อิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย รวมทั้งอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2566 ส่งผลทำให้เขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่มีน้ำไหลลงเขื่อนเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงวันที่ 27 กรกฎาคม ถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2566 เขื่อนในภาคเหนือมีน้ำไหลลงเขื่อนรวมกันทั้งสิ้น 1,336
ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายออกไป 749 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีน้ำไหลลงเขื่อนรวมกัน 805 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายออกไป 297 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีน้ำไหลลงเขื่อนมากที่สุด 910 ล้านลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ 395 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก 343 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ แม้จะมีน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว แต่หลายเขื่อนในภาคเหนือ
และภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยและน้ำน้อยวิกฤต อยู่ถึง 13 เขื่อน จากทั้งหมด 20 เขื่อน ประกอบด้วย เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น