ข่าวน้ำท่วม


น้ำท่วมตราดอ่วม 3 อำเภอ น้ำป่าทะลักฟาร์มหมู-เล้าไก่ตายอื้อ [ThaiPBS : 29 ก.ค. 2567 11.20 น.]

น้ำท่วม 3 อำเภอ ของ จ.ตราด อ่วมรอบหลายสิบปี ถนนตัดขาด ชาวบ้านติดเกาะรอช่วยเหลือ ขณะที่น้ำป่าทะลักท่วมฟาร์มเลี้ยงหมู และ เล้าไก่ ตายจำนวนมาก

วันนี้ (29 ก.ค.2567) สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ตราด ยังไม่คลี่คลาย หลังฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน โดยเมื่อวานนี้ (28 ก.ค.) ระดับน้ำไหลบ่ามาจาก อ.บ่อไร่ ไปยัง อ.เขาสมิง และ อ.เมืองตราด ทำให้ถนนสายต่างๆ ถูกตัดขาดไม่สามารถสัญจรไปมาได้ โดยจุดแรกคือ ต.สะตอ อ.เขาสมิง ที่รับน้ำมาจาก อ.บ่อไร่ โดยน้ำไหลมาจากคลองบ่อไร่ ไปรวมกับน้ำที่ไหลมาจากเขื่อนคีรีธาร มาลงคลองสะตอ และคลองสะตอน้อย เข้าท่วม ต.สะตอ ทั้งตำบล 9 หมู่บ้าน

โดยท่วมหนักสุดคือ หมู่ 7 บ้านทุ่งกระบอก และท่วมถนนซอยตามหมู่บ้านต่างๆ ทำให้ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ชาวบ้านถูกน้ำปิดล้อมติดเกาะ แม้แต่ถนนสายหลัก บ่อไร่-สะตอ-แสนตุ้ง ก็ถูกน้ำท่วมสูง ตัดขาด ชาวบ้านต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางบ่อไร่-ด่านชุมพล-บ้านท่าประดู่-ตัวเมืองตราดแทน

ส่วนเส้นทางสายบ่อไร่-สระใหญ่-วังตะเคียน-เขาสมิง น้ำท่วมถนนช่วงบ้านฆ้อ หมู่ 2 ต.วังตะเคียน ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนรถไม่สามารถแล่นผ่านไปมาได้แล้ว และที่บ้านห้วยแร้ง หมู่ 2 ต.ห้วยแร้ง อ.เมืองตราด ระดับน้ำท่วมสูง ชาวบ้านหลายครอบครัวติด เกาะ เจ้าหน้าที่ต้องเข้าช่วยอพยพคนชรา คนพิการออกมาจากบ้าน ไปพักบ้านญาติที่อยู่บนที่สูงแทน

ซึ่งวันนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมชาวบ้าน ร่วมกันเดินทางไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ติดเกาะ ด้วยการนำถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ไปมอบให้ชาวบ้าน หลายหมู่บ้าน ใน ต.สะตอ เพราะไม่สามารถออกมานอกบ้านได้

ขณะรายงานข่าว เจ้าหน้าที่ยังคงตระเวนเข้าไปตามหมู่บ้านเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านติดเกาะอยู่ สำหรับน้ำท่วมครั้งนี้ ระดับน้ำจะเริ่มลดลงใน อ.บ่อไร่ และมาเพิ่มสูงขึ้นใน อ.เขาสมิง และ อ.เมืองตราด ซึ่งปีนี้น้ำขยายมากขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมาพื้นที่ได้รับผลกระทบมากขึ้นในรอบหลายสิบปี

น้ำป่าทะลักท่วมฟาร์มเลี้ยงหมู
เหตุฝนตกต่อเนื่องหลายวัน ทำน้ำป่าทะลักท่วมฟาร์มเลี้ยงหมูที่บ้านคลองขุด ม.2 ต.ห้วยแร้ง อ.เมือง จ.ตราด ชื่อศักดิ์รินทร์ฟาร์ม โดยพนักงานของฟาร์มช่วยกันต้อนหมูออกจากฟาร์ม เป็นหมูอายุ 2 เดือนเศษ จำนวน 1,200 ตัว และมีหมูตายลอยน้ำไปแล้วกว่าสิบตัว ส่วนหมูในฟาร์มที่เหลือต่างว่ายน้ำตะเกียกตะกายดิ้นรนหนีน้ำกันจ้าละหวั่น หมูหลายตัวสำลักน้ำส่งเสียงร้องดังลั่น หมูที่ออกมาจากฟาร์มได้ก็พยายามว่ายน้ำหนี พนักงานต้องช่วยกันนำผ้ามาปิดกั้นเพื่อให้หมูไปอยู่รวมกันก่อนขนหมูขึ้นรถยนต์ขนย้ายไปไว้ที่สูงก่อน

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่กักกันสัตว์ จ.ตราด และปศุสัตว์ จ.ตราด ได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือ เดินทางลงพื้นที่ช่วยเหลือแล้ว พร้อมขอกำลังเจ้าหน้าที่ทหารจาก ฉก.นย.ตราด รุดมาช่วยเหลือในเวลาต่อมา ขณะรายงานข่าวรถบรรทุก 2 คัน มาถึงฟาร์มแล้ว และทยอยขนย้ายหมูทั้งหมดไปไว้ฟาร์มอื่นก่อน โดยเจ้าหน้าที่บอกว่าหมูทั้งหมดจะนำไปไว้ในฟาร์มในเครือของบริษัทที่วังน้ำเย็น จ.สระแก้วก่อน และจะต้องสำรวจว่าหมูตายไปกี่ตัว หรือมีอาการอื่นใดด้วยหรือไม่

ขณะพนักงานของฟาร์ม บอกว่าฝนตกหนักหลายวันจนน้ำเอ่อเข้าท่วมฟาร์มเมื่อช่วงเช้ามืด จึงพยายามติดต่อขอความช่วยเหลือไปทางท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ ส่วนพนักงานในฟาร์มไม่สามารถทำอะไรได้เพราะหมูจำนวนมากและตัดสินใจอะไรไม่ได้ จนสุดท้าย

เจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือในครั้งนี้ ซึ่งฟาร์มหมูตั้งอยู่ใกล้ลำคลองห้วยแร้ง ห่างกันไม่กี่ร้อยเมตร แต่เป็นที่ลุ่ม จึงทำให้น้ำท่วมฟาร์มในครั้งนี้ดังกล่าว

น้ำท่วมเล้าไก่ ตายจำนวนมาก
ในพื้นที่ หมู่ 5.บ้านตางาม ต.บ่อพลอย อ.บ่อไร่ จ.ตราด เกิดเหตุน้ำท่วมเล้าไก่ เป็นไก่เนื้อที่ใกล้จับส่งขายได้แล้ว ถูกน้ำท่วมตายเป็นจำนวนมาก ส่วนไก่ที่ยังไม่ตายก็รอจะขนย้ายออกไปอยู่ที่อื่นแทน เบื้องต้นต้องช่วยกันขนซากไก่ออกจากเล้าขึ้นไปไว้ที่สูง และรอว่าจะทำอย่างไรกับไก่ที่ตายไปแล้ว ขณะเดียวกันก็แจ้งไปยังปศุสัตว์ อ.บ่อไร่ และปศุสัตว์จังหวัดตราดแล้ว ซึ่งขณะนี้กำลังติดภารกิจช่วยฟาร์มหมูถูกน้ำท่วมถึง 2 ฟาร์มด้วยกันที่ ต.ห้วยแร้ง อ.เมืองตราด

นายภิภพ เจ้าของฟาร์มเล่าว่า เลี้ยงไก่มานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยเมื่อวันที่ 27 ก.ค. เวลา 20.00 น. ได้เกิดฝนตกหนักและมีน้ำป่าไหลท่วมทะลักจากคลองตางาม เข้ามาท่วมเล้าไก่ประมาณ 70 เซนติเมตร จึงทำให้ไก่จำนวน 40,000 ตัว ทยอยตายไปเรื่อยๆ ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราเป็นช่วงกลางคืน แจ้งไปทางบริษัทแล้วแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ จนรุ่งเช้ามาตรวจสอบอีกทีพบว่าไก่ในเล้าตายไปเป็นจำนวนมากดังกล่าว

นายภิภพ บอกว่าตนเองรับจ้างบริษัทเลี้ยงไก่ดังกล่าวมานาน ไม่เคยมีปัญหา แต่ปีนี้ฝนตกหนัก และน้ำป่ามาเร็วมาก ไม่ทันระวังและป้องกัน สุดท้ายน้ำท่วมเล้าไก่จนทำให้ไก่ตายไปเป็นจำนวนมาก










สนทช.เกาะติดน้ำท่วม จันทบุรี-ตราด คาด 3 วันข้างหน้าตกซ้ำ ทำปริมาณน้ำทรงตัว3-7 วัน [มติชนออนไลน์ : 29 ก.ค. 2567 23.30 น.]

สทนช. ลงพื้นที่ประสานทุกหน่วยเกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมจันทบุรี-ตราด จัดรถโมบายบริการข้อมูลแจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์

สทนช. ใช้กลไกศูนย์ส่วนหน้า (ชั่วคราว) บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยพื้นที่จันทบุรี-ตราด จัดรถ โมบายให้บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำสำหรับประชาชนในพื้นที่ คาดการณ์ปริมาณฝนและระดับน้ำจะยังทรงตัว 3-7 วัน เตือนประชาชนเปิดรับข้อมูลข่าวสารเตรียมพร้อมรับมือตลอดเวลา

นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะโฆษก สทนช. เปิดเผยว่า เนื่องจากเกิดร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง

โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออก ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจักรพงษ์ แสงมณี) ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยทั่วประเทศ และมีความเป็นห่วงประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก จึงได้สั่งการให้ สทนช. ลงพื้นที่ จ. จันทบุรี และ จ. ตราด เพื่อใช้กลไกศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ที่ได้จัดตั้งขึ้นที่ จ. ระยอง บูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่เพื่อระดมสรรพากำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยโดยเร็ว

สำหรับพื้นที่จ.จันทบุรี นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประจำการอยู่ในพื้นที่และได้นำรถโมบาย หน่วยติดตามสถานการณ์น้ำเคลื่อนที่ของ สทนช. ที่สามารถติดตาม

รายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำได้เป็นรายชั่วโมงไปประจำการที่วัดจันทนาราม จ. จันทบุรี เพื่อให้บริการข้อมูลและแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วย

สำหรับสรุปสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ. จันทบุรี พบว่าในช่วง 3 วันที่ผ่านมา มีฝนตกหนักที่ อ.มะขาม มีปริมาณฝนวัดได้ 339 มิลลิเมตร และ อ.ขลุง ปริมาณฝน 330 มิลลิเมตร ทำให้ในวันนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่านตัวเมืองจันทบุรี ปริมาณ 450 ลบ.ม./วินาที

โดยปริมาณน้ำส่วนหนึ่งได้ระบายผ่านคลองภักดีรำไพฯ ในอัตรา 400 ลบ.ม./วินาที ทำให้ขณะนี้ ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองเริ่มทรงตัว แต่ก็อาจมีปริมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากคาดว่าจะมีน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงค่ำของวันนี้ ทำให้ระดับน้ำอาจเพิ่มขึ้น 20 – 30 เซนติเมตร แต่ก็จะเริ่มลดระดับลงในช่วง 03.00 น. ของวันพรุ่งนี้ (30 ก.ค. 67)

ทั้งนี้ จากการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานในพื้นที่ พบว่ายังสามารถรองรับระดับน้ำในแม่น้ำจันทบุรีที่เพิ่มขึ้นได้อีกถึง 40 เซนติเมตร โดยจากนี้ไปถึงเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันนี้ ปริมาณน้ำจะเริ่มสูงขึ้น และหลังจากนั้นจะปรับลดลง จึงขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สำหรับการคาดการณ์ฝนล่วงหน้า 3 วันต่อจากนี้ คาดว่าว่าจะมีฝนตกในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีระหว่างวันที่ 29 – 31 ก.ค. 67 ปริมาณฝนอยู่ในเกณฑ์ 200 – 250 มิลลิเมตร โดยจะตกซ้ำในพื้นที่ อ.มะขาม และ อ.ขลุง และตกหนักเพิ่มเติมที่ อ.เขาคิชฌกูฏ อ.เมืองจันทบุรี และ อ.แหลมสิงห์ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำจันทบุรียังคงทรงตัวอยู่ในระดับนี้ต่อไปอีก 3 – 7 วัน

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำที่ จ.ตราด นั้น สถานการณ์ฝนปัจจุบัน มีปริมาณฝนในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมมา ที่ อ.บ่อไร่ 71.8 มิลลิเมตร อ.เกาะช้าง 67.5 มิลลิเมตร อ.แหลมงอบ

47.0 มิลลิเมตร อ.คลองใหญ่ 43.6 มิลลิเมตร และอ.เมืองตราด 44.6 มิลลิเมตร ส่งผลกระทบไปในพื้นที่ อ.คลองใหญ่ (ต.ไม้รูด และหาดเล็ก) อ.เขาสมิง

(ต.สะตอ เทพนิมิตและประณีต) อ.บ่อไร่ (ต.บ่อพลอย นนทรีย์ ช้างทูน หนองบอน และด่านชุมพล) อ.เมืองตราด (ต.หนองคันทรง ห้วยแร้ง วังกระแจะ หนองโสน และท่ากุ่ม) ส่งผลกระทบบ้านเรือนประชาชน 304 ครัวเรือน สถานที่ราชการ 3 แห่ง เรือล่ม 5 ลำ ทางหลวงถูกน้ำท่วม 5 แห่ง ได้แก่ 1) ทางหลวงหมายเลข 3159 (เขาสมิง – นทรีย์) 2) ทางหลวงหมายเลข 3157 (แสนตุ้ง – หนองบัว) 3) ทางหลวงหมายเลข 3158 (แสนตุ้ง – หนองบัว) 4) ทางหลวงหมายเลข 3388 (บ้านโป่ง – บ่อไร่) 5) ทางหลวงหมายเลข 3388 (บ้านโป่ง – บ่อไร่)

“สำหรับการเข้าช่วยเหลือในพื้นที่รับผลกระทบของ จ.ตราด นั้น ศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ได้จัดรถโมบายหน่วยติดตามสถานการณ์น้ำเคลื่อนที่เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำให้แก่ประชาชนในพื้นที่ อ.เขาสมิง กรมชลประทานได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดพร้อมเข้าให้การช่วยเหลือในพื้นที่ให้เร็วที่สุด

โดยมีการประสานหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าดูแลให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ในพื้นที่อุทกภัยด้วยการนำถุงชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ไปมอบให้และดำเนินการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดย สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยังคงเกาะติดสถานการณ์เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาอุทกภัย และลดผลประทบที่อาจเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด” โฆษก สทนช. กล่าวในตอนท้าย






ไขคำตอบ "น้ำท่วมตราด" ฝนตกมาราธอนสะสม 3,086 มม. [ThaiPBS : 30 ก.ค. 2567 10.54 น.]

ไขคำตอบ "น้ำท่วมตราด" ฝนตกมาราธอนนับสัปดาห์ฝนสะสม 3,086 มม.สูงกว่าค่าเฉลี่ย 15% และสถิติสูงกว่าปี 2554 ส่วนสถานีต่อไปภาคเหนือ ภาคกลางจ่อฝนตกหนักจากร่องมรสุม ”พัชรวาท“ สั่งเจ้าหน้าที่ช่วยชาวบ้าน

วันนี้ (30 ก.ค.2567) สถานการณ์ฝนตกหนักน้ำท่วม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่าน และลมมรสุมตะวันเฉียงใต้กำลังแรงในทะเลอันดามันและอ่าวไทย กรมชลประทาน รายงานว่ามี 12 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ พิษณุโลก ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี จันทบุรี ตราด พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์

ฝนถล่มตราด-จันทบุรีมาราธอนนับสัปดาห์
นายสมควร ต้นจาน ผอ.กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ปริมาณฝนเฉลี่ยปี 2567 ภาพรวมทั้งประเทศในช่วงเวลาเดี่ยวกันของเดือนก.ค.ยังต่ำกว่าค่าปกติ 9% โดยมีปริมาณฝนสะสม 654 มม.หากเทียบกับค่าปกติ 808 มม.ส่วนปี 2566 ปริมาณ 601 มม

นายสมควร กล่าวว่า แต่พบว่าในภาคตะวันออกที่มีปริมาณฝนตกสะสมมากกว่าค่าเฉลี่ย 2 เท่า เช่น สถานีคลองใหญ่ จ.ตราด ข้อมูลฝนสะสมถึงวันที่ 28 ก.ค.สูงถึง 3,086 มม.มากกว่าปี 2566 ปริมาณฝนสะสมเพียง 1,401 มม.และมากกว่าปี 2554 ปริมาณฝนสะสม 2,596 มม.เรียกว่าฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ย 15% ทำให้หลายพื้นที่น้ำท่วมมาตลอดช่วงสัปดาห์

"สถิติฝนตกที่ตกสะสมในตราด เพียงจังหวัดเดียวของปีนี้มากกว่าค่าเฉี่ย 15% ฝนตกสะสม 3,086 มม.จากค่าปกคิ 2,600 มม.โดยพบฝนตกหนักต่อเนื่องช่วงวันที่ 17-18 ก.ค.นี้ปริมาณกว่า 300 มม.จากนั้นยังตกหนักกว่า 100 มม.เป็นสัปดาห์"

ผอ.กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวอีกว่า ส่วนที่จันทบุรี ปริมาณฝนตกสะสม 1,778 มม.จากค่าปกติ 1,508 มม.สูงกว่าปี 2566 ฝนตกสะสม 1,687 มม.หรือสูงกว่า 7%

"ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องนานนับสัปดาห์ ในตราด-จันทบุรีมาจากร่องมรสุม และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ยังไม่ใช่อิทธิพลฝนจากพายุ ซึ่งพบว่าตกหนักต่อเนื่อง สลับเบา และคาดว่าภายใน 1-2 วันฝนจะเบาลง"

ขณะที่ในช่วงสัปดาห์นี้ ร่องฝนที่ขยับและขอบมวลอากาศเย็น จะทำให้ฝนจะกระจุกตัวแถวภาคเหนือ ภาคกลาง เพราะมีตัวแนวร่องฝน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนภาคอีสานด้านตะวันตกฝนยังไม่มาก ยังรับน้ำฝนได้อีก

ทั้งนี้ฤดูฝนของไทยในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.ซึ่งเป็นช่วงพีคของฤดูฝน แม้ภาพรวมฝนยังน้อยกว่าค่าปกติ แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ เพราะปัจจัยจากสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้น และสภาวะกลางของลานิญา

อุทยานฯ ระดมจนท.เข้าช่วยผู้ประสบภัย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สั่งการด่วนระดมกำลังเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม

โดยเมื่อวานนี้ (29 ก.ค.) เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว จัดกำลังลงพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ในท้องที่ ต.ตะสอ อ.เขาสมิง จ.ตราด ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐจากทุกภาคส่วน

ส่วนพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี นายสาคร สืบสาย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค จัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าให้การช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมเช่นกัน

ทั้งนี้ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งช มอบหมายให้สำนักพื้นที่อนุรักษ์ทุกสำนักทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ในสังกัด เข้าให้การช่วยเหลือประชาชน หากเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม ต้นไม้ล้มทับบ้านเรือน สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง

มวลน้ำไหลผ่านเขตเศรษฐกิจจันทบุรี วันเดียวกันเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี นำธงแดง มาติดไว้ที่สะพานแม่น้ำจันทบุรี บริเวณวัดจันทนาราม ต.จันทนิมิตร อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนระวังสูงสุด เพราะระดับน้ำในแม่น้ำจันทบุรีใกล้ถึงจุดวิกฤตแล้ว กับพร้อมแจ้งเตือนประชาชนชุมชนริมน้ำจันทบูร นำสิ่งของขึ้นที่สูงและเคลื่อนย้ายรถยนต์

บ้านไม้ชุมชนริมน้ำจันทบุรีหลายหลัง ทยอยนำสิ่งของขึ้นที่สูง เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม แต่ชาวบ้านมองว่า ปีนี้น้ำไม่น่าจะไหลท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ เพราะเริ่มทรงตัวแล้ว

นอกจากนี้มวลน้ำจาก อ.มะขาม จ.จันทบุรี คาดว่าจะผ่านตัวเมืองจันทบุรี ไปแล้วเมื่อคืน แต่ไม่ล้นตลิ่ง

นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผอ.ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประเมินว่า น้ำจากตอนบนของลุ่มน้ำมาถึงตัวเมืองจันทบุรี แต่ระดับน้ำลดลง เพราะไม่มีน้ำทะเลหนุน ทำให้การระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยเป็นไปได้ดี เห็นได้จากกระแสน้ำในแม่น้ำจันทบุรีที่ไหลเร็วและแรง















สรุปสถานการณ์ท่วมจันทบุรีระหว่าง 27 ก.ค.-2 ส.ค. [มติชนออนไลน์ : 2 ส.ค. 2567 10.15 น.]

สรุปสถานการณ์ท่วมจันทบุรีระหว่าง 27 ก.ค.-2 ส.ค.

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดจันทบุรี รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2567 ดังนี้

เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 8 อำเภอ 34 ตำบล 209 หมู่บ้าน 7 ชุมชน 6,050 ครัวเรือน ผู้ประสบภัย 14,855 คน พื้นที่การเกษตรเสียหายเบื้องต้น 20,545 ไร่ ทุเรียนเล็ก 500 ต้น (อำเภอเมือง, มะขาม, ขลุง, โป่งน้ำร้อน, ท่าใหม่, นายายอาม, เขาคิชฌกูฏ, แก่งหางแมว)

วันนี้(2 สิงหาคม) เวลา 05.00 น. ในช่วงคืนที่ผ่านมา มีฝนตกในบางพื้นที่ปานกลาง ระดับน้ำในพื้นที่ส่วนใหญ่ลดลง

ลุ่มน้ำวังโตนดระดับน้ำยังระบายได้ช้า ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ อ.ท่าใหม่/อ.นายายอาม

ลุ่มน้ำเวฬุ ด้านอ.ขลุง พื้นที่ตอนบนระดับน้ำลดลง มีเพียงน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่การเกษตร/พื้นที่ลุ่มต่ำริมคลอง ส่วนพื้นที่ปลายน้ำ (ต.บ่อ) ระดับน้ำยังทรงตัว ยังมีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร/พื้นที่ต่ำริมคลอง

สถานการณ์น้ำในเขตตัวเมืองจันทบุรี ฝั่งตะวันออก ระดับน้ำในแม่น้ำจันทบุรีลดลงมาอยู่ในภาวะปกติ แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่ำ และพื้นที่ติดริมแม่น้ำ ปัจจุบันน้ำระบายลงสู่ทะเลได้ดี ช่วงกลางคืนไม่มีฝนตก/เริ่มมีฝนเล็กน้อยในช่วงเช้า

สถานการณ์ตัวเมืองด้านตะวันตกน้ำในคลองน้ำใสระบายได้ดี ไม่มีน้ำล้นตลิ่ง สถานการณ์น้ำในคลองภักดีรำไพ น้ำระบาย

ได้ดี หลังจากมีการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำตลอด 3 วันที่ผ่านมา น้ำลดระดับเข้าสู่ภาวะปกติ

ศบก.จ.จบ. ร่วมกับ อบจ.,โครงการชลประทานฯ, สำนักงานทรัพยากรน้ำฯ, สำนักงานเจ้าท่าฯ , อุตุนิยมวิทยา ยังคงเฝ้าระวัง/ประเมินสถานการณ์น้ำ/ปริมาณน้ำฝนสะสมเพื่อวางแผนเตรียมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในรอบต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี สั่งการให้ทุกพื้นที่เร่งกำจัดขยะ/วัชพืชที่ลอยมากับน้ำ เร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด เพื่อเตรียมรับสถานการณ์น้ำหลากต่อไป