ยะลา - ฝนถล่มยะลาน้ำท่วมหนักขยายวงกว้าง กระทบแล้ว 7 อำเภอ 23 ตำบล ขณะที่โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านตลาดเก่า ในเขตเทศบาลนครยะลา ประกาศหยุดเรียน 2 วัน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
วันนี้ (25 ธ.ค.) ฝนที่ตกถล่มเมืองยะลา ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักขยายวงกว้าง กระทบ 7 อำเภอ 23 ตำบล ขณะที่โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านตลาดเก่า ในเขตเทศบาลนครยะลา น้ำท่วมประกาศปิด 2 วัน จากกรณีฝนได้ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ยังไม่มีแนวโน้มลดลง ทำให้ปริมาณน้ำฝนสะสมได้ไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่เมืองยะลาแล้ว ทั้งถนนและบ้านเรือน โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่ม ที่รับน้ำ รอยต่อเขตเมืองสะเตงนอกและเขตเมืองยะลา เส้นทางสายตือเบาะ สะเตงนอก ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร รถเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้ จะมีเพียงรถยนต์กระบะยกสูงที่ยังพอสัญจรไปได้แต่ต้องใช้ความระมัดระวัง
ขณะที่ชุมชนย่านตลาดเก่าในเขตเทศบาลนครยะลา ที่ชุมชนวิฑูรอุทิศ ระดับน้ำจากบึงแบเมาะ ได้เอ่อล้นไหลเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนของชาวบ้านเป็นวงกว้าง รวมทั้งโรงเรียนเทศบาล 5 บ้านตลาดเก่า ในเขตเทศบาลนครยะลา โดยทางโรงเรียนได้ประกาศหยุดทำการเรียนการสอน จำนวน 2 วัน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
นางศิวพร ยืนชนม์ ผอ.โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านตลาดเก่า เปิดเผยว่า จากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ระดับน้ำได้เพิ่มขึ้นอย่างร็วดเร็ว ซึ่งทางโรงเรียนได้ติดตามสถานการณ์น้ำตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา พร้อมทั้งติดตามประกาศแจ้งเตือนจากทางเทศบาลนครยะลา ได้มีการประสานทางครูและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนขนย้ายสิ่งของขึ้นสู่ที่สูง โดยเฉพาะโรงอาหารและห้องเรียนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งทางโรงเรียนได้มีการเตรียมความพร้อมตลอดเวลา คาดการณ์ว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็จะทำการทำความสะอาด และทำการเปิดการเรียนการสอน และสอนชดเชยให้กับเด็กนักเรียนต่อไป
ด้าน กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา สรุปสถานการณ์ฝนตกหนักเมื่อวันที่ 23-24 ธ.ค.2566 ทำให้เกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่จังหวัดยะลา จำนวน 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอธารโต อำเภอยะหา อำเภอกาบัง อำเภอบันนังสตา อำเภอรามัน อำเภอกรงปินัง และอำเภอเมืองยะลา ทั้งหมด 23 ตำบล นอกจากนี้ ในส่วนพื้นที่น้ำท่วมในเขตเทศบาลนครยะลา น้ำได้เริ่มไหลเข้าท่วมขังบ้านเรือน ถนนหนทาง ที่บริเวณชุมชนหลังวัดยะลาธรรมาราม ชุมชนหลังโรงเรียนจีน ชุมชนธนวิถี และชุมชนย่านตลาดเก่า ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสายตรง 24 ชั่วโมง ได้ที่ งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลนครยะลา โทร. 073-212345 หรือ 199
ชาวบ้าน จ.นราธิวาส ขาดแคลนเรือติดเครื่องยนต์ที่ต้องฝ่ากระแสน้ำเชี่ยวเข้าไปอพยพผู้คน ขณะเดียวกันมีรายงาน มีเรือที่เข้าไปอพยพล่ม ที่ อ.รือเสาะ ทำให้มีผู้สูญหาย 4 คน อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจน ขณะที่ 11 โรงเรียนสั่งปิดการเรียนการสอนแล้ว
วันนี้ (25 ธ.ค.2566) สถานการณ์น้ำท่วม จ.นราธิวาส มีปริมาณน้ำท่วมขังค่อยๆสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ โดย อ.ระแงะ มีปริมาณฝนตกหนักสุดวัดได้ 631 มิลลิเมตร รองลงมาคือ อ.ยี่งอ วัดได้ 495 มิลลิเมตร และ อ.รือเสาะ วัดได้ 447 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าตกหนักที่สุดมากเป็นประวัติกาล
ส่งผลให้หลายพื้นที่ยังมีประชาชนตกค้าง ไม่สามารถออกมาจากบ้านที่น้ำท่วมสูงอย่างรวดเร็ว หลายคนจึงยังติดบนชั้น 2 หรือ บนหลังคาบ้าน ซึ่งได้มีการแจ้งขอความช่วยเหลือ ผ่านช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่พบว่าการเข้าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ทำได้ในวงจำกัด เพราะเครื่องมือ อุปกรณ์ โดยเฉพาะเรือติดเครื่องยนต์ที่มีความจำเป็นต้องขับฝ่ากระแสน้ำเข้าไปช่วยเหลือไม่เพียงพอ
ส่วนรถไฟสายใต้ 14 ขบวน ที่ปลายทางสถานีสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส วันนี้ทุกขบวน จะวิ่งรับส่งผู้โดยสารแค่สถานีรถไฟ จ.ยะลา เนื่องจากเส้นทางรถไฟมุ่งหน้าไปยัง จ.นราธิวาส หลายจุดถูกน้ำท่วม ทำให้
รถไฟไม่สามารถวิ่งผ่านได้ เช่นเดียวกับ โรงเรียนรวม 11 แห่ง ต้องประกาศปิดการเรียนการสอนฉุกเฉิน
ทั้งนี้ ในซอยถนนลำภูโคนใน อ.เมืองนราธิวาส เจ้าหน้าที่เกือบ 10 นายต้องออกแรงดึงเรือท้องแบน เพื่อสวนกระแสน้ำที่ไหลแรง เพื่อนำตาและยายสูงอายุ 2 พร้อมหลานออกมาจากบ้านที่น้ำท่วมเกือบมิด
และแม้จะมีความชำนาญ แต่ทหารเรือต้องเร่งเครื่องยนต์ที่ติดในเรือยาง ขับพุ่งไปอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันเรือล่ม ขณะเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านอีกจำนวนมาก ที่ร้องขอความช่วยเหลือเร่งด่วน
เช่นเดียวกับเรือของเจ้าหน้าที่กู้ภัย ที่แทบจะถูกน้ำพัดไปติดกับหลังคาบ้าน ขณะนำชาวบ้านเข้าไปชี้จุดบ้านที่มีคนติดภายใน โดยเจ้าหน้าที่ใช้ความชำนาญ ขับฝ่าไปได้
โดยขณะนี้ เรือติดเครื่องยนต์ถือว่ามีความต้องการอย่างมาก ในการเข้าไปอพยพผู้คน ทำให้เรือจากพื้นที่ต่างๆ ระดมเข้ามาช่วยอพยพชาวบ้านที่ติดภายในบ้านหลายสิบหลัง โดยเฉพาะบ้านชั้นเดียวที่มีทั้งผู้สูงอายุและเด็กเล็กอาศัยอยู่
ขณะที่ภาพจากกล้องมุมสูง ทำให้เห็นความเสียหายจากน้ำท่วมขยายเป็นวงกว้างทั้ง 11 ตำบล กระแสน้ำที่ไหลแรง ทำให้ถนนสายหลักที่เชื่อมไปตัวเมืองนราธิวาส เเละ อ.ระแงะ ถูกตัดขาดหลายจุด โดยเฉพาะตั้งแต่สี่เเยกลำพู บ้านของชาวบ้าน โรงเรียน วัด สถานีอนามัย จมอยู่ใต้น้ำนับพันหลัง
ทรัพย์สิน เช่นรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ นับพันคันเสียหายหนัก
ทั้งนี้ชาวบ้านพยายามเอารถจักรยานยนต์มาผูกติดกับแผงเหล็ก แต่ก็ทำได้อยากลำบาก ถูกกระแสน้ำที่ไหลแรงพักไปกองติดกับต้นไม้ หรือ รั้วบ้าน ขณะที่บ้านหลายหลังข้าวของเสียหายทั้งหมด
นายจรูญ จันทรา ชาวบ้าน เล่าว่า บ้านถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร โดยน้ำไหลเข้าท่วมอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่เช้ามืดวันนี้ หลังตกหนักสะสมมานาน 2-3 วัน แต่บริเวณริมถนนสายหลักก็ไม่เคยถูกน้ำท่วมมาตั้งแต่ปี 2510 ชาวบ้านจึงไม่ทันตั้งตัว เสียหายอย่างหนัก
เช่นเดียวกับร้านขายของชำ ที่ตู้เเช่หลายหมื่นบาท จมใต้น้ำ รวมถึงสินค้าเกือบทั้งหมดในร้าน นางวารี เจ้าของร้าน บอกว่า ไม่ได้มีการแจ้งเตือนจากหน่วยงานใด และบริเวณนี้ก็ไม่เคยท่วมนานแล้ว หลายคนเลยไม่ได้เก็บข้าวของ ขณะที่การเตรียมการช่วยเหลือ ก็ไม่พร้อมมากนัก โดยเฉพาะเรือ ติดเครื่องยนต์ จึงไม่เพียงพอกับการอพยพผู้คนที่ติดค้างในบ้านหลายหลัง
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานในสื่อออนไลน์ว่า มีเรือที่เข้าไปอพยพชาวบ้านซูเปะ ต.เรียง อ.รือเสาะ เกิดล่ม ทำให้มีผู้สูญหาย 4 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
น้ำท่วมภาคใต้ยังคงหนักต่อเนื่อง พื้นที่กระทบพุ่งเกือบแสนไร่ ราว 20,000 ครัวเรือน นราธิวาสหนักสุด ตามด้วยสตูล ปัตตานี
น้ำยังล้นตลิ่ง 3 แม่น้ำสายหลัก-แนวโน้มลดลง ขณะกรมอุตุฯ ประกาศเตือน “7 จังหวัดภาคใต้ ฝนตกหนักต่อเนื่องบางพื้นที่”
นายกฯ – รมว.มหาดไทยกำหนดลงพื้นที่หลังประชุมครม. วันนี้
กระทบราว 20,000 ครัวเรือน เกือบแสนไร่
“ผลจากฝนที่ตกหนักต่อเนื่องระหว่างวันที่ 22 – 26 ธ.ค. 2566 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากใน 5 จังหวัด 24 อำเภอ 384 ตำบล มีประชาชนได้รับผลกระทบ 19,624 ครัวเรือน”
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ณ เวลา 6:00 น. ของวันนี้ (26 ธ.ค. 2566) ระบุว่า นราธิวาสมีครัวเรือนได้รับผลกระทบมากที่สุด ตามมาด้วยสตูล ปัตตานี ยะลา และสงขลา ตามลำดับ
“ช่วงเย็นของวันที่ 25 ธ.ค. 2566 บริเวณภาคใต้ตอนล่างได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมทั้งสิ้น ประมาณ 89,027 ไร่ ประกอบด้วยจังหวัด นราธิวาส 36,074 ไร่ ปัตตานี 28,192 ไร่ ยะลา 24,761 ไร่
โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือพื้นที่ปลูกข้าว รวมทั้งสิ้น 15,688 ไร่ นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมอื่น ๆ ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลัก และสายรองของพื้นที่โดยรอบ ซึ่งรวมถึงชุมชนที่อยู่อาศัย และเส้นทางคมนาคมบางส่วน”
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดเผยผลการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมโดยใช้ภาพดาวเทียม Cosmo-SkyMed-1 วานนี้ (25 ธ.ค. 2566)
รายงานข่าวเปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมจ.นราธิวาสในครั้งนี้ พบว่ามีปริมาณฝนตกหนักสุดวัดได้ 631 มิลลิเมตร รองลงมาคือ อ.ยี่งอ วัดได้ 495 มิลลิเมตร และ อ.รือเสาะ วัดได้ 447 มิลลิเมตร
“สถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ทำให้ประชาชนเสียชีวิตแล้ว 1 ราย และสูญหายจากเหตุน้ำท่วม ราว 6 ราย โดยวานนี้ เวลาประมาณ 10:00 น. เกิดเหตุเด็กวัย 3 ขวบ เกิดเหตุพลัดตกหน้าต่างถูกกระเเสน้ำพัดจมน้ำเสียชีวิต และเมื่อเวลาประมาณ 12:00 น. เรือขนย้ายผู้ประสบภัยน้ำท่วม ม.1 ต.เรียง
อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส พลิกคว่ำหน่วยงานอาสาสมัครฯ เร่งให้ความช่วยเหลือ ล่าสุดสำนักข่าว The reporters รายงานวันนี้ (26 ธ.ค. 2566) ราว 10:00 น. ว่าเจ้าหน้าที่พบร่างผู้สูญหายแล้ว 1 ราย
นอกจากนี้ ได้เกิดเหตุดินสไลด์ทับบ้านเรือนของประชาชน ที่บ้านกานั๊วะ ต.กาลีซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำให้บุคคลสูญหาย 2 คน” Wartani รายงานวานนี้ (25 ธ.ค. 2566)
ยังล้นตลิ่ง 3 แม่น้ำสายหลัก-แนวโน้มลดลง
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยวันนี้ (26 ธ.ค. 2566) ว่าสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำหลัก 3 ลุ่มน้ำในพื้นที่ภาคใต้มีแนวโน้มลดลง
“ขณะนี้ลุ่มน้ำโก-ลก ระดับน้ำล้นตลิ่ง มีแนวโน้มลดลง ลุ่มน้ำบางนรา ระดับน้ำล้นตลิ่ง มีแนวโน้มลดลง ลุ่มน้ำสายบุรี ระดับน้ำล้นตลิ่ง มีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ทางกองอำนวยการฯ ยังคงมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ทั้ง 3 ลุ่มน้ำดังกล่าวอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง” กองอำนวยการฯ ระบุ
อุตุเตือน “7 จังหวัดภาคใต้ ฝนหนักต่อเนื่องบางพื้นที่”
วันนี้ (26 ธ.ค.2566) กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 16 เรื่องอากาศหนาวเย็นบริเวณประเทศไทย ฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคใต้ และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย รายละเอียดดังนี้
“มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณทะเลอันดามันตอนล่าง
ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่บริเวณพัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตรัง และสตูล ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 – 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง ส่วน
ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 26 – 27 ธ.ค. 2566” ประกาศฯ ระบุ
นายกฯ – รมว.มหาดไทยลงพื้นที่หลังประชุมครม.วันนี้
วานนี้ (25 ธ.ค. 2566) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส ที่ได้รับรายงานว่าประสบความเดือดร้อนมากที่สุด ดังนั้นในวันอังคาร 26 ธ.ค. 2566 หลังประชุมคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปยังจังหวัดนราธิวาส เพื่อตรวจดูสถานการณ์อุทกภัย และแนวโน้มของสถานการณ์ ความพร้อมในการรับมือของหน่วยงาน แนวทางการบริหารจัดการน้ำ เช่น การระบายน้ำ รวมทั้งปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ เพื่อที่จะแก้ไข และช่วยเหลือได้ตรงและทันสถานการณ์
อย่างไรก็ตามการลงพื้นที่ในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการเพิ่มภาระแก่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ในการต้อนรับใด ๆ โดยให้กำลังทั้งหมดมุ่งไปที่การช่วยเหลือประชาชนและแก้ไขสถานการณ์
“จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการกองป้องกันและบรรเทาสาธารภัยแห่งชาติ (ปภ.) ได้กำชับหน่วยงาน ปภ. ในพื้นที่ดำเนินงานตามแผนเผชิญเหตุ ซึ่งได้เตรียมการตั้งแต่ต้นฤดูกาลอย่างเข้มงวด
ทั้งการนำเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าช่วยเหลือเร่งระบายน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน พร้อมกับดำเนินการตามข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อประชาชนที่ครัวเรือนได้รับความเสียหาย ดูแลผู้ที่กำลังประสบภัยในด้านต่าง ๆ ทั้งการดำรงชีพ การมีศูนย์พักพิงให้ผู้ที่ต้องอพยพ มีถุงยังชีพ เวชภัณฑ์ น้ำดื่มสะอาด และสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เป็นต้น
และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจความเสียหายให้ครบถ้วนทุกด้าน โดยเฉพาะบ้านเรือนที่พักอาศัย พื้นที่การเกษตร สิ่งสาธารณประโยชน์เพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยวันนี้ (26 ธ.ค. 2566)
ปภ.รายงานมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 5 จังหวัด สตูล-สงขลา-ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส ระดับน้ำเริ่มลด ประชาชนได้รับผลกระทบ 68,941 ครัวเรือน
วันที่ 27 ธันวาคม 2566 นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณเกาะสุมาตราและทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำให้ระหว่างวันที่ 22 – 27 ธันวาคม 2566 มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
รวมพื้นที่ 32 อำเภอ 165 ตำบล 922 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 71,401 ครัวเรือน โดยปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 27 ธ.ค. 66 เวลา 06.00 น.) ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ รวม 5 จังหวัด 32 อำเภอ 164 ตำบล 890 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 68,941 ครัวเรือน ได้แก่
1.สตูล เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 1 อำเภอ ได้แก่ อ.ควนโดน รวม 4 ตำบล 16 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1,801 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
2.สงขลา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.คลองหอยโข่ง อ.สะบ้าย้อย และอ.รัตภูมิ รวม 9 ตำบล 29 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 836 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
3.ปัตตานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.กะพ้อ อ.ทุ่งยางแดง อ.หนองจิก อ.โคกโพธิ์ อ.ไม้แก่น อ.ยะรัง และอ.สายบุรี รวม 30 ตำบล 95 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 8,360 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
4.นราธิวาส เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.จะแนะ อ.ระแงะ อ.สุไหงปาดี อ.ศรีสาคร อ.ยี่งอ อ.เจาะไอร้อง อ.รือเสาะ อ.เมืองฯ อ.บาเจาะ อ.ตากใบ และอ.สุไหงโก-ลก รวม 70 ตำบล 457 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 39,604 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
5.ยะลา น้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.ธารโต อ.ยะหา อ.บันนังสตา อ.เมืองฯ อ.กาบัง และอ.รามัน รวม 51 ตำบล 293 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 18,340 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยสำนักงานป้องกันและ
บรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน โดยจัดตั้งจุดอพยพให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าพักชั่วคราวจำนวน 6 จุด แจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม และถุงยังชีพให้แก่ประชนในพื้นที่รวมกว่า 189,000 ชุด และระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำจำนวน 31 เครื่อง รถบรรทุกเครื่องสูบส่งระยะไกลจำนวน 5 คัน รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยจำนวน 5 คัน รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยจำนวน 14 คัน รถผลิตน้ำดื่มจำนวน 4 คัน รถขุดตักไฮดรอลิคจำนวน 1 คัน และเรือท้องแบนจำนวน 18 ลำ เพื่อแก้ไขปัญหา เร่งระบายน้ำ และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
29 ธ.ค.2566 - สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดปัตตานียังน่าเป็นหวง มวลน้ำจากจังหวัดยะลายังคงไหลมาสมทบแม่น้ำปัตตานี และมวลน้ำจากนราธิวาสไหลมาสมทบน้ำสายบุรีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้ง 8 อำเภอ กว่า 19,500 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน
สำหรับ อ.เมืองปัตตานี ที่รับน้ำจากจังหวัดยะลา ถูกน้ำท่วมขยายเป็นวงกว้างมากกว่าเมื่อวาน โดยเฉพาะ ต.ปะกาฮารัง บริเวณสะพาน เส้นทางสายเอเชียถนนจมอยู่ใต้น้ำ ทำให้การสัญจรเป็นไปอย่างยากลำบาก มีรถที่เดินทางมาจากนราธิวาสติดอยู่พื้นที่ดังกล่าว ส่วนปากทางเข้าหมู่บ้านระยะทาง 3 กม.มีน้ำท่วมสูง ถนนในหมู่บ้านจมน้ำระดับ 1-2 เมตร ต้องใช้เรือเท่านั้นออกมาถนนเอเชีย
ส่วนโรงเรียนบ้านปะกาฮารัง ซึ่งอยู่ปากทางเข้าหมู่บ้าน มีน้ำท่วมสูง 1 เมตร 60 ซม. ภายในอาคารโรงเรียน เอกสารการเรียนการสอนบางส่วนได้รับความเสียหาย เนื่องจากน้ำในรอบนี้มาเร็วจึงยกของขึ้นที่สูงไม่ทัน มีเพียงบางส่วนเท่านั้นสามารถยกได้ทัน โดยโรงเรียนแห่งนี้ได้ปิดการเรียนการสอนตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา
ขณะที่หมู่บ้านจางา ต.ประกะฮารัง ซึ่งติดกับริมแม่น้ำปัตตานี มีน้ำท่วมสูง 3 เมตร เข้าท่วมชั้นล่างของบ้าน ซึ่งชาวบ้านต้องอาศัยอยู่ชั้น 2 ส่วนบางหลังที่เป็นบ้านชั้นเดียวต้องอพยพไปอยู่บ้านญาติ เช่นเดียวกับหมู่บ้านจือโม๊ะ ต.ปะกาฮารัง ติดกับแม่น้ำปัตตานี น้ำได้เข้าท่วมบ้านเรือหลายหลัง ขณะนี้พบว่ามีบ้านที่จมแล้ว ทั้งหมด 6 หลัง ชาวบ้านต้องอพยพไปอยูศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ทางอบต.เตรียมไว้ อีกทั้งยังมีข้าวของเครื่องใช้ไฟฟ้าได้รับความเสีย ส่วนรถ
กระบะบางคันไม่ทันย้ายทำให้จมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งทั้ง 2 หมู่บ้านดังกล่าว เป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในอำเภอเมืองปัตตานีในรอบ 18 ปี เดือดร้อนกว่า 600 ครัวเรือน ชาวบ้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยเจอน้ำท่วมขนาดนี้มาก่อน
น.ส.วีดาด มะสาและ ชาวบ้านเปิดเผยว่า ปีก่อนๆน้ำท่วมไม่หนัก แต่ปีนี้หนักมาก ชาวบ้านบางคนไม่มีเรือก็ออกมาไม่ได้ ต้องอยู่แต่ในบ้าน ส่วนการช่วยเหลือขณะนี้ชาวบ้านหลายคนเดือดร้อน เพราะของแจกไม่ทั่วถึง คนนี้ได้แต่อีกคนไม่ได้
ในต.ปะกาฮารัง หมู่บ้านจางาเป็นหมู่บ้านที่หนักสุด มีน้ำท่วมสูง 3 เมตร ซึ่งรอบนี้น้ำมาเร็ว ทำให้ทุกคนไม่ทันตั้งตัว จริงๆก่อนหน้านี้ชาวบ้านพอจะรับมือได้ บางส่วนทันยกของไว้ที่สูง แต่น้ำมาเร็วแบบนี้ ทำให้ของบางอย่างก็ไม่ทันยก
ปภ.นราธิวาส สรุปน้ำท่วม มีผู้เสียชีวิต 14 คน ยังเหลือพื้นที่น้ำท่วมขัง 4 อำเภอ ส่วนอีก 9 อำเภอสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ขณะที่ชาวบ้าน อ.รามัน จ.ยะลา เร่งทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลดลงเข้าสู่สภาวะปกติ
วันนี้ (31 ธ.ค.2566) สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.นราธิวาส ชาวบ้านเร่งสำรวจความเสียหายบ้านเรือน หลังน้ำลด แต่ที่สถานีรถไฟตันหยงมัส อ.ระแงะ แม้จะเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ บรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากการรถไฟมีการประกาศเรื่องการหยุดเดินรถไฟชั่วคราว ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค.66 – 2 ม.ค.67 เนื่องจากสถานการณ์ฝนตกหนักใน จ.นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ส่งผลให้รางรถไฟได้รับความเสียหาย จึงต้องทำการซ่อมแซมคาดจะใช้เวลา
20 วัน จึงจะกลับมาใช้งานได้ตามปกติ จึงประกาศปิดทางในเส้นทาง ช่วงระหว่างสถานีรถไฟยะลา – สถานีรถไฟสุไหงโก-ลก
ด้านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส ยังคงเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำทั้ง 3 ลุ่มน้ำ อย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง พบว่าลุ่มน้ำโก-ลก ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง มีแนวโน้มลดลง ลุ่มน้ำสายบุรี ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง มีแนวโน้มลดลง และลุ่มน้ำบางนรา ระดับน้ำล้นตลิ่ง มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน
สถานการณ์น้ำคลี่คลายแล้ว จำนวน 9 อำเภอ คงเหลือ 4 อำเภอที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมในบางพื้นที่ ประกอบด้วย อ.ตากใบ สุไหงปาดี เจาะไอร้อง และ สุไหงโก-ลก
สรุปภาพรวมมีผู้ได้รับความเดือดร้อนกว่า
71,000 ครอบครัว และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 14 คน สูญหาย 1 คน โดย อ.รือเสาะ มากสุดมีเสียชีวิต จำนวน 5 คน
ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ยะลา เริ่มคลี่คลาย ไม่มีฝนตกลงหนักในพื้นที่ ท้องฟ้าโปร่งใส และมีแดดออกแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่บ้านบือแนบูเกะ หมู่ที่ 4 ต.ตะโล๊ะหะลอ อ.รามัน ออกมาตรวจสอบพื้นที่ได้รับความเสียหาย พร้อมทั้งช่วยกันล้างทำความสะอาดบ้านเรือน - ร้านค้า หลังจากที่น้ำลดลงกลับเข้าสู่สภาวะปกติ เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่เข้าสำรวจความเสียหายและเยียวยา