บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน "ปาบึก" (PABUK)
ช่วงต้นเดือนมกราคม 2562

พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) ก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2561 และมีทิศทางการเคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตกมุ่งเข้าสู่อ่าวไทยตอนล่าง โดยอิทธิพลของพายุเริ่มส่งผลทำให้เกิดฝนตกเพิ่มขึ้นบริเวณภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2562 และได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในขณะที่ความแรงของพายุอยู่ในระดับพายุโซนร้อน ในช่วงเที่ยงของวันที่ 4 มกราคม 2562 และต่อมาได้เคลื่อนตัวเข้าปกคลุมบริเวณจังหวัดพังงาพร้อมกับลดกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันในช่วงเช้าของวันที่ 5 มกราคม 2562 ก่อนที่จะเคลื่อนตัวลงทะเลอันดามันไปในวันเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบเส้นทางและความรุนแรงของพายุโซนร้อน "ปาบึก" (PABUK) กับพายุลูกอื่นที่เคยสร้างความเสียหายให้กับภาคใต้ของไทยอดีต ไม่ว่าจะเป็นพายุโซนร้อน "แฮเรียต" (HARRIET) ในปี 2505 พายุไต้ฝุ่น "เกย์" (GAY) ปี 2532 พายุไต้ฝุ่น "ลินดา" (LINDA) ปี 2540 และพายุไต้ฝุ่น "ทุเรียน" (DURIAN) ปี 2549 พบว่าพายุโซนร้อนแฮเรียตและพายุโซนร้อนปาบึก เคลื่อนขึ้นฝั่งที่บริเวณ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เหมือนกัน ด้วยความแรงที่อยู่ในเกณฑ์พายุโซนร้อนเหมือนกัน แต่พายุโซนร้อนปาบึกมีความเร็วลมมากกว่า ส่วนพายุลินดาเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ด้วยความเร็วลมในระดับพายุโซนร้อน เช่นเดียวกันกับพายุแฮเรียตและพายุปาบึก ส่วนพายุไต้ฝุ่นทุเรียน ถึงแม้จะเป็นพายุที่มีความเร็วลมอยู่ในเกณฑ์พายุไต้ฝุ่น แต่ก่อนที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคใต้ของไทย พายุได้ลดกำลังลงมาอยู่ในเกณฑ์พายุดีเปรสชันเท่านั้น มีเพียงพายุไต้ฝุ่นเกย์เพียงลูกเดียวในประวัติศาสตร์ ที่เคลื่อนตัวเข้ามาในประเทศไทยด้วยความแรงในระดับพายุไต้ฝุ่น อิทธิพลจากพายุโซนร้อน "ปาบึก" เริ่มส่งผลทำให้ภาคใต้ตอนล่าง บริเวณจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส มีฝนเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2562 โดยแนวฝนมีการเคลื่อนตัวจากภาคใต้ตอนล่างขึ้นสู่ตอนบนของภาคตามการเคลื่อนตัวของพายุ โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 3-4 มกราคม 2562 ที่มีฝนตก

หนักถึงหนักมากกระจายตัวเป็นบริเวณกว้างในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา และจังหวัดใกล้เคียง ต่อมาในวันที่ 5 มกราคม 2562 ปริมาณฝนโดยรวมลดลง แต่ ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากทางตอนบนของภาคโดยเฉพาะบริเวณจังหวัดชุมพรและประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้กลุ่มฝนได้สลายตัวไปในวันที่ 6 มกราคม 2562 สำหรับจังหวัดที่มีฝนตกหนักมาก ปริมาณฝนเกิน 90 มิลลิเมตรต่อวัน ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ตรัง กระบี่ พังงา ประจวบคีรีขันธ์ และระนอง หากเปรียบเทียบปริมาณฝนที่เกิดจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน "ปาบึก" กับช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในอดีต ปี 2553 2554 2559 2560 พบว่าอิทธิพลจากพายุปาบึกทำให้เกิดฝนในพื้นที่ภาคใต้เป็นระยะเวลาค่อนข้างสั้นรวมทั้งปริมาณฝนโดยรวมน้อยกว่าเหตุการณ์อื่น และถึงแม้อิทธิพลจากพายุโซนร้อน "ปาบึก" จะทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของภาคใต้ แต่กลับไม่ทำให้น้ำไหลลงเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่มีเพิ่มขึ้นมากนัก โดยเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี มีน้ำไหลลงสูงสุดต่อวันเพียง 6.97 ล้านลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 5 มกราคม 2562 ส่วนเขื่อนบางลาง จ.ยะลา มีปริมาณน้ำไหลลงเพียง 9.50 ล้านลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 3 มกราคม 2562 นอกจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน "ปาบึก" จะส่งผลทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้แล้ว ยังส่งผลให้ความสูงของคลื่นบริเวณอ่าวไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยคลื่นบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างเริ่มเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1-2 เมตร ในวันที่ 2 มกราคม 2562 ต่อมาในวันที่ 3 มกราคม 2562 ชายฝั่งภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดพัทลุงลงไปมีความสูงคลื่นเพิ่มขึ้นเป็น 3-5 เมตร เนื่องจากพายุได้เคลื่อนเข้ามาใกล้บริเวณดังกล่าว และเนื่องจากพายุมีทิศทางการเคลื่อนตัวขึ้นไปทางทิศเหนือ ส่งผลทำให้บริเวณชายฝั่งที่พายุเคลื่อนเข้าไปใกล้มีความสูงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชายฝั่งบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี ที่มีคลื่นสูงเพิ่มขึ้นเป็น 3-5 เมตร ในวันที่ 4 มกราคม 2562 เนื่องจากพายุได้เคลื่อนขึ้นฝั่งในบริเวณดังกล่าว ตั้งแต่บริเวณชายฝั่งตั้งแต่จังหวัด

สงขลาลงไป ความสูงของคลื่นลดลงเหลือประมาณ 2-3 เมตร ต่อมาในวันที่ 5 มกราคม 2562 ที่ถึงแม้พายุจะเคลื่อนตัวลงทะเลอันดามันไปแล้ว แต่อิทธิพลของพายุยังคงส่งผลทำให้มีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณชายฝั่งจังหวัดชุมพรและประจวบคีรีขันธ์ โดยความสูงคลื่นเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติในวันที่ 6 มกราคม 2562 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รายงานสถานการณ์อุทกภัย ประจำวันที่ 7 มกราคม 2562 กรณีพายุโซนร้อน “ปาบึก” ที่ส่งผลกระทบตั้งแต่วันที่ 3-7 มกราคม 2562 ซึ่งนอกเหนือจากพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบถึง 14 จังหวัด และภาคกลางตอนล่าง 2 จังหวัด คือ จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ แล้ว อิทธิพลจากพายุดังกล่าวยังส่งผลกระทบไปถึงภาคตะวันออกและภาคกลางตอนล่างที่ติดชายฝั่งทะเล โดยมีสถานการณ์วาตภัย คลื่นลมแรง คลื่นสูงกว่าปกติและน้ำทะเลหนุนสูงเข้าสู่ชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดระยอง จันทบุรี ชลบุรี ตราด สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 23 จังหวัด 97 อำเภอ 454 ตำบล 2,887 หมู่บ้าน 133 ชุมชน ราษฎรได้รับผลกระทบ 222,737 ครัวเรือน 720,885 คน เสียชีวิต 4 ราย ประกอบด้วย จ.นครศรีธรรมราช 2 ราย จ.ปัตตานี 2 ราย มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จุดอพยพ 123 จุด 31,665 คน ยังคงเหลือจุดอพยพ รวม 6 จุด 970 คน ที่ จ.นครศรีธรรมราช นอกจากนี้ยังมีความเสียหายด้านสิ่งสาธารณูปโภค ประกอบด้วย บ้านเรือนเสียหายทั้งหมด 5 หลัง เสียหายบางส่วน 5,254 หลัง โดย ณ วันที่รายงาน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 20 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส สงขลา พัทลุง ระนอง กระบี่ ยะลา สตูล ภูเก็ต พังงา ตรัง เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ และยังคงมีสถานการณ์ 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร รวม 41 อำเภอ 251 ตำบล 1,924 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 193,598 ครัวเรือน 577,617 คน








บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพมหานครจากสถานการณ์ฝนตกหนัก
7 มิถุนายน 2562

วันที่ 7 มิถุนายน 2562 เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร โดยกลุ่มฝนตกหนักส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่บริเวณพื้นที่ตอนกลางค่อนไปทางเหนือของกรุงเทพมหานคร เช่น บางกอกน้อย ปทุมวัน บางรัก สาธร ราชเทวี ดุสิต พระนคร พญาไท ดินแดง ห้วยขวาง บางซื่อ จตุจักร ลาดพร้าว หลักสี่ บางเขน เป็นต้น ซึ่งจากข้อมูลการตรวจวัดปริมาณฝนสะสมรายวันในวันที่ 7 มิถุนายน 2562 ของสถานีฝนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 130 สถานี ใน 51 เขต พบปริมาณฝนสะสมสูงสุด 133 มิลลิเมตร ที่เขตปทุมวัน รองลงมาคือที่เขตพระนครและเขตบางกอกน้อย วัดปริมาณฝนได้ 124 และ 113 มิลลิเมตร ตามลำดับ ทั้งนี้ พบปริมาณฝนตกเกิน 100 มิลลิเมตร ทั้งหมด 6 จุด ได้แก่ 1) เขตปทุมวัน 2) เขตพระนคร 3) เขตบางกอกน้อย

4)เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 5) เขตพญาไท และ 6) เขตห้วยขวาง ส่วนจุดที่มีฝนตกอยู่ในเกณฑ์ฝนตกหนักมาก (ปริมาณฝนมากกว่า 90 มิลลิเมตร) มีทั้งหมด 13 จุด ได้แก่ 1) เขตปทุมวัน 2) เขตพระนคร 3) เขตบางกอกน้อย 4) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 5) เขตพญาไท 6) เขตห้วยขวาง 7) ส.บางซื่อ 8) ส.คลองสามเสน 9) ปากคลองตลาด 10) ปตร.คลองอรชร 11) ท่าน้ำสวัสดี 12) จุดวัดบึงมักกะสัน และ 13) เขตบางพลัด และจุดที่มีฝนตกอยู่ในเกณฑ์ฝนตกหนัก (ปริมาณฝนอยู่ระหว่าง 35.1-90 มิลลิเมตร) มีทั้งหมด 35 จุด จากสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังสูงบนถนนสายหลักจำนวนทั้งสิ้น 26 จุด ใน 14 เขต ได้แก่ 1) ดุสิต 2) จตุจักร 3) ดินแดง 4) พญาไท 5) ราชเทวี 6) หลักสี่ 7) บางซื่อ 8) คลองเตย 9) พระนคร

10) สวนหลวง 11) สาทร 12) ป้อมปราบศัตรูพ่าย 13) ห้วยขวาง และ 14) ปทุมวัน โดยบริเวณที่ถูกน้ำท่วมสูงตั้งแต่ 20 ซม. ขึ้นไป มี 7 จุด ถนนที่ถูกน้ำท่วมเป็นระยะทางยาวที่สุด ได้แก่ ถนนราชวิถี บริเวณหน้าราชภัฏสวนสุนันทา ถูกน้ำท่วมเป็นระยะทางยาว 1,000 เมตร รองลงมาคือ ถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณหน้าการบินไทย-แยกสุทธิสาร ถูกน้ำท่วมเป็นระยะทางยาว 900 เมตร ส่วนถนนที่ถูกน้ำท่วมขังเต็มผิวจราจรทั้งหมดมีทั้งหมด 10 จุด จุดที่ถูกน้ำท่วมนานที่สุด คือ ถนนราชวิถี บริเวณหน้ากรมปศุสัตว์ และถนนประชาสุข บริเวณถนนประชาสงเคราะห์ถึงไปรษณีย์ ที่ถูกน้ำท่วมนานถึง 5.30 ชั่วโมง โดยถนนงามวงศ์วาน บริเวณซอยชินเขต ถูกน้ำท่วมเป็นระยะเวลาน้อยที่สุดเพียง 20 นาที








บันทึกเหตุการณ์น้ำภาคใต้จากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำ
ช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2562

ช่วงวันที่ 24-29 มิถุนายน 2562 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณตอนบนของประเทศเมียนมาและประเทศเวียดนาม ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของประเทศเมียนมา ประเทศลาว และประเทศเวียดนาม ทำให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรง ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก เนื่องจากลมมรสุม

ตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงขึ้น ทั้งนี้ จังหวัดที่มีฝนตกหนักมาก (ตรวจวัดปริมาณฝนได้เกิน 90 มิลลิเมตรต่อวัน) ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต และประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดที่มีฝนตกหนัก (ตรวจวัดปริมาณฝนได้ 35-90 มิลลิเมตรต่อวัน) ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต พังงา นราธิวาส นครศรีธรรมราช ตรัง สุราษฏร์ธานี สตูล ยะลา และสงขลา แต่อย่างไรก็ตามปริมาณฝนที่ตกหนักในบริเวณดังกล่าว ไม่ส่งผลทำให้น้ำไหลลงเขื่อนขนาดใหญ่ใน

พื้นที่เพิ่มปริมาณสูงขึ้น แต่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2562 จนถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2562 ในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพังงา และจังหวัดกระบี่ รวมทั้งสิ้น 6 อำเภอ 13 ตำบล 36 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ทั้งสิ้น 562 ครัวเรือน 1,988 คน อพยพ 6 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 20 คน








บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุ "วิภา" (WIPHA)
ต้นเดือนสิงหาคม 2562

ช่วงวันที่ 29 ก.ค. 62-5 ส.ค. 62 ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากพายุวิภาที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณอ.แม่จริม จ.น่าน ในขณะที่มีกำลังแรงในระดับพายุดีเปรสชัน ในวันที่ 4 สิงหาคม 2562 จากนั้นได้เคลื่อนตัวเข้าสู่จังหวัดแพร่แล้วอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณจังหวัดลำปาง ซึ่งอิทธิพลของพายุส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก โดยมีน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดพะเยาและตาก น้ำป่าไหลหลากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนและตราด

และดินถล่มบริเวณจังหวัดน่าน ทั้งนี้ จังหวัดที่มีฝนตกหนักมาก (ตรวจวัดปริมาณฝนได้เกิน 90 มิลลิเมตรต่อวัน) ได้แก่ จังหวัดเชียงราย แพร่ ตาก น่าน พะเยา พิษณุโลก และลำปาง ปริมาณฝนที่ตกหนักในช่วงดังกล่าว ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์เพิ่มจากเดิมที่มีปริมาณน้ำกักเก็บ 3,219 ล้าน ล.ม. หรือ 34 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 29 ก.ค. 62 เพิ่มขึ้นเป็น 3,401 ล้าน ล.ม. หรือ หรือเพิ่มขึ้น 182 ล้าน ลบ.ม. โดยมวลน้ำได้ไหลลงเขื่อนสูงที่สุดในวันที่ 7 ส.ค. 62

ซึ่งมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสูงสุด 84 ล้าน ลบ.ม. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รายงานสถานการณ์อุทกภัย ประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2562 โดยตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 62 จนถึงวันที่รายงาน มีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 3,113 หลัง มีผู้เสียชีวิต 4 ราย เรือประมงขนาดเล็ก 12 ลำ สะพาน 8 แห่ง ถนน 15 สาย ฝาย 2 แห่ง นาข้าว 442 ไร่ 206 ไร่ พืชสวน 50 ไร่








บันทึกเหตุการณ์พายุโซนร้อน"โพดุล" (PODUL) และพายุโซนร้อน"คาจิกิ" (KAJIKI)
ปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน 2562



ช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน 2562 มีพายุที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย 2 ลูก ซึ่งเกิดขึ้นค่อนข้างต่อเนื่อง พายุลูกแรกคือ พายุโซนร้อน “โพดุล” (PODUL) ที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ในขณะที่เป็นพายุดีเปรสชัน ซึ่งพายุดังกล่าวได้ลดกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในวันเดียวกัน ซึ่งส่งผลทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 29-31 สิงหาคม 2562 นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตก

หนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากอิทธิพลของพายุส่งผลทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้นด้วย ทั้งนี้ จังหวัดที่มีฝนตกหนักมาก (ตรวจวัดปริมาณฝนได้เกิน 90 มิลลิเมตรต่อวัน) ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ พะเยา พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ กาญจนบุรี อุทัยธานี ราชบุรี สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล พังงา พัทลุง กระบี่ ระนอง และนราธิวาส สถานการณ์ฝนตกหนัก

จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โพดุล” (PODUL) ยังไม่ทันคลี่คลาย ประเทศไทยได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากพายุโซนร้อน “คาจิกิ” (KAJIKI) ซึ่งเป็นพายุลูกที่ 2 ที่ถึงแม้จะเคลื่อนตัวมาถึงแค่ประเทศลาว แต่อิทธิพลของพายุส่งผลทำให้เกิดฝนตกหนักบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกครั้งในช่วงวันที่ 2-4 กันยายน 2562 โดยเฉพาะจังหวัด ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ที่มีฝนตกหนักมาก และเป็นบริเวณเดิมที่ได้รับผลกระทบจากพายุ “โพดุล” (PODUL)


Tropical Storm Podul on August 29, 2019
Tropical Storm Kajiki on September 2, 2019




ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2562 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รายงานสถานการณ์ภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อน "โพดุล" และพายุโซนร้อน "คาจิกิ" รวมถึงอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ตั้งแต่ช่วงวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2562 ซึ่งส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วม ฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย ในพื้นที่ 32 จังหวัด ประกอบด้วย 1) ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย 2) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ นครพนม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มหาสารคาม ขอนแก่น หนองบัวลำภู ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี เลย ศรีสะเกษ สกลนคร 3) ภาค

ตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี ตราด สระแก้ว 4) ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ระนอง ชุมพร รวมพื้นที่ความเสียหายทั้งสิ้น 181 อำเภอ 968 ตำบล 7,114 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล 11 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 418,449 ครัวเรือน บ้านเรือนประชาชนได้รับ ความเสียหายบางส่วน 3,818 หลัง มีผู้เสียชีวิต 33 ราย ประกอบด้วย ยโสธร 8 ราย ร้อยเอ็ด 6 ราย อำนาจเจริญ 5 ราย ขอนแก่น 3 ราย อุบลราชธานี 3 ราย พิจิตร 2 ราย ศรีสะเกษ 2 ราย พิษณุโลก 1 ราย มุกดาหาร 1 ราย สกลนคร 1 ราย น่าน 1 ราย มีผู้บาดเจ็บ 1 รายที่ จ.ชัยภูมิ ยังคงมีสถานการณ์ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ มีผู้อพยพ 3 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด รวม 94 จุด 23,083 คน ได้แก่ จ.ยโสธร 11 จุด 733 คน

จ.อุบลราชธานี 61 จุด 22,220 คน จ.ร้อยเอ็ด 22 จุด 130 คน จากข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงวันที่ 29 สิงหาคม ถึงวันที่ 16 กันยายน 2562 ตรวจพบพื้นที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมดประมาณ 4.2 ล้านไร่ โดยจังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมมากที่สุด 622,313 ไร่ รองลงมาคือจังหวัดยโสธร 384,612 ไร่ และอุบลราชธานี 371,399 ไร่ โดยเฉพาะที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจุดรับน้ำที่ไหลมาจากทั้งแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำโขง ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมหนักเป็นเวลานานกว่าพื้นที่อื่น จากการตรวจวัดระดับน้ำที่สถานี M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย ในตัวเมืองอุบลราชธานี จะเห็นได้ว่าระดับน้ำล้นตลิ่งตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2562 จนถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ระดับน้ำจึงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รวมระยะเวลาที่น้ำล้นตลิ่งนานถึง 30 วัน






จากเหตุการณ์ฝนตกหนักที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของพายุทั้ง 2 ลูก ทำให้มีน้ำไหลลงเขื่อนขนาดใหญ่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกเขื่อน โดยในช่วงวันที่ 28 สิงหาคม ถึง 7 กันยายน 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์พายุทั้ง 2 ลูก เขื่อนที่มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมมากกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร มีทั้งหมด 10 เขื่อน ประกอบด้วย เขื่อนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมถึง 699 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ 677 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนภาคเหนือ 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ 726 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก 634 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก 201 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคกลาง 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี 981 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อน

ศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี 468 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี 177 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนภาคใต้ มี 2 เขื่อนได้แก่ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี 192 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 143 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ถึงแม้พายุโซนร้อน “โพดุล” และพายุโซนร้อน “คาจิกิ” จะส่งผลกระทบทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในหลายเขื่อน แต่จากการรายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนโดยกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2562 มีเขื่อนที่ปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้นจนอยู่ในเกณฑ์น้ำมากเพียง 4 เขื่อนเท่านั้น คือ 1) เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 90% 2) เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี 82% 3) เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี 85% 4) เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 84% แต่กลับยังคงมีเขื่อนที่

มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยถึงน้ำน้อยวิกฤต อยู่อีกถึง 18 เขื่อน ประกอบด้วย ภาคเหนือ 4 เขื่อน ได้แก่ 1) เขื่อนภูมิพล จ.ตาก 2) เขื่อนแม่กวง จ.เชียงใหม่ 3) เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก และ 4) เขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 เขื่อน ได้แก่ 1) เขื่อนลำตะคอง 2) เขื่อนลำพระเพลิง 3) เขื่อนมูลบน 4) เขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา 5) เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น 6) เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ 7) เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ และ 8) เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร ภาคกลาง 3 เขื่อน ได้แก่ 1) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี 2) เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี และ 3) เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี ภาคตะวันออก 3 เขื่อน ได้แก่ 1) เขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา 2) เขื่อนบางพระ จ.ชลบุรี และ 3) เขื่อนประแสร์ จ.ระยอง