จังหวัดนครพนมอ่วมหนัก หลังเผชิญน้ำล้นตลิ่งท่วมที่ลุ่ม ทำนาข้าว-บ้านเรือนเสียหาย ชี้ระดับน้ำสูงอีก 90 เซนติเมตร เริ่มเข้าสู่ระดับวิกฤต!
14 กันยายน 2567 ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่จังหวัดนครพนม ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุดเมื่อเวลา 15.00 น. วัดที่จุดวัดบ้านหนองแสง เขตเทศบาลเมืองนครพนม วัดได้ 11.10 เมตรเพิ่มขึ้นจากเมื่อเช้า 20 เซนติเมตร เหลืออีกเพียง 90 เซนติเมตรจะถึงจุดวิกฤติ
ขณะที่ฝนยังคงตกอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งจังหวัด ทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมในพื้นที่ค่อนข้างมาก ประกอบกับมีน้ำเหนือไหลมาสมทบในปริมาณมาก เนื่องจากมีการปล่อยน้ำจากเขื่อน ใน สปป.ลาว ที่มีปริมาณน้ำเกินความจุ เป็นเหตุให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นวันเดียวเกือบเมตร ส่งผลให้
ระดับน้ำเริ่มล้นตลิ่งในที่ลุ่ม คือที่บริเวณหมู่ 7 บ้านดอนแพง อ.บ้านแพง จ.นครพนม น้ำได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมนาข้าวและพื้นที่เลี้ยงสัตว์รวมถึงบ้านเรือนราษฎรทำให้ต้องขนของหนีน้ำกันอย่างเร่งด่วน
นายไพรัตน์ ราชนาวี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า มีพื้นที่นาข้าว และพื้นที่เลี้ยงวัวที่ได้รับความเสียหาย เกิดจากน้ำในแม่น้ำโขงได้เอ่อล้นเขื่อนป้องกันตลิ่งขึ้นมา เนื่องจากเขื่อนมีระดับต่ำกว่าจุดวิกฤต ซึ่งตอนนี้ยังไม่ถึงจุดวิกฤตน้ำก็ล้นเขื่อนป้องกันตลิ่งแล้ว เบื้องต้นมีหน่วยงานทั้งเทศบาลตำบลบ้านแพง ทางอำเภอ รวมทั้งปศุสัตว์ได้นำฟางแจกชาวบ้านที่เลี้ยงวัวคอกละ 5 ก้อน ให้วัวได้กินอาหารช่วงน้ำท่วมเพื่อประทังความเดือดร้อนแล้ว
ด้านนายวิจิตร อายุ 56ปี ชาวบ้านดอนแพง อ.บ้านแพง จ.นครพนม กล่าวว่า ตลอด
3 - 4 วันที่ผ่านมา ตนได้สังเกตระดับของแม่น้ำโขงเริ่มเอ่อล้นตลิ่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคืนที่ผ่านมาระดับน้ำไหลท่วมขึ้นมาค่อนข้างรวดเร็ว เพิ่งจะมาทรงตัวช่วงเที่ยง ๆ ของวันนี้
แต่ที่เป็นห่วงที่สุดเมื่อทราบว่าทางจังหวัดบึงกาฬมีระดับน้ำค่อนข้างสูงและไหลอย่างรุนแรง จึงห่วงว่าเมื่อมวลน้ำไหลลงมาถึงพื้นที่อำเภอบ้านแพง อาจเกิดความเสียหายมากขึ้นไปกว่านี้
ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่สามารถรายงานสถานการณ์และส่งความช่วยเหลือให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนมได้ทางโทรศัพท์หมายเลข 042511025 สามารถรายงานสถานการณ์และขอความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง
วันที่ 14 ก.ย. 67 สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.หนองคายช่วงบ่าย ระดับน้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคาย ยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
ล่าสุดเมื่อเวลา 12.00 น. วัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย วัดได้ 13.73 เมตร น้ำล้นเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขงเข้าท่วมพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย เข้าโขงไหลเข้าท่วมระยะทางเกือบ 2 กิโลเมตร หนักสุดที่บริเวณชุมชนวัดธาตุ หน้าพระธาตุหล้าหนอง เป็นพื้นที่ต่ำ แม้ทางชุมชนและเทศบาลเมืองหนองคายจะนำกระสอบทรายไปวางกั้นไว้ก็ยังเอาไม่อยู่ น้ำได้ทะลักไหลเข้าท่วมล้นออกตามท่อ
ระบายน้ำไหลท่วมถนนประจักษ์ศิลปาคม
ใจกลางเมืองหนองคาย ระดับน้ำสูงเกือบ 1 เมตร การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาหนองคาย ต้องทำการตัดไฟ เนื่องจากน้ำท่วมถึงตู้มิเตอร์กลาง จึงต้องงดจ่ายกระแสไฟฟ้าในตัวเมืองบางแห่ง เพื่อความปลอดภัย
ส่วนการประปาส่วนภูมิภาคหนองคายได้แจ้งให้ประชาชนสำรองน้ำไว้ใช้ เนื่องจากพื้นที่ถูกน้ำท่วม อาจส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตน้ำประปา ชาวหนองคาย ร้านค้าที่อยู่สองข้างทางถนนประจักษ์ และถนนริมโขง ขอความร่วมมือผู้ที่ไม่มีเหตุจำเป็นงดขับ
รถเข้าไปในพื้นที่น้ำท่วม เพราะทำให้น้ำกระเด็นเข้าบ้านเรือน และร้านค้าต่างๆ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน
ขณะที่ปศุสัตว์จังหวัดหนองคายได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ 3 ราย ในพื้นที่บ้านทุ่ม ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ ขนย้ายไก่ไข่ 2,500 ตัว ออกจากพื้นที่ถูกน้ำท่วมไปไว้ในที่ปลอดภัย และแนะนำให้เกษตรกรขนย้ายสัตว์เลี้ยงไปไว้ยังที่สูง พร้อมประสานศูนย์อาหารสัตว์หนองคาย นำหญ้าและฟางอัดแห้งมาให้โคกระบือที่ได้รับผลกระทบได้มีอาหารกินช่วงอุทกภัยในครั้งนี้
พะเยาเตือนเหตุภัยพิบัติด่วน!!! Flash Flood น้ำป่าไหลหลาก วันนี้ 17 กันยายน พ.ศ. 2567 เวลา 04.00 น. ช่วงเช้าขณะนี้มีน้ำป่าไหลหลาก!!! จุดบริเวณย่านชุมชน ม.พะเยา ขอให้พื้นที่ใกล้เคียงดังกล่าวเตรียมตัวรับสถานการณ์ตอนนี้ทีมกู้ภัยพะเยากำลังระดมกำลังเข้าช่วยเหลือในพื้นที่
นิสิตที่หอพักได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลาก และต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน inbox UP Volunteer มาในเพจได้เลยนะคะ หรือโทรมาที่ 086-935-0782 พี่กระรอก หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการมหาวิทยาลัยพะเยาจิตอาสา
8.40 น. ย่าน ม.พะเยา ระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ใกล้สู่สภาวะปกติ มวลน้ำกำลังไหลลงสู่ลำน้ำแม่ต๋ำอำเภอเมือง เตรียมเฝ้าระวัง
ลำปางอ่วม ฝนถล่มทั้งคืน ทำน้ำป่าเชี่ยวกราก ทะลักท่วมฉับพลันกว่า 14 ชุมชน
เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ จ.ลำปาง ฝนตกหนักตลอดทั้งคืน ทำให้หลายพื้นที่ รวมถึงในเขต อ.เมืองลำปาง เกิดทั้งน้ำป่าไหลหลาก ลงมาตามเขาสูง ทะลักลงคลองส่งน้ำ รวมถึงกระแสน้ำจากฝนที่ตกหนัก ที่ไหลลงมา ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในเขตเมือง โดยที่ชุมชนเขลางค์ทอง ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง จ.ลำปาง ซึ่งเป็นชุมชนเขตเมือง บ้านเรือนนับร้อยหลังได้รับผลกระทบ กระแสน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร บางจุดไหลเชี่ยวแรง ชาวบ้านออกมาไม่ได้ เคลื่อนย้ายรถไม่ทัน สิ่งของเครื่องใช้เสียหายลอยไปกับน้ำ และจมน้ำ หลังน้ำมาเร็ว และหนักกว่าทุกปี อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่หนักๆ แบบนี้
สภาพซอย 2 ของชุมชนเขลางค์ทอง กระแสน้ำไหลเชี่ยวมาก ทะลักออกมาท่วมถนนลำปาง-ห้างฉัตร สายเก่า หรือถนนจามเทวี ซึ่งเป็นถนนสายหลักสำคัญที่จะเข้าตัวเมือง ก็ถูกน้ำท่วมสูงเต็มถนน ระยะกว่า 200 เมตร บริเวณช่วงถนนขาเข้า ก่อนถึง
ตลาดน้ำโท้ง ระยะที่ถูกน้ำท่วมข้ามมาจนถึงกลางแยกห้วยเป้ง ยาวไปจนถึงหน้าปั๊มน้ำมันพีที สาขาบ่อแฮ้ว นอกจากนี้ ยังท่วมบ้านเรือนริมถนนที่อยู่ในที่ลุ่มด้วย ส่งผลทำให้การจราจรติดขัดยาว ไม่สามารถใช้รถใช้ถนนผ่านไปได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองลำปาง รีบอำนวยความสะดวก ระบายรถให้วิ่งสวนทางกันในอีกเลน เพื่อเร่งระบายรถให้ผ่านไปได้โดยเร็ว
นายชัชวาล ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นายธนารัฐ สายเทพ นายอำเภอเมืองลำปาง และเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง ได้รุดสำรวจผลกระทบ และเยี่ยมชาวบ้านผู้ประสบภัยน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่หลายหมู่บ้าน ในเขต ต.บ้านค่า, บ้านห้วยฮี และบ้านศรีดอนชัย ต.ต้นธงชัย อ.เมือง จ.ลำปาง หลังประสบภัยน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันอย่างหนัก
ซึ่งสถานการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ จนถึงขณะนี้ ผ่านไปนานกว่า 8 ชั่วโมงแล้ว ก็ยัง
ไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ สถานการณ์ ทั้งในเขตพื้นที่ ต.บ้านค่า และ ต.ต้นธงชัย อ.เมือง ระดับน้ำยังคงท่วมสูงกว่า 1 เมตร และทรงตัว จากกระแสน้ำที่หลากมาต่อเนื่อง โดยวันนี้ พื้นที่ จ.ลำปาง ประสบภัยพร้อมกันถึง 7 ตำบล กระจายใน 3 อำเภอ ประกอบด้วยพื้นที่ อ.เมือง, อ.เมืองปาน, และ อ.แม่เมาะ หนักสุดเกิดขึ้นในพื้นที่เขต อ.เมือง ถึง 5 ตำบล กว่า 14 หมู่บ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนสถานการณ์น้ำฝนที่ตกหนัก และท่วมชุมชนเขลางค์ทอง ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง และทะลักท่วมถนนจามเทวี หรือถนนสายลำปาง-ห้างฉัตร (สายเก่า) ซึ่งเป็นถนนสายหลักเข้าตัวเมือง ล่าสุดเวลา 12.00 น. ขณะนี้แห้งลง กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เจ้าหน้าที่เปิดการจราจรให้ใช้ได้ตามปกติ หลังจากในช่วงเช้าน้ำท่วมหนัก และเชี่ยวอยู่ถนนขาเข้าตัวเมือง ระยะทางกว่า 200 เมตร รถทุกชนิดผ่านไปไม่ได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเบี่ยงให้รถสวนทางกันในช่องถนนอีกฝั่ง
เชียงรายสรุปอุทกภัย 9-18 ก.ย. 67 กระทบ 9 อำเภอ 53,209 ครัวเรือน โรงเรียน 31 แห่ง ถนน 7 จุด และคอสะพาน 4 จุด เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บ 2 ราย ทุกหน่วยเร่งช่วยเหลือ ซ่อมแซม
วันที่ 20 กันยายน 2567 ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ รายงานสถานการณ์อุทกภัย และดินถล่ม ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ข้อมูลสะสมระหว่างวันที่ 9-18 ก.ย. 2567 รวมทั้งสิ้น 9 อำเภอ 35 ตำบล 167 หมู่บ้าน 1 เทศบาลนคร (52 ชุมชน) โดยตลาดชุมชนเศรษฐกิจ ได้รับผลกระทบ 2 แห่ง ร้านค้า/สถานประกอบการ 92 แห่ง ราษฎรได้รับผลกระทบเบื้องต้น 53,209 ครัวเรือน เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บ 2 ราย พื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบ 14,138 ไร่
ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ ได้แก่ โค 894 ตัว กระบือ 141 ตัว สุกร 1 ตัว แพะ/แกะ 25 ตัว สัตว์ปีก 19,500 ตัว สุนัข 145 ตัว และแมว 154 ตัว ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับผลกระทบ ได้แก่ โรงเรียน จำนวน 31 แห่ง ถนน 7 จุด และคอสะพาน 4 จุด
โรงเรียนในเขตเทศบาลนครเชียงรายประกาศหยุดเรียนจนกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เบื้องต้น 11 โรงเรียน 1 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล 1- 8/ร.ร.สามัคคีวิทยาคม/ร.ร.อนุบาลเชียงราย (สันต้นเปา)/ร.ร.อบจ.เชียงราย และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านใหม่ ความคืบหน้าสถานศึกษาที่เปิดเรียน ดังนี้
วันที่ 17 ก.ย. 67 สถานศึกษาที่เปิดเรียน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ร.ร.สามัคคีวิทยาคม และ ร.ร.อนุบาลเชียงราย (สันต้นเปา) วันที่ 18 ก.ย. 67 สถานศึกษาที่เปิดเรียน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ร.ร.เทศบาล 3 ศรีทรายมูล และ ร.ร.เทศบาล 4 สันป่าก่อ
วันที่ 19 ก.ย. 67 สถานศึกษาที่เปิดเรียน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ร.ร.เทศบาล 1 ศรีเกิด และ ร.ร.เทศบาล 5 เด่นห้า
วันที่ 20 ก.ย. 67 สถานศึกษาที่เปิดเรียน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านใหม่, ร.ร.เทศบาล 2 หนองบัว, ร.ร.เทศบาล 7 ฝั่งหมิ่น และ ร.ร.เทศบาล 8 บ้านใหม่
การประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงราย หยุดระบบการผลิตและระบบจ่ายน้ำ (ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. 67 เวลา 15.59 น.) อำเภอเมืองเชียงรายและอำเภอเวียงชัย ได้รับผลกระทบเต็มพื้นที่
– วันที่ 18 ก.ย. 67 เวลา 11.30 น. โรงสูบน้ำแรงดันต่ำ สถานีสูบน้ำวังคำ ประสบปัญหา ความขุ่นน้ำสูงและน้ำท่วมทำให้ตะกอนตกค้างไม่สามารถสูบน้ำผลิตได้ ทีมช่างลงกวนโคลนเพื่อให้กลายเป็นเลนเพื่อสูบระบายออกและได้รับการสนับสนุนรถดูดโคลนจิตอาสาและบุคลากรจาก อบจ.เชียงราย ปฏิบัติการดูดตะกอนตกค้าง/เวลา 16.00 น. สามารถเดินเครื่องสูบน้ำ ผลิตน้ำได้อย่างต่อเนื่อง จ่ายน้ำอำเภอเวียงชัยเกือบเต็มระบบ (ขยายการผลิตถึง ร.ร.บ้านเวียงชัย และบ้านไชยนารายณ์ ซอย 2) และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ศรีบุรินทร์ ต.สันทราย อ.เมืองเชียงราย
พร้อมกันนี้ กปภ.สาขาเชียงราย จัดรถบริการน้ำแจกจ่ายควบคู่กับการระบายน้ำ จำนวน 6 คัน (ให้บริการตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. 67 เป็นต้นมา) จุดบริการ ดังนี้
-รถน้ำ สาขาพะเยา ให้บริการ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ อ.เมืองเชียงราย
-รถน้ำ สาขาเชียงราย ให้บริการ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ อ.เมืองเชียงราย
-รถน้ำ สาขาลำปาง ให้บริการ รพ.โรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร อ.เวียงชัย
-รถน้ำเขต 10 คันที่ 1 ให้บริการจุดจ่ายน้ำ โครงการ A-star ต.ท่าสุด อ.เมืองเชียงราย
-รถน้ำเขต 10 คันที่ 2 ให้บริการจุดจ่ายน้ำ 7-11 ต.ท่าสาย อ.เมืองเชียงราย
-รถน้ำเขต 10 คันที่ 3 ให้บริการบริเวณมูลนิธิแสงธรรมสาธารณกุศลเชียงราย สำนักงานใหญ่ (โค้งหนองเหียง ซอย 4 ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย)
ต.รอบเวียง หมู่ที่ 1-5 ลำน้ำกก ลำน้ำกรณ์ และลำน้ำลาว ระดับน้ำได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และในพื้นที่ของหาดเชียงราย/สถานการณ์คลี่คลาย ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง
ต.ดอยฮาง หมู่ที่ 2, 3, 4, 5, 6 ลำน้ำกกล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่เกษตร บางหมู่บ้าน ถูกตัดขาด ใช้การลำเลียงน้ำและอาหารโดยรถยกสูง และอากาศยาน (หมู่ที่ 6 บ้านเรือนราษฎรถูกน้ำป่าไหลหลากพัดหายไป จำนวน 9 หลัง)
ต.แม่ยาว หมู่ที่ 1-20 ลำน้ำกกล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน เร่งอพยพประชาชนและขนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง/สะพานแขวนฮาแหล่จ่ะ (สะพานไม้) ขาด ไม่สามารถสัญจรได้/บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร บ้านแคววัวดำ บ้านพนาสวรรค์ บ้านผาขวาง และบ้านอาดี่ (บ้านบริวารบ้านผาสุก หมู่ที่ 20) ใช้การลำเลียงน้ำและอาหาร หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยอากาศยาน/วันที่ 15 ก.ย. 67 ดำเนินการปรับเกลี่ยดินสไลด์เพื่อเปิดใช้เส้นทาง/วันที่ 16 ก.ย. 67 สามารถใช้รถออฟโรดเข้าพื้นที่ได้ บางจุดต้องใช้จักรยานยนต์วิบากในการลำเลียงน้ำและอาหาร
ต.ห้วยชมภู หมู่ที่ 1, 4, 5, 6, 10, 11, 16 น้ำป่าไหลหลากและดินสไลด์ปิดทับเส้นทาง/บ้านจะคือ หมู่ที่ 10 ใช้การลำเลียงน้ำและอาหาร หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยอากาศยาน เนื่องจากเส้นทางถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง
ต.ริมกก หมู่ที่ 1-7 วันที่ 11 ก.ย. 67 น้ำกกล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนของราษฎร/บ้านเมืองงิม ม.4 พนังกั้นน้ำถูกกัดเซาะ อบต.ริมกก ดำเนินการจัดทำแนวตลิ่งเพื่อกันน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของราษฎร พร้อมทั้งอพยพคนออกจากพื้นที่ที่น้ำท่วมสูง วันที่ 12 ก.ย. 67 น้ำเพิ่มระดับสูงขึ้น ไหลเชี่ยวและแรง บางจุดไม่สามารถอพยพประชาชนออกมาได้ ต้องใช้การลำเลียงน้ำและอาหาร โดยใช้โดรนและเจ็ตสกี/วันที่ 14 ก.ย. 67 สถานการณ์คลี่คลาย ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ถนนสามารถสัญจรผ่านได้ ภาพรวมสามารถฉีดล้างทำความสะอาดบ้านเรือนได้แล้ว ยังคงท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบางส่วน
ต.บ้านดู่ ม.1, 10, 12, 15, 16, 17, 20 น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่เกษตร สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ต.แม่ข้าวต้ม ม.3, 4 น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่เกษตร สถานการณ์คลี่คลายบางส่วน
ต.นางแล ม.1, 4, 5, 6, 11, 16 น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่เกษตร สถานการณ์คลี่คลาย
อ.เชียงแสน จำนวน 6 ตำบล 38 หมู่บ้าน โรงเรียน 1 แห่ง พื้นที่เกษตร 14,138 ไร่ ถนน 2 สาย สะพาน 1 จุด คอสะพาน 1 จุด น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร พื้นที่เกษตร และเกิดดินสไลด์ ในพื้นที่ ดังนี้ ต.เวียง ม.1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9 น้ำล้นตลิ่งและเกิดดินสไลด์บ้านสบรวก ร้านค้า จำนวน 16 ร้าน ต.โยนก ม.1, 2, 4, 6, 7 ต.บ้านแซว ม.7, 8, 10, 14 ต.ป่าสัก ม.1, 2, 3, 5, 6, 7, 11, 12, 13 ต.ศรีดอนมูล ม.1, 2, 3, 5, 9, 10, 12, 13 และ ต.แม่เงิน ม.1, 5, 10
ปิดเส้นทางสัญจร สะพานโยนกนาคนคร ม.1 และ ม.4 ต.โยนก เส้นบายพาส เนื่องจากแม่น้ำกกหนุนสูงท่วมปิดเส้นทางไม่สามารถสัญจรได้/วันที่ 14 ก.ย. 67/วันที่ 14 ก.ย. 67 สถานการณ์ปกติ สามารถสัญจรผ่านได้
ปิดเส้นทางหมายเลข 1290 ตอนแม่สาย-กิ่วกาญจน์ ระหว่าง กม.20+000-กม.20+500 บ้านเวียงแก้ว ม.5 ต.ศรีดอนมูล-บ้านวังลาว ม.4 ต.เวียง เนื่องจากแม่น้ำรวกล้นตลิ่งท่วมถนน รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้/อยู่ระหว่างดำเนินการซ่อมแซม
อ.เชียงของ จำนวน 2 ตำบล 1 หมู่บ้าน ต.เวียง หมู่ที่ 1 แม่น้ำโขงล้นตลิ่งหลากเข้าท่วมพื้นที่บริเวณท่าเรือบั๊ก บริเวณสวนสาธารณะปลาบึก 7 สี และบ้านเรือนราษฎรติดริมฝั่งโขง/ทต.เวียง อพยพประชาชนและขนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูงเรียบร้อยแล้ว และ ต.ศรีดอนไชย น้ำหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ได้รับผลกระทบ
อ.แม่จัน แม่น้ำจัน-คำ หลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่เกษตรเป็นวงกว้าง ในพื้นที่ 7 ตำบล 15 หมู่บ้าน โรงเรียนได้รับผลกระทบ 3 โรงเรียน/สถานการณ์คลี่คลาย ยังคงค้างในพื้นที่ลุ่มต่ำของตำบลแม่คำ
อ.แม่ฟ้าหลวง จำนวน 4 ตำบล 12 หมู่บ้าน (เสียชีวิตจากสะสม 5 ราย เกิดจากน้ำป่าไหลหลาก 1 ราย/ดินสไลด์ 4 ราย) ถนนเสียหาย 4 จุด คอสะพาน 3 จุด โรงเรียนได้รับผลกระทบ 8 โรงเรียน (ดินสไลด์ปิดเส้นทางเข้า-ออก)/บ้านจะตี ต.เทอดไทย ดินปิดสไลด์เส้นทาง ใช้อากาศยานในการขนส่ง/วันที่ 16 ก.ย. 67 ผช.ผรส. บ้านปูนะ ต.เทอดไทย ร่วมกับชาวบ้านตัดต้นไม้และเคลียร์พื้นที่ดินสไลด์ ใช้แบ็กโฮเปิดเส้นทาง สามารถใช้รถยนต์และจักรยานยนต์ผ่านได้ ยังต้องใช้ความระมัดระวังบางจุด เนื่องจากยังมีดินสไลด์ลงมาเป็นระยะ ยังดำเนินการกู้ระบบไฟฟ้า ใช้ได้เพียงบางจุด
ต.แม่ฟ้าหลวง ม.12, 16, 17
ต.แม่สลองนอก ม.7
ต.แม่สลองใน ม.3, 4, 5, 15
ต.เทอดไทย ม.6, 7, 15, 16
วันที่ 17 ก.ย. 67 กองพันสัตว์ต่าง กรมการสัตว์ทหารบก ตั้ง บก.ช่วยเหลือ ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2567 ณ อบต.แม่ฟ้าหลวง กำลังพล ทหาร 15 นาย อุปกรณ์ ล่อ 3 ตัว ช่วยขนย้ายสิ่งของจำเป็นให้กับผู้ประสบภัย
อ.แม่สาย น้ำท่วมพื้นที่ตลาดสายลมจอย และพื้นที่เศรษฐกิจ จำนวน 4 ตำบล 37 หมู่บ้าน (ชุมชนได้รับผลกระทบรุนแรง ได้แก่ ชุมชนแม่สาย ชุมชนเหมืองแดง ชุมชนเกาะทราย ชุมชนไม้ลุงขน) จำนวน 4 ตำบล โรงเรียนได้รับผลกระทบ 8 โรงเรียน ต.แม่สาย ม.2, 3, 6, 7, 8, 10 ต.เวียงพางคำ ม.1-10 ต.เกาะช้าง ม. 1-13 ต.ศรีเมืองชุม ม.1-8
วันที่ 18 ก.ย. 67 สถานีผลิตน้ำเกาะช้าง จ่ายน้ำในพื้นที่ในโซนถนนเส้นทางหลักของหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านสันผักฮี้ บ้านสันทราย บ้านเอื้ออาทร 1 และ 2 บ้านเหมืองแดงใต้ บ้านเหมืองแดง หมู่ 1 และ 2 ทั้งนี้ ได้มีการผันน้ำไปพื้นที่โซนศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน และโรงพยาบาลแม่สาย นอกจากโซนดังกล่าวที่มีการจ่ายน้ำ จะเป็นเพียงการจ่ายน้ำเป็นเวลา กปภ.สาขาแม่สาย จึงขอให้ผู้ใช้น้ำเตรียมการสำรองน้ำไว้ใช้ในเวลาที่น้ำไม่ไหล
ทั้งนี้ กปภ.สาขาแม่สาย โดยการสนับสนุนของบริษัท วิค วอเตอร์ จำกัด นำเครื่องผลิตน้ำสะอาดขนาด 3,000 ลิตร/ชั่วโมง หรือ 60,000 ลิตร/วัน เพื่อนำมาผลิตน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค จากน้ำผิวดินที่มีอยู่ สามารถมารับบริการได้ที่ตำบลเวียงพางคำ (เลยสี่แยกไฟแดงสถานีขนส่งแม่สายได้ทุกวัน บริการถึงเวลา 17.00 น.)/
กฟภ.สาขาแม่สาย ดำเนินการจ่ายไฟได้เกือบทั่วพื้นที่ ยกเว้นบางส่วนของบริเวณชุมชนไม้ลุงขน ชุมชนเกาะทราย ตลาดลายลมจอย และบ้านหัวฝาย โดยมีประกาศหยุดจ่ายไฟในวันที่ 21 ก.ย. 67 เพื่อปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าแรงสูง
อ.ดอยหลวง จำนวน 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ต.หนองป่าก่อ หมู่ที่ 8 น้ำกัดเซาะถนนชำรุด ไม่สามารถสัญจรได้ อยู่ระหว่างซ่อมแซม/16 ก.ย. 67 บ้านที่อยู่ติดถนนถูกน้ำพัดพาได้รับความเสียหาย
อ.เทิง จำนวน 3 ตำบล 4 หมู่บ้าน (สถานการณ์คลี่คลาย อยู่ระหว่างการซ่อมแซม) ต.งิ้ว ม.7, 18 น้ำล้นออกจากอ่างเก็บน้ำขอนซุง เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่เกษตร ต.ปล้อง ม.2 น้ำหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่เกษตร ต.ตับเต่า ม.8 เสาค้ำสะพานสะพานเบลีย์ชำรุด/เวลาประมาณ 14.00 น. หมวดทางหลวงเทิง แขวงทางหลวงเชียงรายที่ 2 และศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 1 (พิจิตร) เข้ามาดำเนินการซ่อมแซม หากไม่มีฝนตกคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 วัน (วันที่ 16 ก.ย. 67)/วันที่ 16 ก.ย. 67 ยังคงดำเนินการอยู่ ใกล้แล้วเสร็จ
อ.เวียงแก่น จำนวน 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ต.ปอ ม.2 น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย
การให้ความช่วยเหลือ จังหวัดเชียงราย ได้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ปี พ.ศ. 2567 เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และจัดหาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีพ ผ่านทางธนาคารกรุงไทย สาขาเชียงราย เลขที่บัญชี 504-3-23-732-5 ชื่อบัญชี กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ปี พ.ศ. 2567 โดยสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า ยอดเงินบริจาค ณ วันที่ 18 ก.ย. 67 เวลา 16.00 น. จำนวน 6,266,907.98 บาท
– กองทัพเรือสนับสนุนเรือและยุทโธปกรณ์ เครื่องมือเร่งดำเนินการติดตั้งเคลื่อนย้ายเรือผลักดันน้ำ JET จำนวน 10 ลำ ยกจากเครนวางตามแนวลำน้ำอิง ประสิทธิภาพการไหลได้วันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มดันน้ำได้วันที่ 11 ก.ย. 67 เวลา 15.00 น. ณ สะพานข้ามแม่น้ำอิง อ.เทิง จ.เชียงราย
– สภากาชาดไทย สนับสนุนครัวสนามเคลื่อนที่ 1 คัน จุดตั้งโรงครัว ณ วัดพระสิงห์ ถ.ท่าหลวง ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ประกอบเลี้ยงตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. 67 จะประกอบเลี้ยงถึงวันที่ 18 ก.ย. 67... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/breaking-news/news-1656924
น้ำท่วมขอนแก่น ระทึกเข้าโรงเรียน ในอ.แวงน้อย สูง 1 เมตร ประกาศหยุดเรียน ขณะที่กู้ภัย รุดช่วยคนไข้ติดเตียง ด้าน อ.แวงใหญ่ ต้องเฝ้าระวัง ไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมโรงพยาบาล
วันที่ 23 ก.ย.2567 เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงขอนแก่น 3 นำป้ายเตือน น้ำท่วมทางข้างหน้า มาติดตั้งบนถนนทางหลวงหมายเลข 2199 หน้าโรงพยาบาลแวงใหญ่ หลังน้ำไหลเข้าท่วมผิวการจราจร 20-30 เซนติเมตร ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เพื่อให้รถที่สัญจรผ่านได้ระมัดระวัง
ขณะที่เจ้าหน้าที่องค์การบริการส่วนตำบลคอนฉิม เร่งระบายน้ำ เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนที่สัญจรไปมา และไม่ให้น้ำไหลเข้าในโรงพยาบาลแวงใหญ่ แม้จะมีการสร้างกำแพงหลังโรงพยาบาลแล้วก็ตาม ซึ่งหากฝนไม่ตกลงมาซ้ำ ปริมาณน้ำที่ท่วมขังจะลดระดับลงในช่วงคืนวันนี้
เจ้าหน้าที่วีอาร์กู้ภัยมิตรภาพอำเภอพล นำเรือท้องแบนมาช่วยเหลือประชาชนที่อาศัยในบ้านกุดรู หมู่ 4 ตำบลแวงน้อย อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น หลังได้รับการประสานเพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงจำนวน 2 คน หลังบ้านถูกน้ำไหลเข้าท่วม จึงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียง ออกไปยังที่ปลอดภัยเพราะน้ำยังคงมีระดับสูงขึ้น
ส่วนที่โรงเรียนบ้านกุดรู ครูต้องเข้าไปสำรวจความเสียหาย และนำสิ่งของออกมาจากห้องเรียนที่อยู่ชั้น 1 หลังน้ำไหลเข้าท่วมโรงเรียนเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา โดยระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ทำให้โรงเรียนต้องประกาศหยุดเรียนในวันนี้
นายมิตรภาพ ไกรวัน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกุดรู กล่าวว่า หลังจากที่ทราบว่ามีฝนตกหนัก ได้มีการวางแผนรองรับน้ำท่วมโดยสิ่งของเช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ได้มีการนำขึ้นที่สูงแล้ว จนกระทั่งน้ำไหลเข้าท่วมโรงเรียนเมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้มีเอกสารของโรงเรียนและนักเรียนได้รับความเสียหายเท่านั้น
เพราะเนื่องจากเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา โรงเรียนต้องประสบปัญหาน้ำท่วมมาแล้ว อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาช่วยเหลือ โดนแผนระยะสั้นนำเครื่องสูบน้ำมาระบายน้ำออกจากโรงเรียน ส่วนแผนระยะยาวอยากให้มีการวางท่อระบายน้ำ เพื่อระบายข้ามถนนไปทางอำเภอพล และอีกส่วนหนึ่งระบายไปทางตัวอำเภอแวงน้อย เพราะโรงเรียนอยู่ที่ต่ำจึงทำให้เกิดน้ำท่วม
ด้าน นายชัยวัฒน์ ทองน้อย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแวงน้อย กล่าวว่า หลังเกิดน้ำท่วมขณะนี้ ได้ให้งานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยออกตรวจสอบความเสียหาย
แล้ว มีบ้านเรือนที่หมู่ 4 บ้านกุดรู ได้รับความเดือนร้อน 40 หลังคาเรือน โรงเรียน 1 แห่ง
พร้อมประสานเรือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาคอยช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว ซึ่งที่บ้านแห่งนี้ เป็นพื้นที่ต่ำจึงประสานไปยังแขวงทางหลวงที่ 3 ขอนแก่น เพื่อให้สร้างระบายน้ำขนาดใหญ่ จะได้ลดปัญหาน้ำท่วม
นายพันเลิศ พรหมมาตย์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย จังหวัดขอนแก่น สาขาพล กล่าวว่า สาเหตุน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอแวงน้อย เกิดจากฝนที่ตกหนัก ตั้งแต่ช่วงเย็นวัดปริมาณน้ำฝนได้ 105 มิลลิลิตร ทำให้น้ำไหลจากที่สูงลงมายังพื้นที่บ้านกุดรูแห่งนี้
เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่ามีบ้านเรือนในตำบลแวงน้อย 2 หมู่บ้าน คือหมู่ 3 บ้านบ้านหนองแขม และหมู่ที่ 4 บ้านกุดรู ประสบปัญหาน้ำท่วม ที่ตำบลก้านเหลือง ท่วม 1 หมู่บ้านคือบ้านบะแหบ หมู่ 10 ขณะนี้ปริมาณน้ำยังคงไหลลงมาที่ตำบลแวงน้อย จะได้มีการประสานนำเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยเหลือประชาชน
25 ก.ย.2567 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สุโขทัย ได้กลับเข้าสู่ภาวะวิกฤตอีกครั้ง หลังมีน้ำเหนือไหลลงมาสมทบแม่น้ำยมที่สุโขทัย ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น และกระแสน้ำที่ไหลแรงยังได้กัดเซาะแนวคันดินพังอีกหลายจุด โดยที่หมู่ 6 ต.วังใหญ่ อ.ศรีสำโรง คันดินพังจุดเดิมบริเวณใต้สะพานสิริปัญญารัต ทำให้น้ำทะลักท่วมบ้านเรือน หมู่ 4 และหมู่ 6 ต.วังใหญ่ จำนวน 72 หลังคาเรือน และต้องปิดการจราจรทางหลวงหมายเลข 1195 เส้นเตว็ดใน-วังไม้ขอน ช่วงหมู่ 6 ต.วังใหญ่ เนื่องจากน้ำกัดเซาะถนนขาด
ขณะที่หมู่ 6 บ้านท่าช้าง และหมู่ 9 บ้านเตว็ดนอก ต.ทับผึ้ง อ.ศรีสำโรง ก็เกิดเหตุการณ์ระทึก โดยไม่มีใครคาดคิดหรือทันตั้งตัว หลังกระแสน้ำยมเจาะทะลวงใต้คันดินจนพังทลาย เมื่อช่วงหัวค่ำ (24 ก.ย.) ที่ผ่านมา ทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนทั้ง 2 หมู่บ้าน จำนวน 294 หลังคาเรือน เดือดร้อน 944 คน และน้ำยังได้ไหลท่วมถนนเส้นหลัก 101 สายสุโขทัย-ศรีสำโรง ช่วงแยกท่าช้าง ต.ทับผึ้ง จนต้องปิดการจราจร
นายสนอง อินทิม นายก อบต.ทับผึ้ง บอกว่า สถานการณ์น้ำขณะนี้ยังทรงอยู่ เพราะคันดินพังที่หมู่ 6 น้ำทะลักเข้ามาตอน 1 ทุ่ม เพียงแค่ 30 นาทีก็ท่วมสูงถึงเอว ชาวบ้านขนของหนีไม่ทัน ทำให้รถยนต์ เครื่องมือเกษตร ทรัพย์สินต่างๆได้รับความเสียหาย และนับเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่หนักสุดในรอบ 25 ปี คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อไปอีกเกือบ 10 วัน เพราะยังมีน้ำจากแพร่ไหลลงมาสุโขทัย
เปิดภาพมุมสูงพื้นที่หลายอำเภอในจังหวัดอุดรฯอ่วมหนัก หลังอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงปล่อยน้ำเพิ่ม คาดจมบาดาลนานเป็นเดือน ไร่นาเสียหายเป็นหมื่นๆไร่ ขณะที่เปิดใจเจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยสองหนุ่มน้อยถูกน้ำซัดปีนต้นไม้หนีตายนานร่วมชั่วโมง ด้านเจ้าตัวเล่านาทีชีวิตถูกน้ำเชี่ยวพัดตกถนน ต้องพากันปีนต้นไม้หนีตายน้ำเชี่ยวต้องรอกว่าชั่วโมงร้องเรียกให้คนช่วยเหลือ ขอบคุณจากใจให้พี่ๆ กู้ภัย นึกว่าไม่รอดแล้ว
วันนี้ (26 ก.ย.67) ผู้สื่อข่าวจ.อุดรธานีรายงานว่า ผลจากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ปล่อยน้ำออกจากอ่างฯ โดยวันนี้ระบายเพิ่ม 7.543 ลูกบาศก์เมตร และเปิดประตูระบายน้ำสูงขึ้นอีก 0.63 เมตร ส่งผลกระทบให้บ้านเรือนประชาชนในหลายอำเภอถูกน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างอ่วมไปตามๆ กันและกระจายไปหลายอำเภอตั้งแต่ อ.เมือง, อ.กุดจับ, อ.พิบูลย์รักษ์,อ.เพ็ญ,อ.บ้านดุง และอ.สร้างคอม และดูทีท่าน้ำท่วมครั้งนี้น่าจะยาวเป็นเดือน น้ำท่วมไร่นาของชาวบ้านเป็นหมื่นๆ ไร่ และมีชาวบ้านได้รับกระทบใน 16 อำเภอ 92 ตำบล 579 หมู่บ้าน เดือดร้อน 7,106 ครัวเรือน โดยสถานการณ์น้ำท่วมจ.อุดรธานีดูท่าจะหนักไปอีกยาวและกระจายวงกว้าง อย่างภาพที่เห็นมุมสูงคือพื้นที่ต.เชียงยืน,เชียงพิณ อ.เมือง และต.เชียงเพ็ง อ.กุดจับ
และเมื่อคืนที่ผ่านมา (25 ก.ย.67) เวลา 20.00 น.เกิดเหตุระทึกน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงได้ไหลเอ่อท่วมถนนบ้านหนองหลอด-บ้านบ่อน้ำ ต.เชียงยืน อ.เมือง จ.อุดรธานี จู่ๆ ปรากฏว่ามีสองหนุ่มน้อยขับรถจยย.ผ่านเส้นทางเกิดถูกกระแสน้ำที่เชี่ยวแรงพัดไปกับสายน้ำ ทั้งสองคนต้องหนีตายปีนต้นไม้รอให้คนช่วยเหลือ ต่อมา
เจ้าหน้าที่กู้ชีพกู้ภัยมูลนิธิส่งเสริมธรรมแห่งอุดรธานี และมูลนิธิอุดรเมธาธรรมสถานจุดจุดบริการเชียงยืน ได้ช่วยเด็กวัยรุ่น 2 คนจากต้นไม้รอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด ท่ามกลางชาวบ้านลุ้นนาทีชีวิต ในที่สุด ก็สามารถนำทั้ง 2 ซึ่งเป็นชาวบ้านดงหินโงม ขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัยส่วนรถจยย.ที่ขี่มายังอยู่ในน้ำ รอน้ำลดจึงเก็บกู้ได้ ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว
ล่าสุดผู้สื่อข่าวเดินทางลงพื้นที่ไปยังจุดที่เกิดเหตุที่บ้านหนองหลอด -บ่อน้อย ต เชียงยืน อ.เมืองอุดรธานี พร้อมทีมกู้ภัยฯที่เข้าไปช่วยช่วยเหลือ ซึ่งจุดเกิดเหตุพบว่ากระแสน้ำไหลแรงมากโดยมวลน้ำนี้เป็นน้ำที่ปล่อยมาจากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จากนั้นเดินทางต่อไปเยี่ยมที่บ้านของชาย 2 คน ที่ บ้านดงหินโงม หมู่ 9 ต.เชียงเพ็ง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี โดยทั้ง 2 คนปลอดภัยดี ดีใจที่รอดตายมาได้
ขณะที่นายสุวิทย์ ใยสว่าง ทีมกู้ภัยฯ เปิดเผยว่า ค่ำเมื่อวานนี้ขณะตนปฏิบัติการช่วยเหลือด้านจราจรช่วงถนนเชียงยืน - กุดจับ เนื่องจากน้ำท่วมขังผิวจราจร มีชาวบ้านโทรศัพท์แจ้งว่าขอให้เข้าไปช่วยเหลือคนเนื่องจากขับขี่รถมอเตอร์ไซค์มาแล้วถูกกระแสน้ำพัดตอนนี้ติดอยู่บนต้นไม้ หลังรับแจ้งจึงนำทีมงานพร้อมเรือออกไปช่วยเหลือที่ถนนบ้านหนองหลด -บ่อน้อย เมื่อไปถึงทีมก็ภัยพบผู้ชาย 2 คนนั่งอยู่บนต้นไม้ท่าทางเหนื่อยล้า เจ้าหน้าที่จึงนำเรือลงไปช่วยเหลือ นำตัวขึ้นมาได้อย่างปลอดภัย จากการสอบถามเบื้องต้นทราบว่าเขากำลังจะกลับบ้านโดยใช้เส้นทางลัด หลังจากทำช่วยเหลือน้องทั้ง 2 คน ทางทีมกู้ชีพกู้ภัยก็นำตัวส่ง ที่บ้านดงหินโงมหมู่ 9 ต.เชียงเพ็ง อ.กุดจับ
จ.อุดรธานี ทันที ก็ไม่คิดว่าน้ำจะแรงเชี่ยวขนาดนี้ แต่กู้ภัยเราพร้อมรับมือช่วยเหลือประชาชนทุกสถานการณ์อยู่แล้ว
ทางด้านนายอนุวัฒน์ คำแพงศรี หรือพี อายุ 17 ปี หนึ่งในหนุ่มน้อยที่ปีนต้นไม้หนีตายหลังถูกน้ำซัด เปิดใจว่า ก่อนจะมาประสบเหตุ ตนมาทำธุระในตัวเมืองกับเพื่อนรุ่นน้องและกำลังจะเดินทางกลับบ้าน โดยใช้เส้นทางบ้านหนองหลอด -บ่อน้อย ซึ่งคิดว่าทางนี้น้ำจะท่วมไม่มาก เมื่อขับมาถึงจุดที่เกิดเหตุมีน้ำท่วมขังแต่น้ำก็ไหลไม่แรง จึงขับต่อไป พอขับมาเรื่อยๆ น้ำเริ่มแรงมากขึ้นและอีกนิดเดียวก็จะพ้นน้ำอยู่แล้วแต่กระแสน้ำแรงมากพัดรถจักรยานยนต์ที่ขับมากหายจมน้ำไป ส่วนคนก็ลอยไปไกลกว่า 10 เมตร โชคยังดีที่น้ำพัดไปติดกับต้นไม้จากนั้นจึงพากันปืนขึ้นไปอยู่บนต้นไม้อย่างภาพที่เห็น
ตอนนั้นทำอะไรไม่ถูกไม่รู้ว่ามอเตอร์ไซค์ถูกกระแสไปทางไหน โทรศัพท์ก็ไม่มีไม่รู้จะขอความช่วยเหลือจากใคร ตนกับเพื่อนรุ่นน้องก็พยายามเอาชีวิตรอดไว้ รอนานกว่าเกือบ 1 ชั่วโมงมีชาวบ้านเดินผ่านมาจึงร้องตะโกนขอความช่วยเหลือไม่นานก็มีทีมกู้ภัยมาช่วยเหลือ ระหว่างรอทีมกู้ภัยมาช่วยเหลือก็นั่งครุ่นคิดอยู่นาน ตายแน่ๆ หากไม่มีคนมาช่วย หากน้ำสูงขึ้นจะปีนไปยังไงอีก ก็พากันตัดพ้อกับเพื่อนรุ่นน้องว่าเราไม่น่าขับรถมาทางนี้เลยกลัวก็กลัว แต่ก็พยายามมีชีวิตอยู่ให้ถึงที่สุด กังวลไม่รู้จะมีใครมาช่วยเหลือหรือเปล่า แต่เมื่อเห็นคนแล้วก็รู้สึกว่าเราต้องมีชีวิตรอดแน่นอน ต้องขอขอบคุณทีมพี่ๆกู้ภัยที่เข้ามาช่วยเหลือโดยเฉพาะชาวบ้านรายนั้นที่เดินผ่านมา ขอบคุณชาวบ้านที่มาเจอและพี่ๆ กู้ภัยจากใจจริงๆที่มาช่วยพวกผม ไม่งั้นคงไม่รอดแน่
ล่าสุดอัปเดต เชียงใหม่ น้ำท่วม 2567 สถานการณ์แม่น้ำปิงวิกฤติทะลักท่วม พื้นที่ในชุมชนป่าพร้าวนอก ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ตรวจสอบ ล่าสุดอัปเดต เชียงใหม่น้ำท่วม 2567 สถานการณ์แม่น้ำปิงวิกฤติทะลักท่วม
น้ำปิงระยะวิกฤต สีแดง วันที่ 26 กันยายน 2567 เวลา 13.00 น. วัดได้ 4.72 เมตร
ขณะนี้สถานการณ์แม่น้ำปิงที่เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ในชุมชนป่าพร้าวนอก ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเสี่ยง
และเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำสุดในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยระดับน้ำสูงสุดประมาณ 1.50 เมตร
ซึ่งตลอดทั้งวัน เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้นำเรือท้องแบบ เข้าพื้นที่ไปส่งอาหารและน้ำให้กับผู้ประสบภัยที่ยังอาศัยอยู่ในบ้าน เนื่องจากไม่กล้าทิ้งบ้านออกไปไหน และยังคงช่วยอพยพและอำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านที่ประสงค์จะออกมาจากบ้าน
ทั้งนี้ยังมีญาติของผู้ป่วยติดเตียงได้ขอความช่วยเหลือให้เข้าอพยพผู้ป่วยออกจากพื้นที่เร่งด่วน เนื่องจากสถานการณ์น้ำยังคงทรงตัว
เมื่อเวลา 09.17 น. เฟซบุ๊ก เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้อัปเดตสถานการณ์น้ำท่วม จ.เชียงใหม่ โดยระบุว่า "น้ำปิงระยะวิกฤต สีแดง วันที่ 26 กันยายน 2567 เวลา 09.00 น. วัดได้ 4.82 ม. แนวโน้มลดลง" ณ ชุมชนป่าพร้าวนอก ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ศูนย์ CMFORCE : ศูนย์บริหารจัดการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
ติดต่อได้ที่หมายเลข :
083-7106842 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
083-7043675 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ภาพ - ธิติ วรรณมณฑา NationPhot
เชียงรายวิกฤตฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลากท่วมซ้ำหลายอำเภอ มวลน้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เร่งอพยพคนออกจากพื้นที่ อ.เมือง
วันที่ 1 ตุลาคม 2567 รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงราย แจ้งว่าในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมีฝนตกหนักตั้งแต่ช่วงเช้าในหลายอำเภอ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในตัวเมืองเชียงราย น้ำปลาไหลหลาก และดินสไลด์บริเวณบนดอยหลายอำเภอ
โดยกู้ภัยศิริกรณ์เชียงรายบรรเทาสาธารณภัย แจ้งว่าตรงข้ามตลาดฟ้าไทย
ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย ระดับน้ำขึ้นสูงเรื่อย ๆ ไหลเชี่ยวและแรง ขณะนี้กำลังเร่งอพยพประชาชนบางส่วนออกจากพื้นที่
13.40 น. สภ.บ้านดู่ แจ้งบริเวณทางเข้าบ้านดำ ต.นางแล จนถึงหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มีน้ำท่วมสูง จึงขอปิดการจราจรชั่วคราว ให้รถใช้เส้นทาง แยกบ้านเด่น ไปทางถนนบายพาสตะวันออกเพียงอย่างเดียว
ขณะที่ถนนเส้นหลักในพื้นที่จังหวัดเชียงรายปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะถนน
บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงทางที่จะไปแม่สาย, ถนนหน้าวัดพระธาตุผาเงาะ อ.เชียงแสน, ถนนหน้าบริษัทสิงห์ บ้านดู่-บ้านนางแล, ถนนหน้าโรงพยาบาลแม่จัน และบริเวณหน้า ธ.กสิกรไทย (ห้าแยกพ่อขุน)
นายรุ่งโรจน์ ตันวุฒิ นายอำเภอแม่ลาว แจ้งเหตุพื้นที่ตำบลโป่งแพร่ อ.แม่ลาว เกิดเหตุน้ำป่าจากลำห้วยส้านได้ไหลเข้าท่วมถนนดงมะดะ-เด่นห้า บริเวณหมู่ที่ 6 ต.โป่งแพร่ อ.แม่ลาว โดยรถทุกชนิดยังสามารถผ่านได้ โปรดใช้เส้นทางด้วยความระมัดระวัง
ทีมตอบโต้ภัยพิบัติ มูลนิธิเพชรเกษม เร่งอพยพชาวบ้านและนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย หลังระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุดการไฟฟ้าตัดกระแสไฟฟ้า เนื่องจากระดับน้ำสูงเกือบถึงมิเตอร์ไฟ
วันที่ 1 ตุลาคม 2567 มีรายงานว่า หลังจาก ศปช.ส่วนหน้า ประกาศเตือนภัยระดับ 3 ใน
พื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดเชียงราย ได้แก่ อ.เชียงแสน อ.แม่จัน และ อ.เมืองเชียงราย เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน ขอประชาชนในพื้นที่ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดเตรียมพร้อมอพยพ ตามที่ได้รายงานไปแล้วนั้น
ทั้งนี้ ทีมตอบโต้ภัยพิบัติ มูลนิธิเพชรเกษม อพยพชาวบ้าน และนักศึกษา มหาวิทยาลัย
แม่ฟ้าหลวง ออกมาแล้วกว่า 100 คน และยังอพยพต่อเนื่อง กระแสน้ำเพิ่มสูงขึ้น และเริ่มมีฝนตกลงมา ส่วนอุปสรรคในการทำงานคือความมืด หลังเจ้าหน้าที่ตัดกระแสไฟเพื่อป้องกันอันตรายกับประชาชน และทีมกู้ภัย ล่าสุดขณะนี้กระแสน้ำเริ่มลดลงบ้ างแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าระวังเนื่องจากบนเขายังมีฝนตก
วันนี้ (8 ต.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำใน จ.เชียงใหม่ ว่า มวลน้ำที่ไหลมาจาก จ.เชียงใหม่ คาดว่าจะกระจายท่วมพื้นที่ จ.ลำพูน แยกเป็น 3 โซนใหญ่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบตามลำดับ ดังนี้
โซนที่ 1 รับน้ำจากถนนเลียบรางรถไฟ ส่งผลกระทบยังพื้นที่ บ้านกอม่วง บ้านป่าเห็ว บ้านป่าเส้า บ้านไร่ บ้านหนองหมู บ้านชัยสถาน ต.อุโมงค์ อ.เมือง จ.ลำพูน บ้านต้นผึ้ง บ้านเหมืองง่า บ้านศรีบุญยืน ต.เหมืองง่า และลงคลองสาขาเพื่อไหลลงสู่แม่น้ำกวง ที่เป็นแม่น้ำสายใหญ่
โซนที่ 2 จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำกวงที่เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ บ้านแม่ร่องน้อย บ้านฮ่องกอม่วง บ้านปูเลย บ้านเวียงยอง บ้าน
ศรีเมืองยู้ บ้างวังไฮ บ้านสันต้นธง บ้านหลวย บ้านสันมะกรูด บ้านท่าศาลา บ้านปากล้อง ตลอดจนหมู่บ้านติดน้ำกวง เฝ้าระวังน้ำกวงที่เพิ่มสูงขึ้น และอาจจะล้นเข้าท่วมบ้านเรือนให้ได้รับความเสียหายได้ โดยแม่น้ำกวง ระดับน้ำปัจจุบัน ณ จุด P 5 ต.ในเมือง อ.เมืองลำพูน เวลา 11.00 น. อยู่ที่ 4.58 เมตร ต่ำกว่าจุดวิกฤต 0.42 เมตร (ระดับวิกฤต 5.00 เมตร)
โซนที่ 3 เป็นพื้นที่รับน้ำจากหนองแฝก อุโมงค์ บ้านหัวฝาย บ้านหนองช้างคืน บ้านทรายมูล บ้านป่าขาม บ้านหลุก บ้านน้ำโค้ง บ้านล่ามช้าง บ้านหนองมูล บ้านประตูป่า บ้านท่ากว้าง บ้านร่องเชี่ยว บ้านเจดีย์ขาว บ้านสันริมปิง ไหลลงคลองสาขาเพื่อออกสู่น้ำปิง ต่อไป
ปัจจุบันระดับแม่น้ำปิง เวลา 11.00 น. ณ จุด P1 สะพานนวรัฐ ปัจจุบันอยู่ที่ 3.81 เมตร สูงกว่าระดับวิกฤต 0.11 เมตร (ระดับวิกฤต 3.70 เมตร) มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ตามลำดับ
ขอให้ประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 โซน โดยเฉพาะ ต.อุโมงค์ ต.เหมืองง่า ยกของขึ้นที่สูง และย้ายยานพาหนะไปจอดยังพื้นที่สูงชั่วคราว รวมถึงให้ระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษที่จะมากับน้ำและอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่วไหลด้วย หากต้องการความช่วยเหลือให้ติดต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ โทร.1784 สายด่วนนิรภัย ปภ. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง