ปี 2562 มีพายุเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 3 ลูก ประกอบด้วย พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) ซึ่งเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในขณะที่มีกำลังแรงอยู่ในระดับพายุโซนร้อน ส่งผลทำให้เกิดฝนตกในหลาย
พื้นที่ของภาคใต้ในช่วงเดือนมกราคม ส่วนพายุอีก 2 ลูก เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในขณะที่มีกำลังแรงอยู่ในระดับพายุดีเปรสชัน ได้แก่ พายุโซนร้อน “วิภา” (WIPHA) และพายุโซนร้อน “โพดุล” (PODUL)
ที่ส่งผลกระทบทำให้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในช่วงเดือนสิงหาคม รายละเอียดเพิ่มดังแผนที่ ตาราง และแผนภูมิพายุุ ด้านล่าง
พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK)
พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) ก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2561 และเคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตกมุ่งเข้าสู่อ่าวไทยตอนล่าง โดยอิทธิพลของพายุเริ่มส่งผลทำให้เกิดฝนตกเพิ่มขึ้นบริเวณภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2562 หลังจากนั้นพายุดังกล่าวได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในช่วงเที่ยงของวันที่ 4 มกราคม 2562 ในขณะที่ความแรงของพายุอยู่ในระดับพายุโซนร้อน ซึ่งต่อมาได้เคลื่อนตัวเข้าปกคลุมบริเวณจังหวัดพังงาพร้อมกับลดกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันในช่วงเช้าของวันที่ 5 มกราคม 2562 ก่อนที่จะเคลื่อนตัวลงทะเลอันดามันไปในวันเดียวกัน
อิทธิพลจากพายุโซนร้อน "ปาบึก" เริ่มส่งผลทำให้ภาคใต้ตอนล่าง บริเวณจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส มีฝนเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2562 โดยแนวฝนมีการเคลื่อนตัวจากภาคใต้ตอนล่างขึ้นสู่ตอนบนของภาคตามการเคลื่อนตัวของพายุ โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 3-4 มกราคม 2562 ที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายตัวเป็นบริเวณกว้างในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา และจังหวัดใกล้เคียง ต่อมาในวันที่ 5 มกราคม 2562 ปริมาณฝนโดยรวมลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากทางตอนบนของภาคโดยเฉพาะบริเวณจังหวัดชุมพรและประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้กลุ่มฝนได้สลายตัวไปในวันที่ 6 มกราคม 2562 สำหรับจังหวัดที่มีฝนตกหนักมาก ปริมาณฝนเกิน 90
มิลลิเมตรต่อวัน ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ตรัง กระบี่ พังงา ประจวบคีรีขันธ์ และระนอง หากเปรียบเทียบปริมาณฝนที่เกิดจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน "ปาบึก" กับช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในอดีต ปี 2553 2554 2559 2560 พบว่าอิทธิพลจากพายุปาบึกทำให้เกิดฝนในพื้นที่ภาคใต้เป็นระยะเวลาค่อนข้างสั้นรวมทั้งปริมาณฝนโดยรวมน้อยกว่าเหตุการณ์อื่น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พายุลูกนี้ถือเป็นพายุลูกประวัติศาสตร์ลูกหนึ่งเนื่องด้วยเหตุผล ดังนี้
1) เป็นพายุเพียงลูกเดียวที่เคลื่อนตัวเข้าภาคใต้ในช่วงเดือนมกราคมตั้งแต่ประเทศไทยมีการบันทึกข้อมูลพายุ
2) เป็นพายุที่เคลื่อนขึ้นฝั่งภาคใต้ต่อจากพายุ “ลินดา” (LINDA) ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ซึ่งทิ้งระยะยาวนานถึง 22 ปี
พายุโซนร้อน “วิภา” (WIPHA)
พายุ “วิภา” ก่อตัวขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2562 แล้วทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 หลังจากนั้นได้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกผ่านเกาะไหหลำ เข้าสู่บริเวณตอนใต้ของมลฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ในวันที่ 1 สิงหาคม 2562 แล้วเคลื่อนตัวผ่านอ่าวตังเกี๋ยขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2562 แล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันในวันเดียวกัน หลังจากนั้นได้เคลื่อนตัวผ่านประเทศลาวเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณ อ.แม่จริม จ.น่าน ในขณะที่มีกำลังแรงในระดับพายุดีเปรสชัน จากนั้นได้
เคลื่อนตัวเข้าสู่จังหวัดแพร่แล้วอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณจังหวัดลำปาง ในวันที่ 4 สิงหาคม 2562 ซึ่งอิทธิพลของพายุส่งผลทำให้เกิดฝนตกเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ รวมถึงทำให้เกิดดินสไลด์บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน
พายุโซนร้อน “โพดุล” (PODUL)
พายุโซนร้อน “โพดุล” (PODUL) ได้เริ่มก่อตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 หลังจากนั้นได้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันในขณะที่ยังเคลื่อนตัวอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออกของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 และได้ทวีกำลังแรงต่อเนื่องเป็นพายุโซนร้อน “โพดุล” (PODUL) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 พร้อมกับเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงทะเลจีนใต้ ในวันเดียวกัน ต่อมาในวันที่ 29 สิงหาคม 2562 พายุดังกล่าวได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองดองฮอย ประเทศเวียดนาม ผ่านประเทศลาว และเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณ อ.เมือง จ.นครพนม ในวันที่ 30 สิงหาคม 2562 พร้อมลดกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและได้ลดกำลังลงต่อเนื่องเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในวันเดียวกัน โดยหย่อมความกดอากาศต่ำดังกล่าวได้แผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่
นอกจากพายุทั้ง 3 ลูกที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากพายุอีก 5 ลูก ที่ถึงแม้จะไม่ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย แต่พายุดังกล่าวได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำก่อนเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณประเทศไทยหรืออ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเพื่อนบ้าน
ซึ่งส่งผลทำให้ประเทศไทยมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น โดยพายุทั้ง 5 ลูก ประกอบด้วย
1) พายุโซนร้อน "มูน" (MUN) ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม
2) พายุโซนร้อน "คาจิกิ" (KAJIKI) ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงต้นเดือนกันยายน
3) พายุโซนร้อน "แมตโม" (MATMO) ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงปลายเดือนตุลาคม
4) พายุโซนร้อน "นากรี" (NAKRI) ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน
5) พายุไต้ฝุ่น "ฟานทอง" (PHANFONE) ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงปลายเดือนธันวาคม
นอกจากนี้ ยังมีพายุลูกอื่น ๆ ที่เคลื่อนเข้ามาสู่บริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งส่งผลต่อสภาพอากาศบริเวณที่พายุเคลื่อนตัวผ่าน แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ
ประเทศไทย ประกอบด้วย 1) พายุโซนร้อน “ไป่ลู่” (BAILU) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2) พายุโซนร้อน “คัลแมกี” (KALMAEGI) ซึ่งเกิดขึ้นใน
ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 3) พายุโซนร้อน “คัมมูริ” (KAMMURI) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นเดือนธันวาคม
หากเปรียบเทียบจำนวนพายุในปี 2562 กับสถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในรอบ 69 ปี (2494-2561) จะเห็นได้ว่า ปี 2562 มีพายุเคลื่อนเข้ามาในประเทศไทย 3 ลูก เท่ากับค่าเฉลี่ย นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2540 พายุที่เคลื่อนตัวเข้ามายังประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
ทั้งสิ้น โดยมีปีที่จำนวนพายุเท่ากับค่าเฉลี่ยเพียง 5 ปี เท่านั้น และหากพิจารณาข้อมูลเป็นรายเดือน พบว่า เดือนที่มีพายุเคลื่อนเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุดคือ เดือนตุลาคม ซึ่งมีพายุที่เคลื่อนเข้ามาทั้งหมด 55 ลูก รองลงมาคือ เดือนกันยายนและเดือนพฤศจิกายน โดยมีจำนวนพายุที่เคลื่อนเข้ามาทั้งหมด 51 และ 31
ลูก ตามลำดับ ทั้งนี้พายุที่เคลื่อนตัวเข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับดีเปรสชัน รองลงมาคือ พายุโซนร้อนและมีพายุไต้ฝุ่น โดยเคลื่อนเข้ามาในประเทศไทยเพียงลูกเดียวเท่านั้น ได้แก่ พายุไต้ฝุ่น “เกย์” ในปี 2532