่นเดียวกับแม่น้ำยมสายหลักอำเภอบางระกำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 10-15 เซนติเมตร สถานการณ์อยู่ในวิกฤต
วันที่ 9 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แขวงทางหลวงพิษณุโลกที่ 2 (วังทอง) แจ้งสถานการณ์น้ำเอ่อล้นท่วมผิวจราจรบริเวณทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) ตั้งแต่วานนี้ (8 ตุลาคม 2566) ในบริเวณจุดที่ 1 ทล.12 ตอนวังทอง-เข็กน้อย กม.260+300-กม.260+500 ด้านขวาทาง บริเวณปั๊มน้ำมัน PT วังนกแอ่น มีน้ำเอ่อล้นท่วมไหล่ทางระดับน้ำสูงสุดอยู่ที่ 15 ซม.
จุดที่ 2 ทล.12 ตอนวังทอง-เข็กน้อย กม.252+100-กม.253+800 ด้านซ้ายทางและขวาทาง มีน้ำเอ่อล้นท่วมผิวจราจรระดับน้ำสูงสุดอยู่ที่ 26. ซม. การจราจรผ่านได้น้อยที่สุด 1 ช่องทางจราจร ปัจจุบันระดับน้ำลดลงอยู่ที่ 15 ซม. (เวลาวัด 6.45 น.) การจราจรผ่านได้ปกติ ในการนี้เจ้าหน้าที่หมวดทางหลวงแก่งโสภา ได้ดำเนินการติดตั้งป้ายเตือนน้ำท่วมทาง กรวยยาง และสัญญาณไฟกะพริบแล้ว
ด้านนายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก รายงานภาพรวมสถานการณ์แม่น้ำน่าน-แม่น้ำยม และการบริหารจัดการน้ำ จ.พิษณุโลก ประจำวัน
ที่ 9 ตุลาคม 2566 ว่า จังหวัดพิษณุโลกมีแม่น้ำที่สำคัญไหลผ่าน 2 สาย คือแม่น้ำน่านและแม่น้ำยม โดยแม่น้ำน้ำน่านมี 4 ลำน้ำสาขา ได้แก่ แม่น้ำภาค แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำวังทอง และแม่น้ำชมพู
แม่น้ำน่าน
สถานการณ์ภาพรวมแม่น้ำน่านและแม่น้ำสาขาอยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวัง โดยแม่น้ำวังทองและแม่น้ำชมพู มีระดับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและเข้าสู่ภาวะวิกฤต น้ำเอ่อล้นตลิ่ง จากปริมาณฝนที่ตกหนักในพื้นที่ตอนบน โดยแม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำภาคทั้ง 2 สาย จะไหลลงเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปัจจุบัน ปริมาณน้ำเก็บกัก อยู่ที่ 785 ล้าน ลบ.ม. (84%)
ส่วนแม่น้ำวังทอง อ.วังทอง ระดับน้ำ 11.16 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 0.34 เมตร (สถานการณ์วิกฤต น้ำเอ่อล้นตลิ่ง) ได้ดำเนินการเร่งการระบายน้ำทุกอาคารชลประทาน ในแม่น้ำวังทอง, คลองแม่เทียบ, คลองโคกช้าง เพื่อเร่งการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่าน และแม่น้ำชมพู อ.เนินมะปราง ระดับน้ำ 7.28 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 2.38 เมตร (สถานการณ์เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่ง)
แม่น้ำยม
สำหรับแม่น้ำยม สถานการณ์ฝนตกชฺกที่ จ.แพร่ และพื้นที่ตอนบน ของ จ.สุโขทัย ส่งผลทำให้แม่น้ำยมที่ สถานีวัดน้ำ Y.14A อ.ศรีสัชนาลัย สูงสุดอีก โดยปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 1,268 ลบ.ม./วินาที
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำแม่น้ำยม ตอนบน จ.แพร่ และ จ.สุโขทัย แนวโน้มลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ในเขตจังหวัดสุโขทัยมีผลกระทบจากอุทกภัย น้ำกัดเซาะคันขาดน้ำเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนและเกษตร ส่วนปริมาณน้ำแม่น้ำยม ตอนล่างในเขต จ.พิษณุโลก แบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ แม่น้ำยมสายหลักและแม่น้ำยมสายเก่า
แม่น้ำสายหลัก ในเขต อำเภอบางระกำ ตอนนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยวันละ 10-15 ซม. อยู่ใน สถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่ง
แม่น้ำยมสายเก่า ในเขต อ.พรหมพิราม อ.เมือง และ อ.บางระกำ แนวโน้มสถานการณ์น้ำลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสถานการณ์เฝ้าระวัง พร้อมทั้งเร่งเสริมคันป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่งในจุดเสี่ยง
จังหวัดพิษณุโลกร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 3 โครงการชลประทานพิษณุโลก ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลกและท้องถิ่น ตลอดจนผู้นำในพื้นที่เร่งดำเนินการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในแม่น้ำยมสายหลัก และแม่น้ำยมสายเก่า ทั้งผันน้ำเข้าสู่ทุ่งรับน้ำ ควบคุมระดับน้ำ ประสานความร่วมมือ รวมถึงประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ แจ้งเตือนประชาชน จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
9 ต.ค.2566 - เวลา 14.00 น. นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าฯอุตรดิตถ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน มูลนิธิกู้ภัย ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ตำบลกกต้อง อำเภอฟากท่า โดยที่ฝนได้ตกหนักอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 น. ส่งผลทำให้ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่อำเภอฟากท่าหนักที่สุดในรอบ 30 ปี
"มวลน้ำจากลำน้ำปาดที่ไหลมาจากอำเภอบ้านโคก เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน พื้นที่การเกษตรและถนนรถเล็กสัญจรได้ที่หมู่ที่ 3 บ้านกกต้อง จำนวน 20 หลังคาเรือน ทางด้านอำเภอฟากท่า และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ทหาร ตำรวจตระเวน
ชายแดน มูลนิธิอาสาสมัครกู้ภัยอุตรดิตถ์ ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและได้ทำการอพยพประชาชนที่ได้รับผลกระทบไปยังจุดปลอดภัย พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นบนที่สูงและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือประชาชน อพยพนักเรียน ตัดกระแสไฟฟ้า นำเรือท้องแบนเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ติดค้างที่ไม่สามารถออกมาได้ เนื่องจากระดับน้ำสูงขึ้นและจังหวัดได้ตั้งศูนย์บัญชาการ ศูนย์พักพิงชั่วคราว สถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วม แต่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง"
รายงานข่าวแจ้งว่า เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอของจังหวัดจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีรายงานว่าน้ำจากแม่น้ำปาด เพิ่มสูงขึ้นวัดได้ 4.40 เมตร มีบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวน 2 หมู่บ้าน คือ บ้านห้วยแม่กา และ บ้านวัง
สัมพันธ์ น้ำท่วมถนนสายหลักจำนวน 2 จุด โดยทางอำเภอบ้านโคกและองค์การบริหารส่วนตำบลม่วงเจ็ดต้นได้ทำการอพยพประชาชนที่ได้รับผลกระทบไปยังจุดปลอดภัย พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจและเร่งให้การช่วยเหลือประชาชน ในส่วนของอำเภอฟากท่ามีพื้นที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ตำบลฟากท่า เขตเทศบาลตำบลฟากท่า และ ตำบลสองคอน โดยอำเภอฟากท่าและองค์การบริหารส่วนตำบลฟากท่าเข้าสำรวจพื้นที่และได้ทำการอพยพประชาชนที่ได้รับผลกระทบไปยังจุดปลอดภัย พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นบนที่สูง และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจเร่งให้การช่วยเหลือประชาชน จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ จำนวน 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ลับแล อ.ท่าปลา อ.น้ำปาด อ.ฟากท่า และ อ.บ้านโคก
น้ำท่วมที่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ระดับน้ำยังทรงตัว ทำให้การสัญจรลำบาก ขณะที่ จ.เลย ยังอ่วม น้ำป่าหลากท่วมบ้านกว่า 200 หลัง คาดสถานการณ์จะคลี่คลายโดยเร็วหากฝนไม่ตกซ้ำลงมาอีก
วันนี้ (10 ต.ค.2566) ความคืบหน้าน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของ จ.เพชรบูรณ์ หลังฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ประกอบกับเกิดน้ำป่าที่ไหลเข้าท่วมหลายหมู่บ้านในพื้นที่ อ.หล่มเก่า และจาก อ.ด่านซ้าย จ.เลย ไหลบ่ามาสมทบกับน้ำในแม่น้ำป่าสักทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจและจุดที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก ล่าสุดน้ำท่วมในเขตเทศบาลหล่มสัก 5 ชุมชน 700 หลังคาเรือน
เวลา 05.21 น. เมืองหล่มสัก ระดับน้ำยังทรงตัว และท่วมในเขตเมือง
จุดที่กระทบหนักใกล้กันชุมชนตาลเดี่ยว 11 หมู่บ้าน หนักสุดชุมชนศรีสะอาด ที่เชื่อมต่อกับเทศบาลเมืองหล่มสัก ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกว่า 800 หลังคาเรือน
โดยเฉพาะบ้านเรือนประชาชนกว่า 431 ครัวเรือน ที่อาศัยอยู่ที่หมู่ 11 ชุมชนศรีสะอาด กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากถูกน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี ปีละหลายครั้งเพราะบ้านเรือนอยู่ติดกับแม่น้ำป่าสัก ทำให้รถยนต์ที่สัญจรวิ่งผ่านไปมาด้วยความยากลำบาก โดยชาวบ้านบอกว่าน้ำท่วมในปีนี้หนักสุดในรอบ 10 ปี
เช่นเดียวกับถนนหล่มสักบ้านติ้วน้ำท่วมสูงไหลแรง รถเล็กไม่สามาถผ่านได้หลายคนต้องฝ่าน้ำมาซื้อของ
ตำบลเมือง จ.เลย น้ำป่าไหลหลากท่วมกว่า 200 หลัง
ขณะที่ จ.เลย ฝนตกต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่ อ.เมืองเลย มีพื้นที่ 7 ตำบล ได้รับผลกระทบ จุดที่หนักที่สุดอยู่ที่ ต.เมือง น้ำป่าไหลหลากท่วมบ้านเรือนเกือบ 200 หลัง
นายผยุง เหล็กดี นายอำเภอเมืองเลย กล่าวว่า จุดนี้มีประชาชนอาศัยอยู่กว่า 500 หลังคาเรือน ขณะนี้ถูกน้ำท่วมไปแล้ว 190 หลัง เบื้องต้นได้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านยกของขึ้นที่สูง อพยพผู้ป่วยติดเตียง แม้ว่าแนวโน้มระดับน้ำจะเริ่มทรงตัว คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาซ้ำสถานการณ์จะคลี่คลาย
อุบลฯ เร่งเสริมแนวกั้นกระสอบทราย ป้องกันน้ำท่วมชุมชน
ส่วนทหารมณฑลทหารบกที่ 22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ และเจ้าหน้าที่งานป้องกันเทศบาลเมืองวารินชำราบ กว่า 100 คน ลงพื้นที่ชุมชนท่ากอไผ่ เทศบาลเมืองวารินชำราบ เพื่อช่วยกันกรอกกระสอบทราย นำไปอุดบริเวณแนวกระสอบทรายที่ถูกน้ำพัดกลายช่องโหว่ เพื่อชะลอน้ำจากแม่น้ำมูลให้ท่วมพื้นที่ภายในชุมชนท่าก่อไผ่ และหาดสวนยาน้อยที่สุด พร้อมทั้งระดมสูบน้ำออกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่
นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ช่วง 1-2 วันที่
ผ่านมา เกิดฝนตกต่อเนื่องทำให้มีน้ำในพื้นที่
และน้ำจากด้านเหนือหนุนให้แม่น้ำมูลปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 7.92 เมตร หากระดับน้ำสูง 8 เมตร จะไหลผ่านแนวกระสอบทราย จะทำให้น้ำท่วมพื้นที่เป็นวงกว้าง จึงต้องเร่งจำกัดวง และจัดการจราจรน้ำ
"สมศักดิ์" ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำ จ.ร้อยเอ็ด
ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี วานนี้ (9 ต.ค.) ได้ลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในลำน้ำยังและลำน้ำชี โดยหลังไปดูพื้นที่ตลิ่งริมน้ำชีที่โดนน้ำกัดเซาะจนดินถล่มแล้ว นายสมศักดิ์ ระบุว่าจะเร่งดำเนินเบิกจ่ายงบประมาณมาทำการก่อสร้างแนวกั้นน้ำ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปีงบประมาณ 2567 นี้อาจจะไม่ทัน อย่างเร็วที่สุดคือช่วงเดือน ต.ค.2568 และยังมีอีกหลายเรื่องที่จะนำไปหารือร่วมกับอีกหลายภาคส่วนหลังจากนี้
ส่วนสถานการณ์น้ำที่จังหวัดร้อยเอ็ด วานนี้ (9 ต.ค.) ระดับน้ำในลุ่มน้ำชี ที่สถานีบ้านม่วงลาด อ.จังหาร วัดได้ 11.39 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 21 เซนติเมตร ส่วนสถานีบ้านธวัชดินแดง อ.ธวัชบุรี มีแนวโน้มทรงตัว ระดับน้ำวัดได้ 7.91 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 1.31 เมตร และสถานีบ้านท่าสะแบง อ.ทุ่งเขา ระดับน้ำอยู่ที่ 9.93 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 13 เซนติเมตร
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานอุทกภัยในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย มหาสารคาม หนองบัวลำภู เลย กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี โดยประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 16,566 ครัวเรือน
วันที่ 10 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ระหว่างวันที่ 26 กันยายน-10 ตุลาคม 2566 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 33 จังหวัด 127 อำเภอ 447 ตำบล 2,205 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 48,657 ครัวเรือน
ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 10 ตุลาคม 2566) ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 9 จังหวัด 34 อำเภอ 117 ตำบล 631 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 16,566 ครัวเรือน ได้แก่
1.เพชรบูรณ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหล่มสัก รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ระดับน้ำยังทรงตัว
2.พิษณุโลก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ วังทอง เนินมะปราง และนครไทย รวม 6 ตำบล 17 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 347 ครัวเรือน ระดับเริ่มลดลง
3.อุตรดิตถ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ เมืองอุตรดิตถ์ น้ำปาด บ้านโคก ฟากท่า ลับแล และพิชัย รวม 12 ตำบล 34 หมู่บ้าน ระดับน้ำเริ่มลดลง
4.สุโขทัย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ ศรีสำโรง และคีรีมาศ รวม 22 ตำบล 144 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,860 ครัวเรือน ระดับน้ำเริ่มลดลง
5.มหาสารคาม เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ เชียงยืน และโกสุมพิสัย รวม 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3 ครัวเรือน ระดับน้ำเริ่มลดลง
6.หนองบัวลำภู เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ นาวัง สุวรรณคูหา เมืองหนองบัวลำภู นากลาง และศรีบุญเรือง รวม 10 ตำบล 25 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14 ครัวเรือน ระดับน้ำเริ่มลดลง
7.เลย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ เชียงคาน และท่าลี่ รวม 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 85 ครัวเรือน ระดับน้ำเริ่มลดลง
8.กาฬสินธุ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ เมืองกาฬสินธุ์ ร่องคำ ฆ้องชัย ยางตลาด กมลาไสย สามชัย ท่าคันโท หนองกุงศรี สหัสขันธ์ และห้วยเม็ก รวม 55 ตำบล 362 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 9,917 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
9.อุบลราชธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ และสว่างวีระวงศ์ รวม 7 ตำบล 38 หมู่บ้าน
ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,340 ครัวเรือน ระดับน้ำเริ่มลดลง
สำหรับภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ แต่ยังคงมีที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น โดยการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนโดยเร่งด่วน โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถผลิตน้ำดื่ม รถประกอบอาหาร เพื่อแก้ไขปัญหา เร่งระบายน้ำ และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชั่น “THAI DISASTER ALERT”
หลายจังหวัดในภาคอีสานยังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จ.เลย น้ำท่วมได้กัดเซาะพนังกั้นน้ำแตกทำให้น้ำไหลเข้ามามากขึ้น ส่วนที่ จ.หนองบัวลำภู น้ำล้นตลิ่งไหลท่วมถนนหลายจุด
หลายจังหวัดในภาคอีสานยังประสบปัญหาน้ำท่วมหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู และ จ.เลย โดยสถานการณ์น้ำท่วมมี ดังนี้
พนังกั้นน้ำเลยแตกน้ำทะลักเข้าท่วมชุมชน
หลังเกิดน้ำท่วมรอบที่ 2 ทำให้พนังกั้นน้ำเลย ที่อยู่ด้านหลังชุมชนตลาดเมืองใหม่ เขตเทศบาลเมืองเลย ถูกน้ำกัดเซาะจนพังเสียหายทำให้น้ำจากแม่น้ำเลยไหลทะลักเข้ามา
ด้านเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ระดมกำลังนำรถแบคโฮมาทำพนังดินเพื่อกั้นไม่ให้น้ำไหลทะลักเข้ามาท่วมในพื้นที่ คุ้มชุมชนเมืองใหม่ ที่มีบ้านเรือนประชาชนกว่า 130 หลังคาเรือน
ด้านนายบุญเติม เรนุมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ลงพื้นที่ดูสถานการณ์น้ำพร้อมเตรียมแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ส่วนที่บ้านนาบอน น้ำจากแม่น้ำเลยล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนประมาณ 177 หลัง เป็นรอบที่ 3 แล้ว ซึ่งรอบนี้ชาวบ้านบอกว่า หนักสุดเนื่องจากน้ำท่วมสูง
ขณะที่นายพยุง เหล็กดี นายอำเภอเมืองเลย ได้นำข้าวกล่องและน้ำดื่ม เข้ามามอบให้กับผู้ประสบภัย คาดว่า หากไม่มีฝนตกลงมาซ้ำ ระดับน้ำจะค่อย ๆ ลดลง
น้ำท่วมถนนรอบเมืองทิศใต้ จ.หนองบัวลำภู
ขณะที่ สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.หนองบัวลำภู แม้ฝนจะเริ่มหยุดตกแล้วแต่ยังมีน้ำไหลบ่าลงมาพื้นที่ลุ่มทำให้วานนี้ (10 ต.ค.66) ถนนรอบเมืองหนองบัวลำภู ด้านทิศใต้ช่วงสี่แยกปั้มน้ำมัน ปตท.ไปยังสี่แยกบ้านดอนหาด หน้าศูนย์การค้าโกลบอลเฮาส์และศูนย์การค้าเจดีซี มีน้ำท่วมสูงประมาณ 30 - 40 ซม.และปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงต้องนำแผงกั้นมาปิดเส้นทาง ไม่ให้รถผ่านเส้นทางดังกล่าว
ส่วนที่บริเวณถนนรอบเมือง ตั้งแต่สี่แยกวิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภู บ้านดอนหันมายังสี่แยก ปตท.ถนนฝั่งด้านเหนือ ก็มีน้ำเอ่อล้นถนนขึ้นมาจนเกือบถึงสำนักงานเทศบาลเมืองหนองบัวลำภู แต่จุดนี้รถยังสามารถสัญจรได้
ส่วนที่บ้านตาดไฮ อ.โนนสัง มีชาวบ้านลงไปหาปลาบริเวณเขื่อนน้ำล้นเก่าและจมน้ำหายไปตั้งแต่เมื่อคืนวานนี้ (10 ต.ค.66) ทางเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยนเรศวรและกู้ภัยโนนสังจึงได้กำลังนำออกไปช่วยค้นหาผู้สูญหาย และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (9 ต.ค.66) ก็มี
ชาวบ้านในพื้นที่ อ.นาวัง ถูกกระแสน้ำพัดจมน้ำเสียชีวิต ขณะลงไปดึงหญ้าออกจากปากท่อระบายน้ำอีกด้วย
"เขื่อนอุบลรัตน์" เตรียมเพิ่มการระบายน้ำ
อีกหนึ่งพื้นที่ที่ต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำคือ พื้นที่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ โดยนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เมื่อประมาณต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ มีประมาณร้อยละ 40 แต่ขณะนี้เพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 87 แล้ว ซึ่งเขื่อนยังรับน้ำเข้าได้อีกประมาณ 300 ล้าน ลบ.ม.จึงจำเป็นที่เขื่อนอุบลรัตน์ ต้องปรับแผนการระบาย โดยวันนี้ (11 ต.ค.66) จะระบายน้ำ 9 ล้าน ลบ.ม.
ส่วน วันพรุ่งนี้ (12 ต.ค.66) จะระบายน้ำ 12 ล้าน ลบ.ม. และวันที่ 13 ต.ต.เป็นต้นไป จะระบายน้ำคงที่วันละ 15 ล้านลบ.ม. จนกว่าจะมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลง และหากเขื่อนอุบลรัตน์จะปรับแผนการระบายน้ำเพิ่มมากกว่าวันละ 15 ล้านลบ.ม.ให้นำเสนอเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
แผนทั้งหมด เป็นแผนระบายน้ำผ่านระบบเครื่องปั่นไฟ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านท้ายเขื่อนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ต้องดูแลประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำ เพื่อไม่ไม่ให้ได้รับผลกระทบในช่วงมีการระบายน้ำในครั้งนี้
มวลน้ำยังไหลเข้าเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ต่อเนื่อง ล่าสุด 4 วันไหลเข้ามากกว่า 230 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำยังเกินระดับกักเก็บ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องระบายวันละ 29 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้านผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว เผย เขื่อนลำปาวทำหน้าที่รับน้ำและชะลอน้ำป้องกันอุทกภัยพื้นที่ด้านท้ายได้ดี แต่จำเป็นต้องระบาย เนื่องจากปริมาณน้ำไหลเข้ามากกว่าปกติ
วันที่ 12 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงาน สถานการณ์น้ำเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ปัจจุบันมวลน้ำยังคงไหลเติมเข้าในอ่างอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 8-11 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมารวม 4 วัน มีปริมาณน้ำไหลเข้ามากถึง 230 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เขื่อนลำปาวมีปริมาณอยู่ที่ 2,127 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 107.42 เปอร์เซ็นต์ จากความจุระดับกักเก็บ 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังเกินระดับกักเก็บอยู่ 147 ล้านลูกบาศก์เมตร จำเป็นต้องระบายน้ำวันละ 29 ล้านลูกบาศก์เมตร
ด้านนายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ระบุว่า ก่อนหน้านี้เขื่อนลำปาวได้ปรับลดปริมาณการระบายน้ำลงเหลือวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อลดผลกระทบบริเวณด้านท้ายเขื่อน แต่เนื่องจากสถานการณ์
ปัจจุบันยังมีฝนตก และมีปริมาณน้ำไหลเข้ามาเติมในอ่างต่อเนื่องทุกวัน โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 8-11 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมารวม 4 วัน มีปริมาณน้ำไหลเข้ามากถึง 230 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้อ่างเก็บน้ำลำปาวมีปริมาณน้ำเกินระดับเก็บกัก 147 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณน้ำ ไหลเข้าสูงต่อไปอีกประมาณ 7 วัน รวมทั้งปริมาณน้ำในแม่น้ำชีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก ปริมาณฝนที่ตกหนักในเขต จ.ขอนแก่น และเขื่อนอุบลรัตน์จะทำการปรับเพิ่มการระบายน้ำ จากวันละ 3 ล้าน ลูกบาศก์เมตรเป็นวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2566ที่ผ่านมา และจะทยอยปรับเพิ่มเป็น 15 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 13 ตุลาคม2566 นายสำรวย กล่าวอีกว่า ดังนั้นเพื่อความเสถียรภาพของตัวเขื่อน และรองรับปริมาณน้ำที่ไหล เข้าอ่างเก็บน้ำ ทางโครงการฯจึงมีความจำเป็นจะต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเป็น 29.58 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และจะติดตามสถานการณ์ฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดพายุหรือฝนตกหนักในพื้นที่โครงการฯ จะปรับลดการระบายน้ำให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ทั้งนี้จากสถานการณ์ดังกล่าวที่มีมวลน้ำไหลเข้ามามากกว่าปกติในระยะเวลาสั้นๆจะเห็นได้ว่าเขื่อนลำปาวได้ทำหน้าที่ในการรองรับ กักเก็บ หน่วงน้ำ และชะลอมวลน้ำจำนวนมหาศาลไว้ เพื่อน้ำ
ป้องกันการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ท้ายน้ำได้อย่างดี
อย่างไรก็ตามสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ รายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันได้รับผลกระทบ 10 อำเภอ เป็น 2 สถานการณ์ คือ น้ำท่วมด้านเหนือเขื่อน จากระดับน้ำของเขื่อนลำปาวที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นพื้นที่รอบเขื่อนลำปาว และเป็นเอกสารสิทธิ์สัญญาเช่าของกรมธนารักษ์ ได้รับผลกระทบ 6 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอท่าคันโท อำเภอหนองกุงศรี อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอสามชัย อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และอำเภอห้วยเม็ก รวม 24 ตำบล 134 หมู่บ้าน 3,799 ครัวเรือน มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ 1,299 หลัง ด้านเกษตรได้รับผลกระทบ 29,445 ไร่ ด้านประมง 95 ไร่ และถนน 183 สาย
ในส่วนสถานการณ์น้ำท่วมด้านท้ายเขื่อน จากการระบายน้ำของเขื่อนลำปาว ได้รับผลกระทบ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอร่องคำ อำเภอฆ้องชัย อำเภอยางตลาด และอำเภอกมลาไสย รวม 34 ตำบล 263 หมู่บ้าน 7,339 ครัวเรือน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 876 หลัง ด้านเกษตรได้รับผลกระทบ 61,923 ไร่ ด้านประมง 374 ไร่ และถนน 64 สาย