ข่าวน้ำท่วม

นักวิชาการเปิด 4 เหตุผลน้ำท่วมแม่สาย ชี้ท่วม “ถี่เป็นประวัติการณ์” และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น [ BBC News : 11 กันยายน 2567 ]

สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณชายแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา หลังจากระดับน้ำแม่สายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล้นตลิ่งเข้าท่วมตลาดสายลมจอย จุดขายสินค้าชายแดนไทย-เมียนมา ขึ้นชื่อของชายแดนแม่สาย

เหตุอุทกภัยดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากเผชิญกับอิทธิพลพายุยางิ ซึ่งลดระดับจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นเป็นพายุดีเปรสชัน ครอบคลุมพื้นที่ทางตอนบนของประเทศไทยเมื่อระหว่างวันที่ 8-10 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกหนักมาก และทำให้ อ.แม่สาย และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เกิดเหตุน้ำท่วมขึ้น

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ว่า นอกจากพื้นที่ตลาดสายลมจอยที่เกิดเหตุน้ำท่วมแล้ว ยังมีชุมชนแม่สาย หัวฝาย เหมืองแดง ไม้ลุงขน เกาะทราย ที่ได้รับผลกระทบด้วย

“น้ำที่ไหลลงมาตามลำน้ำสายมีขอนไม้ เศษไม้ สิ่งปฏิกูล ไหลลงมาด้วย คาดว่าพื้นที่ป่าต้นน้ำในประเทศเมียนมาฝนคงตกหนัก” นายพุฒิพงศ์ กล่าว

ด้านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อ.แม่สาย ปลดกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ที่ประสบเหตุน้ำท่วมเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ส่วนการประปาส่วนภูมิภาคสาขาแม่สาย แจ้งว่าไม่สามารถเข้าพื้นที่สถานีสูบน้ำได้ จึงยังไม่สามารถจ่ายน้ำประปาได้ตามปกติ

ตลอดคืนที่ผ่านมาประชาชนในแม่สายที่กลายเป็นผู้ประสบภัยต่างโพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อขอความช่วยเหลือให้อพยพออกจากพื้นที่ ซึ่งระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นและไหลเชี่ยวกราก โดยศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ อ.แม่สาย ระบุว่า มวลน้ำที่ไหลเชี่ยวแรงทำให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนในเขตเทศบาลตำบลแม่สายได้ และต้องการเรือยางจำนวนมากเพื่ออพยพผู้ประสบภัย

ด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย จัดตั้งศูนย์พักพิงสำหรับผู้ประสบอุทกภัย 2 จุด ได้แก่ เทศบาลตำบลแม่สาย และวัดพรหมวิหาร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.เชียงราย รายงานวันนี้ (11 ก.ย.) ว่าเบื้องต้นทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเข้าพักในศูนย์พักพิงชั่วคราวทั้ง 2 แห่งแล้ว 71 คน (ข้อมูล ณ เวลา 01.00 น. ของวันที่ 11 ก.ย.)

ขณะที่คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ รายงานว่า สถานีตรวจวัดน้ำฝน ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย มีปริมาณฝน 24 ชั่วโมงย้อนหลังสูงสุดในประเทศที่ 235.8 มิลลิเมตร (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ก.ย. เมื่อเวลา 13.00 น.)

อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ภายใน 1-2 วันนี้ ฝนทางภาคเหนือจะซาลง เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมภาคเหนือตอนบนได้เคลื่อนตัวไปปกคลุมประเทศเมียนมาแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำตามลุ่มน้ำต่าง ๆ ในภาคเหนือ

บีบีซีไทยพูดคุยกับ ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำจากสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม (Stockholm Environment Institute – SEI) หนึ่งในผู้ศึกษาเหตุการณ์น้ำท่วมบริเวณพื้นที่แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อวิเคราะห์ว่าเหตุอุทกภัยในพื้นที่ชายแดนแม่สายเกิดขึ้นได้อย่างไร และเหตุใดเขาจึงมองว่า พื้นที่นี้มีแต่จะท่วมถี่มากขึ้น รุนแรงมากขึ้น หากไม่สามารถผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนได้

เปิด 4 ปัจจัย เหตุน้ำท่วมแม่สายครั้งนี้

นักวิชาการอาวุโสจาก SEI บอกว่า จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังพบว่าในปีนี้แม่สาย “น้ำท่วมถี่เป็นประวัติการณ์” จากปกติที่เคยเกิดอุทกภัยประมาณ 2-3 ครั้งต่อปีเท่านั้น แต่ในปี 2567 พบว่าแม่สายน้ำท่วมไปแล้ว 7 ครั้งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงครั้งล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้น โดยเขาแจกแจงออกเป็น 4 ปัจจัย ดังนี้

ฝนที่ตกหนักมากกว่าปกติ ดร.ธนพล ชี้ว่าเหตุอุทกภัยในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากปริมาณฝนที่ตกเพิ่มขึ้นจากอิทธิพลพายุยางิเท่านั้น แต่ปัจจัยหลักเป็นเพราะฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ก.ค.- ส.ค. ซึ่งพบว่ามีปริมาณฝนมากกว่าปกติถึง 50-60% ทำให้ดินไม่มีความสามารถอุ้มน้ำไว้ได้เลย

“หมายความว่าฝนที่ตกลงมาทุกเม็ดในตอนนี้ จะกลายเป็นน้ำหลากเพียงอย่างเดียว” เขาบอก

นอกจากนี้เขายังมองว่า ฤดูฝนของไทยยังต่อเนื่องไปจนกว่าจะถึงกลางเดือน พ.ย. ดังนั้น แม่สายก็อาจเผชิญกับเหตุน้ำท่วมครั้งที่ 8 ในเร็ว ๆ นี้ก็เป็นได้

พื้นที่ต้นน้ำเปลี่ยนสภาพ แม่น้ำสายมีต้นน้ำอยู่ในประเทศเมียนมาถึง 80% และมีเพียง 20% เท่านั้นที่ทอดยาวอยู่ในพื้นที่แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก จากการที่เขาลงพื้นที่ศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในช่วงปี 2562-2564 พบว่าสาเหตุที่ทำให้แม่สายเกิดน้ำท่วมเร็วและแรงนั้นเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณต้นน้ำซึ่งอยู่ในประเทศเมียนมา โดยปัจจุบันพบว่าพื้นที่ดังกล่าวได้เปลี่ยนจากป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงเหมืองแร่จำนวนหลายจุดด้วยกัน ทำให้ศักยภาพการชะลอน้ำน้อยลดลง

นอกจากนี้ยังพบว่า บริเวณแม่สาย-ท่าขี้เหล็กนั้นเป็นที่ราบระหว่างหุบเขา ทำให้น้ำที่หลากลงมาจากต้นน้ำมีความเชี่ยวและแรงโดยธรรมชาติ ต่างจากน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่ค่อย ๆ เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่โดยรอบ

ระดับแม่น้ำโขง เขากล่าวต่อว่าเงื่อนไขท้ายน้ำของแม่น้ำสายอยู่ที่สบรวกหรือจุดบรรจบของแม่น้ำรวกและแม่น้ำโขง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีระดับสูงขึ้นมากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา อันเป็นผลจากระดับน้ำโขงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้การระบายน้ำของแม่น้ำสายเป็นไปได้ช้า

การขยายเมืองทั้งในฝั่งแม่สายและท่าขี้เหล็ก ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา เขาพบว่าตัวเมืองแม่สายของไทยและท่าขี้เหล็กของเมียนมา ต่างขยายตัวเป็นเมืองขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลง และหลายจุดที่เคยเป็นพื้นที่รับน้ำหรือพื้นที่ระบายน้ำเดิมก็ถูกเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่อยู่อาศัย

“หากพูดให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือสร้างบ้านอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม” เขาบอก และอธิบายต่อว่าในอดีตแม่น้ำสายเคยมีความกว้าง 130-150 เมตร แต่ปัจจุบันมีสิ่งปลูกสร้างประชิดแนวลำน้ำเข้าไปกว่าเดิม ส่งผลให้แม่น้ำสายมีความกว้างประมาณ 20-50 เมตรเท่านั้นในช่วงพื้นที่เมือง

“พอเราบีบพื้นที่แม่น้ำให้เป็นคอคอด มันก็ทำให้การระบายน้ำสู่แม่น้ำโขงตอนล่างมีความยากลำบากมากขึ้น”

แก้น้ำท่วมแม่สาย ต้องใช้กลไกระหว่างประเทศ

“องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) บอกว่า ถ้าเรามีระบบเตือนภัยที่ดีจะช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วมได้ 20-30%” ดร.ธนพล บอก

“อย่างที่เรียนให้ทราบว่าน้ำท่วมครั้งนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ภายใน 2 เดือนแล้ว ดังนั้นไม่ใช่ชาวบ้านเขาไม่รู้ว่าพื้นที่นี้มันเกิดน้ำท่วม เขารู้ และเขาก็พยายามป้องกันอย่างเต็มที่ในศักยภาพที่พวกเขาทำได้”

นักวิชาการจากสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอร์กโฮล์มเล่าต่อว่า เทศบาลตำบลแม่สายพยายามสร้างกำแพงกั้นน้ำตามแนวแม่น้ำสาย ความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาเพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัย รวมถึงพยายามอุดรอยรั่วของกำแพงมาโดยตลอด แต่เนื่องจากน้ำที่มีปริมาณมากในครั้งนี้ ซึ่งประเมินว่าอยู่ที่ 2-3 เมตร ขึ้นไปทำให้เกินศักยภาพการป้องกันของกำแพงที่สร้างขึ้น

เขาเสนอว่า ในระยะยาว ตัวเมืองแม่สายต้องวางแผนและออกแบบเมืองให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำท่วม โดยทุกครั้งที่วางผังเมืองต้องคิดเรื่องการจัดการน้ำควบคู่กันไปด้วย ส่วนบ้านเรือนที่อยู่แนวแม่น้ำสาย หากไม่ย้ายออกก็ต้องสร้างใหม่ให้สอดคล้องกับเหตุอุทกภัยที่มีแนวโน้มถี่มากขึ้น ท่วมมากขึ้น และแรงมากขึ้น

“บ้านชั้นเดียวอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป อาจต้องขยับเป็นบ้านสองชั้น” เขากล่าว

ในมุมมองของนักบริหารจัดการน้ำเช่นเขา เห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับพื้นที่แม่สายไม่สามารถพึ่งพาทรัพยากรในระดับเทศบาลและจังหวัดได้ แต่มันต้องการแผนการจัดการน้ำข้ามพรมแดนระหว่างไทย เมียนมา และ จีน

เขาเสนอว่า รัฐบาล, กระทรวงการต่างประเทศของไทย, สทนช. และทางการเมียนมา จะต้องประสานงานกันเพื่อติดตั้งสถานีตรวจวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ต้นน้ำแม่น้ำสายซึ่งอยู่ในเขตแดนประเทศเมียนมาให้ได้

“เพื่อนำข้อมูลน้ำฝนมาประเมินเป็นปริมาณน้ำท่าที่ไหลเข้าสู่แม่น้ำสาย เพราะตอนนี้เราไม่มีข้อมูลปริมาณน้ำฝนบริเวณต้นน้ำเลย เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นน้ำท่วมที่เร็ว แรง มาในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ จึงต้องการข้อมูลโทรมาตรที่อัปเดตในระยะเวลาทุก ๆ 5-10 นาที เพื่อประเมินปริมาณน้ำฝนที่จะกลายเป็นน้ำหลากได้”

เขาบอกว่าปัจจุบันสถานีตรวจวัดที่ใกล้ที่แม่น้ำสายมากที่สุดอยู่ที่อยู่บริเวณจุดตลาดสายลมจอย ซึ่งช่วยให้ทำแบบจำลองการพยากรณ์และเตือนภัยล่วงหน้าได้เพียง 1-3 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ถ้าหากมีสถานีตรวจวัดบริเวณต้นน้ำในประเทศเมียนมา จะช่วยให้ทำแบบจำลองการพยากรณ์และแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าได้มากถึง 1-3 วัน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากเหตุอุทกภัยได้

อีกวิธีหนึ่งที่อาจช่วยให้น้ำในแม่น้ำสายไหลได้ดีขึ้น คือการขุดลอกลำน้ำ แต่เนื่องจากแม่น้ำแม่สายทอดยาวระหว่างชายแดนไทย-เมียนมา ทำให้งานดังกล่าวต้องเผชิญกับความท้าทายด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคง เนื่องจากในปัจจุบันการปักหมุดเขตแดนระหว่างไทยและเมียนมายังคงดำเนินการอยู่

“เขตแดนระหว่างประเทศยังไม่แล้วเสร็จทั้งหมด คำถามที่หลายฝ่ายกังวลคือ หากเราทำการขุดลอกอะไรต่าง ๆ บริเวณลำน้ำในบริเวณนั้น ก็อาจทำให้พื้นที่ตลิ่งหรือเขตแดนระหว่างประเทศได้รับผลกระทบตามไปด้วย” ดร.ธนพล อธิบาย

“ดังนั้นกลไกการบริหารจัดการแม่น้ำสายข้ามพรมแดนต้องมีความชัดเจน ไทยและเมียนมาต้องหาทางทำงานร่วมกันให้ได้ ซึ่งจะไม่ได้ส่งผลดีแค่พื้นที่แม่สาย แต่รวมถึงท่าขี้เหล็กของเมียนมาด้วย”

นอกจากนี้ ทางการไทย และ สทนช. ต้องประสานขอความร่วมมือกับจีน เพื่อจัดการระดับน้ำในแม่น้ำโขงร่วมกันให้ได้ ซึ่งจะช่วยระบายน้ำจากแม่น้ำสายให้ไหลลงแม่น้ำโขงตอนล่างให้ได้ไวที่สุด

“ข้อเสนอทั้งหมดนี้ต้องเป็นความร่วมมือระดับประเทศ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแม่สายจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และมีความซับซ้อน” นักวิชาการจาก SEI ระบุ

“ดังนั้นการจัดการบริหารน้ำข้ามพรมแดนต้องเกิดขึ้น อุทกภัยมันไม่ได้เลือกหรอกว่าจะเกิดในไทยหรือเมียนมา เพราะน้ำมีหน้าที่ไหลจากที่สูงไปสู่ที่ราบตามกฎธรรมชาติ ผมจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องทบทวนตั้งแต่การวางผังเมืองไปจนถึงแผนยุทธศาสตร์เมืองแม่สาย ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะเกิดเหตุเช่นนี้ต่อไปอีก” ดร.ธนพลกล่าวทิ้งท้าย



เปิดต้นตอน้ำท่วม "แม่สาย" เหตุใดจึงรุนแรง [ไทยพีบีเอส : 11 กันยายน 2567 19:45 น.]

ไม่ใช่แค่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่น้ำท่วมรุนแรง แต่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ "เมียนมา" และ "ลาว" ก็ถูกน้ำท่วมเช่นกัน แต่มีคำถามว่า ระบบการแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ อ.แม่สาย มีประสิทธิภาพหรือไม่

พายุ โลกร้อน เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ทำให้ พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำฝนตกมากกว่า 200 มิลลิเมตร และยังมีอีกประเด็นคือ การรุกกล้ำแม่น้ำจนทำให้ทางระบายน้ำใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย หายไป

ปริมาณฝนที่ตกสะสมทั้งไทย และเมียนมา พื้นที่ต้นน้ำมาจากเทือกเขาขนาดใหญ่ในในรัฐฉาน และบริเวณสันปันน้ำทำให้แม่สายต้องรับศึกหนักเป็นพื้นที่รับมวลน้ำมหาศาลจากหุบเขาทั้งหมดลงมา และเวลานี้มวลน้ำสูงสุดในเมียนมา ยังไหลมาเติมใน "แม่สาย -แม่น้ำรวก" แม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างไทย-เมียนมายังไม่หมด ดังนั้น อ.แม่สาย ยังจะต้องเผชิญน้ำท่วม ในสถานการณ์วิกฤตไปอีก 1-2 วัน ก่อนน้ำจะค่อย ๆ ลดลง

ภาพจากดาวเทียม "จิสด้า " ข้อมูลวันที่ 11 ก.ย.2567 พบว่า น้ำจากฝั่งเมียนมา

ยังจ่อมาท่วมฝั่งไทยจำนวนมาก พื้นที่สีฟ้า คือ น้ำจากฝั่งเมียนมา จมน้ำ 4,791 ไร่ ส่วนสีแดง คือ น้ำใน อ.แม่สาย จมน้ำ 6,182 ไร่

ดังนั้นพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย น้ำล้นตลิ่งแล้ว ชุมชนรอบสนามบินเก็บของขึ้นที่อยู่อย่างน้อย 1 เมตร โดยเฉพาะพื้นลุ่มต่ำแม่น้ำกกปลายทางลงแม่น้ำโขง อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ คาดท่วมมิดหลังคาชั้น 1 เพราะแม่น้ำกกมีแนวโน้มสูงขึ้น ก่อนที่มวลนำทั้งหมดจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง

ทำไมน้ำท่วมสูงและระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้ล่าช้า หากดูระบบการระบายน้ำของของ อ.แม่สาย เวลานี้เปลี่ยนไปมาก เปรียบเทียบให้เห็นสภาพพื้นที่ 2 ฝั่ง ของ อ.แม่สาย และ เมียนมา เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาเทียบกับปัจจุบัน

โดยเฉพาะฝั่งแม่สาย เรียกว่าอยู่ในสภาวะล่อแหลม เพราะมีการขยายตัวของเมือง ทับทางระบายน้ำ รุกล้ำเข้าไปยัง "แม่น้ำสาย -แม่น้ำรวก" กั้นพรมแดนธรรมชาติไทย-เมียนมา ทำให้แคบลงอย่างเห็นได้ชัด บางจุดสามารถเดินข้ามได้ ลำน้ำแคบเพียง 7 เมตรเท่านั้น นี่จึงเป็นปัญหาที่ทำให้มีการ

วิเคราะห์ว่าทำให้ท่วมรุนแรงนอกจากภัยคุกคามธรรมชาติ

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมเพื่อนบ้านอย่างตอนเหนือประเทศลาว อีก 1 ในพื้นที่ติดกับสามเหลี่ยมทองคำ ก็วิกฤตไม่แพ้ไทย เวลานี้น้ำท่วมมิดหลังคาชั้น 2 ของตัวบ้าน โดยเฉพาะแขวงหลวงลำน้ำทา

ผู้ประสานงานช่วยเหลือน้ำท่วมชาวลาว ให้ข้อมูลว่า น้ำท่วมรุนแรงในรอบ 30 ปี จึงต้องขอความช่วยเหลือจากกู้ภัยไทย นำเรือเข้าไป อพยพชาวบ้านออกมา เพราะเขื่อนเร่งระบายน้ำ และไม่ได้มีการประกาศแจ้งเตือน จึงกลัวจะซ้ำรอยเหมือนกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก เมืองสนามไชย แขวงอัตตะปือ และต้องลำเลียง ความช่วยเหลือด้วยเฮลิคอปเตอร์เท่านั้น

สิ่งที่กำลังถูกถึงอย่างมาก คือ ระบบเตือนภัย ทั้งที่ "แม่สาย" เผชิญน้ำท่วมบ่อยมากถึง 8 ครั้งแล้ว ในปี 2567 มีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่นี้หรือไม่ ในเมื่อเป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก ทำไมจึงยังคงได้รับความสูญเสียอย่างหนัก ทั้งที่มีการแจ้งเตือนพายุล่วงหน้าหลายวัน



ฝนที่ตกหนักบริเวณประเทศพม่าทำให้มีมวลน้ำจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำรวกเข้าท่วมบริเวณ อ.แม่สาย


"จีสด้า" วิเคราะห์พื้นที่น้ำท่วมโดยใช้ภาพจากดาวเทียมเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2567 พบว่าน้ำจากฝั่งเมียนมา ยังจ่อมาท่วมฝั่งไทยจำนวนมาก พื้นที่สีฟ้า คือ น้ำจากฝั่งเมียนมา จมน้ำ 4,791 ไร่ ส่วนสีแดง คือ น้ำใน อ.แม่สาย จมน้ำ 6,182 ไร่


ภาพเปรียบเทียบสภาพพื้นที่ฝั่ง อ.แม่สาย และฝั่งพม่า ในปี 2547 และ 2567





น้ำท่วมเชียงราย-เชียงใหม่ หนักสุดรอบ 30 ปี ตายอย่างน้อย 4 สูญหาย 4 [ฺBenar News : 11 กันยายน 2567

สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 4 ราย และยังสูญหายอีก 4 ราย ปัจจุบัน หน่วยงานรัฐบาลระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าให้การช่วยเหลือ ชาวเชียงรายระบุว่า เป็นน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบอย่างน้อย 30 ปี

“ที่ผ่านมาไม่เคยท่วมขนาดนี้ ร้านค้า สำนักงานที่อยู่ใกล้ ๆ ด่านแม่สาย น้ำท่วมมิดของเสียหายหมด ขนของไม่ทัน เพราะชะล่าใจ ไม่คิดว่าจะท่วม ไม่เคยท่วมมาก่อน ครั้งนี้ ถือว่าน้ำสูงกว่า ท่วมเป็นวงกว้างมากกว่า น้ำท่วมใหญ่ปี 2535 ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเจอขนาดนี้” นายภาคภูมิ(สงวนนามสกุล) พนักงานบริษัท อายุ 40 ปี ชาวจังหวัดเชียงราย กล่าว

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลันและน้ำป่าในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม-11 กันยายน 2567 โดยเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ในจังหวัดเชียงราย ได้แก่ อ.แม่สาย อ.ขุนตาล และ อ.พญาเม็งราย รวม 4 ตำบล 27 หมู่บ้าน เบื้องต้น มีประชาชนได้รับผลกระทบ 1,276 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย

“วันนี้ ผมก็ไม่ได้ไปทำงาน เพราะเป็นผู้ประสบภัย ลูกค้าก็เป็นผู้ประสบภัยด้วยเหมือนกัน ตอนนี้ เจ้าหน้าที่ ปภ. กู้ภัย ก็ทำงานกันเต็มที่ มีพวกคนดัง อินฟลูเอนเซอร์ ลงมาในพื้นที่เร็วมาก ๆ ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้อย่างดี ก็หวังว่า น้ำจะลงเร็ว ๆ นี้” นายภาคภูมิ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ปภ. จังหวัดเชียงราย ระบุว่า พื้นที่ อ.แม่สาย เป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก มีบ้านเรือนประชาชน และร้านค้าเสียหายกว่า 175 แห่ง มีสะพานและถนน ถูกน้ำพัดทำลาย ดินถล่ม ตัดขาดการสัญจรไปมาของประชาชน

ด้าน นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เหตุดินถล่มหลังจากน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ บ.ดอนแหลม อ.แม่อาย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ยังสูญหายอีก 4 ราย โดยในจำนวนผู้ที่ยังสูญหายนั้นมีเด็กอายุ 5 เดือน และ 4 ปี รวมอยู่ด้วย

ปภ. ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม - 11 กันยายน 2567 มีน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และใต้ รวม 120 อำเภอ 535 ตำบล 2,844 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 83,501 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 30 ราย

ปัจจุบัน มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย และรถผลิตน้ำดื่ม และมีการเตรียมสนับสนุนถุงยังชีพแก่ประชาชนรวมแล้วกว่า 10,000 ชุดด้วย ด้าน น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กำลังติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนืออย่างใกล้ชิด

“พี่น้องประชาชนในภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ กำลังประสบภัยจากน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนมาก ขณะนี้ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้วนะคะ ขอส่งกำลังใจให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และส่งกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังค่ะ” น.ส. แพทองธาร ระบุผ่านเอ็กซ์

ทั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลจะประชุมร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือที่อาคารรัฐสภาในวันพฤหัสบดีนี้ เมื่อ น.ส. แพทองธาร แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้วโดยจะนับเป็นภารกิจแรกของนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ

ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า สธ. ได้บูรณาการความช่วยเหลือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการดูแลด้านสาธารณสุข

“พร้อมช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยให้ดำเนินการตามมาตรการหลักอย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด รวมถึงเน้นย้ำให้เตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์ให้เพียงพอ หากขาดเหลือให้รีบประสานมายังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจะได้ช่วยสนับสนุนส่งยาและเวชภัณฑ์ไปอย่างเร่งด่วน” นายสมศักดิ์ กล่าว

กรมชลประทาน ระบุว่า เขื่อนและประตูระบายน้ำยังคงอัตราระบายน้ำที่ 1,449 ลบ.ม./วินาที โดยขอให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา งดปลูกข้าวนาปี เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย โดยระบุว่า พื้นที่ที่มีปริมาณน้ำสะสมสูงที่สุดในรอบ 24 ชั่วโมง ประกอบด้วย 1. อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ 222.0 มม. 2. อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ปริมาณฝน 221.5 มม. และ 3. อ.แม่สาย จ.เชียงราย ปริมาณฝน 220.8 มม.

“ทราบว่าขณะนี้ในพื้นที่อำเภอแม่สาย มีสถานการณ์น้ำที่ค่อนข้างรุนแรง มีกรณีประชาชนติดบนหลังคาเจ้าหน้าที่ใช้เรือเข้าช่วยเหลือลำบาก ผมขอให้ส่วนงานของมหาดไทย เช่น ปภ. ที่มีอุปกรณ์เครื่องจักรที่เอื้ออำนวยพิจารณาเข้าช่วยเหลือ ประชาชนอย่างเต็มที่” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว

รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน


ระดับน้ำในพื้นที่ขัวเจ๊ทา อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มสูงขึ้นส่งผลต่อบ้านเรือน และถนนไม่สามารถใช้การสัญจรไปมาได้ วันที่ 11 กันยายน 2567

มวลน้ำจากแม่น้ำสายล้นตลิ่งเอ่อท่วมย่านการค้าชายแดนตลาดอำเภอแม่สาย สูงกว่า 1 เมตร ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย วันที่ 10 กันยายน (สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่)




4 วันน้ำท่วม "เชียงราย" กระทบ 51,353 ครัวเรือน เสียชีวิต 4 คน [ไทยพีบีเอส : 13 กันยายน 2567 14:12 น.

ปภ.เชียงรายเผยตัวเลข 4 วันน้ำท่วม-ดินถล่ม กระทบ 51,353 ครัวเรือนและมีผู้เสียชีวิต 4 คน พื้นที่ได้รับผลกระทบหนักสุด อ.แม่สาย-เมืองเชียงราย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.เชียงราย สรุปสถานการณ์น้ำท่วมและดินถล่มในพื้นที่ จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 9-12 ก.ย.2567 ซึ่งเป็นผลกระทบจากพายุ "ยางิ" ที่ทำให้ภาคเหนือมีฝนตกหนัก

สำหรับ จ.เชียงราย เกิดน้ำท่วมและดินถล่มใน 6 อำเภอ 25 ตำบล 125 หมู่บ้าน 1 เทศบาลนคร (22 ชุมชน) ตลาดชุมชนเศรษฐกิจ 2 แห่ง รวมถึงร้านค้า-สถานประกอบการ 92 แห่ง

เบื้องต้น ประชาชนได้รับผลกระทบ 51,353 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิต 4 คนและบาดเจ็บ 2 คน จากเหตุดินสไลด์ใน อ.แม่ฟ้าหลวง สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรุนแรงคือ อ.แม่สาย และ อ.เมืองเชียงราย

สธ.ส่งทีมปฏิบัติการฉุกเฉินช่วยผู้ประสบภัย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ทีมแพทย์จากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ จ.เชียงราย 21 คน ประกอบด้วย แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือกู้ชีพฉุกเฉิน และมีประสบการณ์ในการประเมินสถานการณ์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน

จุดแรกที่จะไปคือ ศูนย์พักพิงที่ตั้งขึ้นในวัดห้วยปลากั้ง อ.เมือง และหากมีการร้องขอก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือตามจุดต่าง ๆ

ส่วนเวชภัณฑ์ยาที่เตรียมไปส่วนใหญ่เป็นยาปฏิชีวนะมาตรฐานโรงพยาบาลที่นำส่งไปเสริมการดูแลประชาชน รวมทั้งยารักษาอาการที่มาจากน้ำ เช่น น้ำกัดเท้า โรคฉี่หนู ซึ่งในขบวนนี้ยังมีทีมกู้ชีพร่วมกตัญญู พร้อมอุปกรณ์และรถพยาบาลที่ร่วมไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ จ.เชียงราย ด้วย





น้ำป่าไหลหลาก!!! จุดบริเวณย่านชุมชน ม.พะเยา [ข่าวประชาสัมพันธ์ จ.พะเยา : 17 กันยายน 2567

พะเยาเตือนเหตุภัยพิบัติด่วน!!! Flash Flood น้ำป่าไหลหลาก วันนี้ 17 กันยายน พ.ศ. 2567 เวลา 04.00 น. ช่วงเช้าขณะนี้มีน้ำป่าไหลหลาก!!! จุดบริเวณย่านชุมชน ม.พะเยา ขอให้พื้นที่ใกล้เคียงดังกล่าวเตรียมตัวรับสถานการณ์ตอนนี้ทีมกู้ภัยพะเยากำลังระดมกำลังเข้าช่วยเหลือในพื้นที่

นิสิตที่หอพักได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลาก และต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน inbox UP Volunteer มาในเพจได้เลยนะคะ หรือโทรมาที่ 086-935-0782 พี่กระรอก หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการมหาวิทยาลัยพะเยาจิตอาสา

8.40 น. ย่าน ม.พะเยา ระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ใกล้สู่สภาวะปกติ มวลน้ำกำลังไหลลงสู่ลำน้ำแม่ต๋ำอำเภอเมือง เตรียมเฝ้าระวัง
















เปิดสาเหตุ 'แม่น้ำกก' ล้น ทำไมน้ำท่วมเชียงรายทั้งหนัก-กว้างขึ้น [ประชาไท : 20 กันยายน 2567

1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนใน อ.แม่สาย และ อ.เมืองเชียงราย เจอวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ อันเป็นผลพวงจากหางพายุ ‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำให้มีฝนตกหนักมากบริเวณต้นน้ำลำน้ำกกในฝั่งเมียนมา จนท่วมเข้าอำเภอเมืองเชียงรายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ถึงแม้ว่าระดับน้ำในตัวเมืองเชียงรายและแม่สายจะลดลง แต่สิ่งที่ไม่ได้ระบายไปพร้อมกับน้ำ คือคำถามว่าปัจจัยที่ทำให้น้ำท่วมเชียงรายครั้งนี้รุนแรงกว่าทุกครั้ง เพื่อนำมาสู่การป้องกันเหตุอุทกภัยในอนาคต

ประชาไทคุยกับ ‘มงคลกร ศรีวิชัย’ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโลโยลีมงคลล้านนา จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการจัดการน้ำและภัยพิบัติ เพื่อร่วมถอดบทเรียนว่า ‘การสร้างสิ่งปลูกสร้าง และพัฒนาเมืองเชียงราย’ กำลังเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้น้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งอื่นๆ หรือไม่ อย่างไร

บทเรียนแม่น้ำกอน

อาจารย์จากเชียงราย วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำท่วมครั้งนี้มาจากปริมาณฝนจำนวนมาก อันเป็นผลกระทบจากหางพายุไต้ฝุ่นยางิ และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ที่ภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำระเหยและกลั่นตัวกลายเป็นฝนปริมาณมากกว่าแต่ก่อน

หากถามว่าปัจจัยการพัฒนาเมืองเชียงราย มีผลทำให้น้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงขึ้นหรือไม่ อาจารย์ผู้อาศัยในเชียงรายมานานกว่า 40 ปี กล่าวว่า มีผลเหมือนกัน เนื่องจากการพัฒนาเมืองเชียงรายบริเวณรอบลำน้ำต่างๆ ส่งผลให้ทางน้ำแคบลง และทำให้พื้นที่รองรับน้ำลดลง

ก่อนหน้านี้ย้อนไปเมื่อปี 2537 เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่เชียงราย ปัญหาคือน้ำท่วมครั้งนั้นน้ำไม่ได้ล้นมาจากลำน้ำกก แต่มาจากลำน้ำกอน โดยหนึ่งในปัจจัยคือ มีโรงแรมมาสร้างในที่ดินริมตลิ่งของ 2 ฝั่งของลำน้ำกอน

ทำให้แม่น้ำแคบลงและรองรับปริมาณน้ำไม่ได้เท่าเดิม น้ำจึงเอ่อล้นเข้าท่วมตัวเมือง บทเรียนจากครั้งนั้นทำให้ทางการเชียงราย สร้างคลองผันน้ำกก-กอน เพื่อระบายน้ำไม่ให้ท่วมเขตตัวเมือง หรือเขตเศรษฐกิจ

การพัฒนาเมืองรอบลำน้ำกก มีผลต่อน้ำท่วม (?)

สำหรับน้ำท่วมครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ มองว่า เนื่องจากมวลน้ำขนาดใหญ่ไหลจากพม่าเข้ามาที่เชียงราย พอผ่านลำน้ำกก ซึ่งแต่เดิมรอบๆ ลำน้ำเป็นเรือกสวนไร่นา และเป็นพื้นที่รองรับน้ำ แต่ถูกประชาชนและรัฐเข้าไปใช้ประโยชน์มากขึ้น มีการถมที่สร้างสถานที่พักผ่อน โรงแรม ศูนย์ราชการ และอื่นๆ ส่งผลให้ลำน้ำแคบลงมาก

ปัจจัยที่ 2 คือการขยายเมือง การสร้างสนามบิน ถนนบายพาส หรือการสร้างบ้านจัดสรรต่างๆ ปัญหาที่เจอบ่อยๆ คือน้ำระบายไม่ทัน นอกจากนี้ เวลาน้ำหลากจากแม่น้ำหรือพื้นที่ป่า จะมาพร้อมกับดินตะกอนหรือโคลน ซึ่งจะไปอุดตันท่อระบายน้ำ ทำให้ระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพจากก่อนหน้านี้ที่เคยรับปริมาณน้ำฝน 30-40 มิลลิลิตร (มล.) ได้สบายๆ ก็ระบายไม่ได้

พื้นที่ห่าง ‘ลำน้ำกก’ ยังไม่รอด

“พื้นที่น้ำท่วมปีนี้เปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะเพราะว่าน้ำท่วมไหลบ่ามาไกล พื้นที่ที่เราคิดว่าไกลจากน้ำกก และปลอดภัย ต่อไปจะไม่ปลอดภัย”

มงคลกร อธิบายว่า เขาอาศัยที่บ้านดู่ ใน อ.เมือง ซึ่งห่างจากแม่น้ำกก ประมาณ 4-5 กม. ปกติคนที่บ้านดู่ ถ้าน้ำจะท่วม เขาจะสังเกตปริมาณน้ำที่น้ำตกโป่งพระบาท ถ้าน้ำที่โปร่งพระบาทเยอะ แสดงว่าต้องรีบเตรียมตัวรับน้ำท่วมแล้ว แต่ครั้งนี้เขาไม่เคยเจอสถานการณ์ที่น้ำล้นตลิ่งจากลำน้ำกก แล้วท่วมไกลถึงตำบลนางแล จ.เชียงราย

อาจารย์มงคลกร กล่าวเพิ่มว่า ปกติแม่น้ำกกมีความเสี่ยงจะล้นตลิ่ง ประมาณ 3-4 ปีจะมีสักครั้งหนึ่ง เพราะว่าแม่น้ำมีตลิ่งสูง

ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำปกติ 2.8 เมตร ในฤดูน้ำหลากเจ้าหน้าที่จะทำคันดินด้วย แต่ปีนี้น้ำมาเกินพิกัดมากจริงๆ

“พ่อผมอายุ 75 ปี บอกว่าตั้งแต่เขาเล็กจนโตเขายังไม่เคยเห็นน้ำท่วม (อ.เมือง) เชียงราย แล้วลามมาถึงนางแลได้เลย นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของเขา” ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ กล่าว

ทุกที่จะเผชิญความเสี่ยงเดียวกัน

ต่อไปทุกที่จะเผชิญความเสี่ยงจากอุทกภัยแบบเชียงรายมากขึ้น เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ เสนอว่า เราต้ององค์ความรู้ให้ประชาชนมากขึ้น และการสื่อสารการเตือนภัยที่เข้าใจง่าย เพื่อลดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนได้

"ตอนนี้เชียงรายเละมาก น้ำท่วมหมดเลย รถยนต์ดีๆ รถมอเตอร์ไซค์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านเหล้า ถ้าหากเรามีระบบการจัดการที่ดี หรือการเตือนภัยที่ดี ประชาชนสามารถรู้ข้อมูลต่างๆ และย้ายของไปยังจุดที่ปลอดภัย ความเสียหายตรงนี้จะไม่เกิด หลายคนตอนนี้ได้รับผลกระทบทางใจ เป็นภาวะซึมเศร้า" อาจารย์มงคลกร กล่าว

ข้อเสนอของอาจารย์มงคลกร เขาอยากฝากบอกถึงภาครัฐว่า ประชาชนฝากความหวังไว้กับพวกเขามาก อยากให้การพัฒนาเมืองควบคู่กับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะเส้นทางน้ำ ผังน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำหรือพื้นที่แก้มลิง หรือเมื่อก่อนเชียงรายมีหนองบัวเยอะมาก แต่ตอนนี้ลดลงไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราต้องหาทางรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้ไว้

“เราอยากให้เศรษฐกิจเราดีขึ้น ทุกคนเข้าใจ แต่เราจะพัฒนาอย่างไรที่จะไม่ส่งผลกระทบเหมือนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เชียงรายนี้ และเราจะพัฒนาเมืองที่จะส่งต่อให้คนรุ่นหลังอย่างไร เพราะลูกหลานคนเชียงรายจะอยู่ในพื้นที่เชียงรายต่อ” มงคลกร ทิ้งท้าย

ภาพแม่น้ำกก ปี 2567


ภาพแม่น้ำกก ปี 2545


ภาพแม่น้ำกก ปี 2567


ภาพแม่น้ำกก ปี 2545


ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมพะเยา ก.ย. 2567




ถอดบทเรียน ป่าเปลี่ยนไป น้ำท่วมแม่สาย น้ำท่วมเชียงราย โคลนจำนวนมาก มาจากไหน [กรุงเทพธุรกิจ : 2 ตุลาคม 2567 19:28 น.]

ถอดบทเรียน "น้ำท่วมแม่สาย" น้ำท่วมเชียงราย โคลนจำนวนมาก มาจากไหน? ฝนตกหนัก เหนือพื้นที่รับน้ำแม่น้ำสาย - แม่น้ำกก ไหลล้นตลิ่งเข้าท่วม เปิดหลักฐานภาพดาวเทียม ดินถล่ม พื้นที่ต้นน้ำ เปลี่ยนป่า เป็นพื้นที่เกษตรกรรม เหมืองแร่ การชะลอน้ำลดลง ต่อจากนี้ จะอยู่กับธรรมชาติยังไง

ภาคเหนือ "น้ำท่วม 2567" ถอดบทเรียน "น้ำท่วมแม่สาย" น้ำท่วมเชียงราย โคลนจำนวนมาก มาจากไหน? ฝนตกหนักต่อเนื่องเหนือพื้นที่รับน้ำของแม่น้ำสาย - แม่น้ำกก ไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมหลายพื้นที่

เปิดหลักฐานภาพมุมสูง ภาพดาวเทียม ดินถล่มหลายจุด พื้นที่ต้นน้ำแม่สาย เปลี่ยนจากป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เหมืองแร่ ทำให้ศักยภาพของป่าไม้การชะลอและกักเก็บน้ำลดลง ต่อจากนี้ สร้างความตระหนักรู้ เราจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติยังไง

เฟซบุ๊ก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) ตั้งคำถาม น้ำท่วมแม่สาย โคลนจำนวนมาก มาจากไหน?

พร้อมเปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักมากกว่าปกติในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีนี้ ทำให้ดินตามภูเขาค่อยๆสะสมน้ำมาเรื่อยๆ

จนกระทั้งวันที่ 8 กันยายน 2567 เกิดฝนตกหนักติดต่อกันต่อเนื่องเหนือพื้นที่รับน้ำของแม่น้ำสายและแม่น้ำกก ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้นและไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย

โดยเฉพาะที่อำเภอแม่สาย ที่ก่อนหน้านี้เกิดน้ำท่วมในตัวเมืองแล้ว 6 ครั้งในปี 2567 และครั้งล่าสุดช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีน้ำป่าไหลทะลักลงตามแม่น้ำสาย

ทำให้บ้านเรือนร้านค้า ตลาดสด พื้นที่เกษตรที่ติดลำน้ำสาย ได้รับความเสียหายอย่างหนัก

ปัจจุบันแม้น้ำท่วมผ่านไปแล้วแต่ชาวบ้านบางพื้นที่ยังเข้าบ้านไม่ได้เพราะปัญหาตะกอนดินโคลนทับทมจำนวนมากที่น้ำท่วมได้ทิ้งไว้

มีรายงานว่าน้ำที่ไหลลงมาตามลำน้ำสายมีทั้งเศษไม้ ขอนไม้ สิ่งปฏิกูล ไหลลงมาด้วย แต่ทว่าเมื่อน้ำลดลงปรากฏตะกอนโคลนและดินเป็นจำนวนมากตกค้างอยู่ตามสถานที่ต่างๆ บ้านเรือนของประชาชน ใกล้กับแม่น้ำสายโดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่บริเวณเชิงเขา ที่บางจุดมีดินโคลนทับถมสูงกว่า 2 เมตร



สภาพลักษณะ ภูมิประเทศของเมืองแม่สาย จังหวัดเชียงราย

หากพิจารณาในเชิงภูมิศาสตร์ ตัวเมืองแม่สายตั้งอยู่ติดกับเชิงเขาและติดกับแม่น้ำที่ไหลมาจากเขตภูเขา ในขณะเดียวกันการศึกษาด้านธรณีวิทยาพบว่าพื้นที่บริเวณตัวเมืองเเม่สาย

โดยเฉพาะสองฝั่งแม่น้ำสายที่ใกล้กับด่านชายแดนไทย-เมียนมา เป็นพื้นที่ที่มีดินตะกอนไหลทับถมสะสมมาตั้งแต่อดีต

ด้วยที่ตั้งของเมืองและลักษณะภูมิประเทศทำให้น้ำที่หลากลงมาจากต้นน้ำของแม่น้ำสาย มีความเชี่ยวและแรงโดยธรรมชาติ

โดยแม่น้ำสายทอดตัวในเขตภูเขาที่เป็นพื้นรับน้ำลงสู่แม่น้ำซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตประเทศเมียนมาประมาณ 80% และอีก 20% เท่านั้นที่ทอดยาวอยู่ในพื้นราบลุ่มในเขตแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก

ในสภาวะปกติลักษณภูมิประเทศแบบนี้มักจะนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่พื้นที่ ด้วยแร่ธาตุต่างๆที่ปะปนมากับตะกอนในแม่น้ำ แต่ทว่าบริบทการใช้ชีวิตของมนุษย์ในทุกวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก

การสำรวจโดยนักวิชาการไทยพบว่า ปัจจุบันพื้นที่ต้นน้ำแม่สายได้เปลี่ยนจากป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงเหมืองแร่จำนวนหลายจุดด้วยกัน ทำให้ศักยภาพของป่าไม้การชะลอและกักเก็บน้ำลดลงไปด้วย

เปิดหลักฐานบนภาพดาวเทียม พื้นที่รับน้ำทั้งหมดของแม่น้ำสาย ดินถล่มหลายจุด

หลักฐานปรากฏชัดเจนด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียมรายละเอียดสูง บันทึกภาพเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ใกล้ชายแดนประเทศเมียนมา ในเขตอำเภอแม่สาย

ซึ่งเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของพื้นที่รับน้ำทั้งหมดของแม่น้ำสาย พบดินถล่มหลายจุดปรากฏเป็นสีน้ำตาลแดง ตัดกับสีเขียวของป่าไม้หรือแปลงเกษตรอย่างเห็นได้ชัด

แต่ละร่องรอยมีความกว้างประมาณ 20 – 30 เมตร หรือเทียบเท่ากับถนนขนาด 4 เลน และมีความยาวหลายสิบเมตรถึงหลายร้อยเมตร แตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นที่ ซึ่งภาพนี้สะท้อนให้เห็นถึงหนึ่งในสาเหตุของตะกอนดินโคลนจำนวนมากที่ไหลทับถมในพื้นที่ด้านล่าง


ถอดบทเรียน "น้ำท่วมแม่สาย" จังหวัดเชียงราย

ทุกๆความสูญเสียมักก่อให้เกิดประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อการอยู่รอด ภาพถ่ายจากดาวเทียมเป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้เกิดความเข้าใจภาพรวม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการนำไปปรับใช้ ต่อยอดสู่การจัดการที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้นข้อมูลภูมิสารสนเทศยังทำให้รู้ว่ายังมีอีกหลายหมู่บ้านในประเทศไทย ที่มี

ความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นที่แม่สาย และในอดีตก็เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยมาแล้วหลายครั้ง

ดังนั้นการตระหนักรับรู้ความเสี่ยงในพื้นที่ของตนและปรับตัวตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้

ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายที่กำลังจะผ่านพ้นไป ถูกแทนที่ด้วยภาพแห่งความร่วมมือและน้ำใจจากทั่วทุกสารทิศกำลังไหลมาแทนที่

เพื่อส่งต่อกำลังใจให้พี่น้องผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและพื้นที่อื่นๆ ทางทีมงานก็ขอเป็นกำลังใจให้กับคนในพื้นที่ฟื้นคืนกลับมาได้โดยเร็ว

อ้างอิง-ภาพ : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) , กอบภัค พรหมเรขา , NationPhotoอ้างอิง-ภาพ : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) , กอบภัค พรหมเรขา , NationPhoto