ข่าวน้ำท่วม



หนองคายฝนตกต่อเนื่องน้ำระบายไม่ทัน ห้วยโมงเร่งระบายน้ำ [ ผู้จัดการออนไลน์ : 3 ส.ค. 66 เวลา 15.14 น. ]

หนองคาย - หนองคายฝนตกหนักต่อเนื่องน้ำระบายไม่ทันท่วมขังตามซอย ขณะที่โครงการห้วยโมงเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง

วันนี้ (3 ส.ค. 66) ที่จังหวัดหนองคายได้รับอิทธิพลจากพายุฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน ในหลายพื้นที่ซึ่งเป็นที่ลุ่มแอ่งกระทะ น้ำฝนรอการระบายได้ท่วมขัง

ตามซอยต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย เจ้าหน้าที่ได้นำแผงกั้นมาวางเป็นแนว เตือนให้ประชาชนใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์อาจเสียหลักล้ม เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ขณะที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ได้เร่งสูบน้ำจาก

ลำห้วยโมงลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ลงแม่น้ำโขง โดยมีปริมาณน้ำสะสมในลำห้วยโมงสูงจากฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดหนองคายและอุดรธานีที่เชื่อมต่อกัน เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ซึ่งแม่น้ำโขงยังมีระดับต่ำกว่าตลิ่ง สามารถรองรับน้ำได้อีกมาก







น้ำท่วม ‘นครพนม’ ยังน่าห่วง ฝนตกต่อเนื่องหวั่นขยายวงกว้าง [ เดลินิวส์ : 3 ส.ค. 66 เวลา 18.02 น. ]

สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.นครพนม ยังน่าห่วง พบมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง หวั่นขยายวงกว้างหากฝนไม่หยุดตก หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหาย เข้าช่วยเหลือชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำของ จ.นครพนม ตลอดทั้งวันยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ อ.นาทม จ.นครพนม ปริมาณน้ำฝนวัดได้สูงสุดที่ 84.2 มม. รองลงมาตกในพื้นที่ อ.ท่าอุเทน และ อ.เมือง จ.นครพนม วัดปริมาณน้ำฝนได้ที่ 69.5 มม. และ 69.6 มม. ตามลำดับ และยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดตก ทำให้ระดับน้ำที่เอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรรวม 3 อำเภอ มีระดับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งหากน้ำแช่ขังนานวันอาจทำให้นาข้าวได้รับความเสียหายหลายพันไร่

ที่บ้านตาลปากน้ำ หมู่ 2 ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ได้เกิดการทรุดตัวของท่อระบายน้ำริมทางหลวงหมายเลข 212 ซึ่งเพิ่งทำการก่อสร้างแล้วเสร็จใหม่ๆ ทำให้น้ำไม่สามารถระบายลงสู่แม่น้ำสงครามตามปกติได้ ชาวบ้านในละแวกดังกล่าวหลายสิบครัวเรือนถูกน้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน ทำให้ข้าวของเครื่องใช้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก น.ส.จารุวรรณ อุดานนท์

ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ไชยบุรี ได้ประสานขอความช่วยเหลือจาก อบต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน นำกำลังเจ้าหน้าที่ร่วมกันขุดเจาะผิวถนนบางส่วนเปิดทางระบายน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำสงคราม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎรเป็นการเบื้องต้นแล้ว ก่อนที่จะแจ้งให้แขวงการทางนครพนม เข้าดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขท่อระบายน้ำให้กลับสู่สภาพปกติต่อไป

ขณะเดียวกัน กลุ่มแม่บ้านอาสาสมัครบ้านไชยบุรี ได้เข้าให้การช่วยเหลือนางมณี ใสส่อง คุณยายวัย 76 ปี อยู่บ้านเลขที่ 96/1 หมู่ 2 ซึ่งเป็นผู้สูงอายุและพักอาศัยอยู่เพียงลำพัง พบว่ากระแสน้ำได้เอ่อล้นเข้ามาภายในบ้าน ตั้งแต่กลางดึกของวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ขนย้ายข้าวของหนีน้ำไม่ทัน จนได้ความเสียหายเกือบทั้งหมด ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้จัดนำเครื่องสูบน้ำมาช่วยเหลือสูบน้ำออกมาจากบ้านจนแห้ง และทำทำนบกั้นน้ำไม่ให้น้ำไหลเข้าบ้านอีก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นแล้ว

นอกจากนั้นยังมีบ้านของนายพิทักษ์ ป้องทอง อายุ 55 ปี อาศัยอยู่ที่บ้านวังโพธิ์ หมู่ 12 ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ถูกน้ำท่วมบ้านจนเกือบถึงหลังคา พบว่าเป็นบ้านสองชั้นลักษณะครึ่งปูนครึ่งไม้ ส่วนสาเหตุ

ของน้ำท่วมที่บ้านหลังดังกล่าว สืบเนื่องจากโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำสงครามที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ไม่ได้จัดทำระบบระบายน้ำที่ดีพอ เพราะก่อนสร้างเขื่อนแห่งนี้ น้ำฝนที่ตกลงมาจะไหลลงแม่น้ำสงครามตามธรรมชาติ แต่เมื่อมีโครงการก่อสร้างมาปิดกั้นทางน้ำไว้ ทำให้น้ำจากจุดต่างๆ ไหลมารวมกันที่บริเวณดังกล่าว เนื่องจากเป็นที่ลุ่ม จนเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมในที่สุด

นางมาริสา ดวงสงค์ นายก อบต.ไชยบุรี กล่าวว่า ตนได้รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านทั้งหมดแล้ว และจะรีบดำเนินการจัดวางระบบท่อระบายน้ำอย่างเป็นระบบใหม่ คาดว่าสามารถดำเนินการได้ในงบประมาณที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน ส่วนภาพรวมข้อมูลความเสียหายขณะนี้ มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบแล้วประมาณเกือบสี่พันไร่ ถนนถูกน้ำท่วมขังรวม 4 สาย โดยทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม ได้ออกประกาศเตือนประชาชนให้คอยติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือ หรือได้รับความเดือดร้อน สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนนิรภัยโทร. 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะมีเจ้าหน้าที่เข้าให้การช่วยเหลือโดยทันที







ผู้ว่าฯ น่าน ลุยสำรวจพื้นที่น้ำหลากเข้าท่วม อำเภอท่าวังผา [ กรุงเทพธุรกิจ : 8 ส.ค. 66 เวลา 19.24 น. ]

ผู้ว่าฯ น่าน ลุยสำรวจพื้นที่น้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร เส้นทางสัญจร และบ้านเรือนประชาชน อำเภอท่าวังผา

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ที่บ้านหนองบัว ต.ป่าคา และบ้านดอนตัน ต.ศรีภูมิ อ.ท่าวังผา เกิดน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร เส้นทางสัญจร และบ้านเรือนประชาชนบางส่วนที่อยู่ลุ่มต่ำใกล้แม่น้ำ โดย นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วยนางสุดารัตน์ แววบัณฑิต นายกเหล่ากาชาดจังหวัดน่าน พร้อมด้วยนายนพรัตน์ ถาวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน นายสุทัศน์ จินตเวชศาสตร์ นายอำเภอท่าวังผา นายวรวิทย์ อินต๊ะใจ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ และช่วยเหลือประชาชน

ด้านนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ทางการเกษตรของพี่น้องประชาชนบริเวณบ้านหนองบัว บ้านดอนตัน และหมู่บ้านใกล้เคียง

ได้รับความเสียหายจากน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ ซึ่งบางส่วนเริ่มท่วมทางสัญจรภายในหมู่บ้าน และบ้านเรือนประชาชนที่อยู่พื้นที่ลุ่มต่ำ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชนในพื้นที่ได้ดูแล ช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยได้มีการประกาศแจ้งเตือนภัยแก่พี่น้องประชาชนในชุมชน ให้เตรียมความพร้อม และยกของขึ้นที่สูง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่

สำหรับในพื้นที่ตำบลอื่น ๆ และอำเภออื่น ๆ อาทิ อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอบ่อเกลือ เป็นต้น ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติในพื้นที่ ได้มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทางอำเภอได้ร่วมสำรวจความเสียหาย และให้การดูแล ช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิดเช่นกัน พร้อมกำชับให้อพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน ไปยังพื้นที่ปลอดภัย ทั้งนี้ สถานการณ์ล่าสุด ทางหลวงหมายเลข 1081 -0102 ตอน หลักลาย – บ่อเกลือ ที่ กม.78+550 – กม.78+575 ด้านซ้ายทาง

พื้นที่ บ.ห้วยโป่ง ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เกิดเหตุฝนตกหนัก ทำให้คันทางสไลด์ โดยรถยนต์ทุกชนิดไม่สามารถสัญจรได้

โดยเมื่อเวลา 07.00 น ของวันนี้ (8 ส.ค.66) ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์และชุดติดตั้งสะพานแบริ่ง(สะพานเบลีย์) มาถึงจุดถนนขาดที่บ้านห้วยโป่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงค่ำของวัน

ขณะที่ สถานีวัดน้ำ N1 บริเวณ สะพานพัฒนาภาคเหนือ ระดับน้ำเมื่อเวลา 16:00 น. วัดได้ที่ 6 เมตร 60 เซนติเมตร เหลืออีก 40 เซนติเมตรก็จะเข้าจุดเฝ้าระวังพร้อมกับแจ้งเตือนให้ประชาชนทั้งสองฝั่งเก็บเข้าของขึ้นไว้ ไว้ที่สูง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย คาดว่าน้ำยังคงขึ้นอีกเรื่อยๆ เนื่องจากน้ำทางเหนือยังสูง และกำลังไหลลงมาอยู่เรื่อยๆ ขณะนี้กระแสน้ำได้ท่วมพื้นที่ ไร่นา แปลงพืชการเกษตร ผักสวนครัว กล้วยเผือกมัน ริม 2 ฝั่งแม่น้ำน่าน เสียหายทั้งหมดแล้ว









น้ำโขงขึ้นต่อเนื่อง สูงสุดในรอบปี 2566 หนองคายเฝ้าระวังล้นท่วมเมือง [ ประชาติธุรกิจ : 10 ส.ค. 66 เวลา 12.06 น. ]

น้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคายยังขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ยชั่วโมงละ 3-5 ซม. ล่าสุดทะลุ 11 เมตร ทำสถิติสูงสุดในรอบปี 2566 เทศบาลเตรียมพร้อมรับมือสูบน้ำออก หากน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมตัวเมือง

วันที่ 10 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคายยังคงมีระดับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทะลุ 11 เมตร และวันนี้วัดอยู่ในส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ มีระดับอยู่ที่ 11.35 เมตร ทำสถิติระดับน้ำโขงสูงสุดในรอบปี 2566 อีกครั้ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของเมื่อวานนี้ถึง 1.13 เมตร ต่ำกว่าตลิ่งเพียง 85 ซม.เท่านั้น

โดยระดับน้ำขึ้นเฉลี่ยชั่วโมงละ 3-5 ซม. ทำให้พื้นที่การเกษตรที่บ้านปากมาง ต.กองนาง อ.ท่าบ่อ พื้นที่กว่า 1 พันไร่ มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วม จนต้องระดมขนย้ายผลิตผลทางการเกษตรตั้งแต่ช่วงบ่ายของเมื่อวานนี้ (9 สิงหาคม 2566)

สำหรับโป๊ะแพและเรือที่อยู่ริมฝั่งก็ยังคงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อคอยปรับให้เหมาะสมกับระดับน้ำโขงที่เพิ่มขึ้น หากไม่ปรับก็จะถูกน้ำท่วมเสียหาย ในส่วนของเทศบาลเมืองหนองคายก็ได้เตรียมความพร้อมน้ำโขงเข้าท่วมในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองหนองคาย โดยเฉพาะพื้นที่ตัวเมืองที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและอยู่ติดกับแม่น้ำโขง

ทั้งนี้ ประตูระบายน้ำที่มีอยู่ 7 แห่งปิดแล้วเพื่อกั้นนำทะลักเข้ามา พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ที่บริเวณปากประตูระบายน้ำ รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ตัวเมืองตอนในอีก 3 จุด เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ และจัดเตรียมพื้นที่ในการอพยพ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพื้นที่และกำลังเสริมจากจังหวัดอุดรธานี ไว้ช่วยเหลือและอพยพประชาชนทันที หากเกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมในตัวเมืองหนองคายซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ







น้ำโขงที่เชียงคานลดระดับลง ชาวบ้านยังหวั่นข่าววันที่ 12 ส.ค.มวลน้ำจากลาวมาอีกระลอกใหญ่ [ มติชนออนไลน์ : 11 ส.ค. 66 เวลา 11.25 น. ]

น้ำโขงที่เชียงคานลดระดับลง ชาวบ้านยังหวั่นข่าววันที่ 12 ส.ค.มวลน้ำจากลาวมาอีกระลอกใหญ่

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 สถานการณ์น้ำโขงที่อำเภอเชียงคาน จ.เลย ระดับน้ำได้ลดระดับลง จากรายงานของสถานีอุทกวิทยาที่ 2 เลย จุดวัดระดับแม่น้ำโขงเชียงคาน เมื่อช่วงเวลา 07.00 น.ของวันที่ 10 ส.ค. ถึง เวลา 07.00 น.วันนี้ ระดับน้ำ 12.56 ม.ลดลง 1.17 ม. ต่ำกว่าตลิ่ง 3.44 ม. ในขณะที่พื้นที่ลุ่มต่ำ บางจุด ถูกแม่น้ำโขงเอ่อดันเข้าที่ลำน้ำสาขา เข้าท่วมพื้นที่การเกษตรบางพื้นที่ ร้านค้าตามแหล่งท่องเที่ยวถูกน้ำท่วมเสียหายยับ และยังคงตระหนกกับข่าวลือ วันที่ 12 ส.ค.มวลน้ำจากเขื่อนใน สปป.ลาว ปล่อยน้ำลงน้ำโขงอีกระลอก

จากสภาพหลังน้ำโขงเข้าท่วมและระดับน้ำได้ลดลง ร้านค้าตามแหล่งท่องเที่ยว โดยสภาพร้านค้าของชาวบ้าน ที่อยู่บริเวณหาดนางคอย แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต ของอำเภอเชียงคาน บ้านหาดแห่ ตำบลปากตม

อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย จำนวนกว่า 40 ร้านค้า ยังคงมีสภาพร้านค้าต่างถูกน้ำท่วมจมมิดหลังคา และยังมี 1 ร้าน ที่ไหลไปกับกระแสน้ำ

นายวิชาญ จิรภักดี ชาวบ้านหาดแห่ เล่าว่า ในช่วงของวันที่ 8 ส.ค. ระดับน้ำยังคงปกติดี แต่พอมาวันที่ 9 ส.ค.กระแสน้ำโขงไหลมาอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านต่างพากันมาขนของ เครื่องทำมาหากิน บางคนก็ขนทัน บางคนก็ขนไม่ทัน แต่ซุ้มด้านล่าง เสียหายทั้งหมด แม้จะเอาเชือกมาผูกไว้ก็ไม่อยู่ เพราะกระแสน้ำที่แรง และเร็วน้ำขึ้นเร็วด้วย ชั่วโมงละ 40-50 เซนติเมตร แต่วันนี้ได้มีประกาศแจ้งมาว่า ให้เฝ้าระวังวันที่ 12 ส.ค.นี้อีก โดยทางเขื่อนใน สปป.ลาว จะปล่อยมวลน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำมาอีก คาดว่าระดับน้ำโขงจะขึ้นสูงกว่านี้แน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในส่วนของแม่น้ำสาขารวมทั้งน้ำจากแม่น้ำเลย ที่ไหลมาจากอำเภอภูหลวง อำเภอวังสะพุง อำเภอเมือง และไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อำเภอเชียงคาน

ช่วงบ้านคกมาด ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ระดับแม่น้ำโขงยังสูงอยู่ ได้ดันกลับลำน้ำสาขา และแม่น้ำเลย โดยในพื้นที่ลุ่มต่ำบางจุด ได้รับผลกระทบน้ำได้เอ่อไหลเข้าท่วมอยู่ ในขณะมวลน้ำโขงได้ไหลเข้าอำเภอปากชม ทำให้ที่ลุ่มต่ำในบางพื้นที่ถูกน้ำท่วมขัง แต่ไม่ได้รับความเสียหายเนื่องจากได้เตรียมเก็บของไว้ที่สูงก่อนที่มวลน้ำจะมาถึง

ในส่วนของเกษตรกรที่เลี้ยงปลาแม่น้ำโขง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรที่บ้านคกงิ้ว ต.ปากตม อ.เชียงคาน กว่า 400 กระชัง ปลาที่เลี้ยงไว้ปลาได้น็อกน้ำ ขาดอากาศหายใจตายจำนวนมาก หลังจากที่แม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน สร้างความเสียหายรวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เกษตรกรต่างต้องเร่งตักปลา ที่ยังไม่ตายขึ้นมาแช่น้ำแข็งออกเร่ขายในราคากิโลกรัมละ 50 บาท รวมทั้งออกมาขายหน้าศาลากลางจังหวัดเลย