ข่าว



ชาวบ้านเริ่มขาดแคลนน้ำอุปโภค – บริโภค

PPTV36 : 1 สิงหาคม 2562,11:29น.


ช่วงนี้หลายพื้นที่ในประเทศไทย ยังประสบภาวะภัยแล้ง ที่จังหวัดสุรินทร์ชาวบ้านกำลังขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคอย่างหนัก ต้องลงขันบริจาคเงินเพื่อซื้อเครื่องสูบน้ำ มาใช้เพื่อการผลิตประปาหมู่บ้าน


ชาวบ้านที่บ้านโพธิ์ใหญ่ หมู่ 11 ต.อาโพน อ.บัวเชด กำลังช่วยกันสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำบ้านทำนบ ต.จรัส อ.บัวเชด ส่งไปตามคลองระบายน้ำต่างๆเป็นระยะทางกว่า 11 กิโลเมตร จากนั้นได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อนำน้ำเข้าไปเก็บไว้ในสระน้ำขนาดใหญ่ภายในหมู่บ้าน เพื่อเก็บไว้ใช้ในการผลิตน้ำประปาสำหรับอุปโภค บริโภค ซึ่งชาวบ้านต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาดูแล ตลอดทั้งวันทั้งคืน จนตอนนี้สามารถสูบน้ำเข้าสระกักเก็บน้ำได้จำนวน 1 แล้ว โดยก่อนหน้านี้ในพื้นที่ อ.บัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ฝนได้ทิ้งช่วงไม่ตกต้องตามฤดูกาล จึงทำให้สระน้ำประปาบ้านโพธิ์ใหญ่แห้งขอดจนไม่สามารถผลิตน้ำประปาแจกจ่าย ให้กับชาวบ้านมานานหลายอาทิตย์ จนได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า


ส่วนที่จังหวัดสุโขทัย แม้ช่วงนี้จะมีฝนตกลงมาในพื้นที่ แต่ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ยังน้อย ล่าสุดปริมาณน้ำในแม่ยมยังลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณฝายยางบ้านเกาะวงษ์เกียรติ์ ต.ทับผึ้ง อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ปริมาณน้ำที่ไหลมาจากทางด้านเหนือมีปริมาณน้ำที่น้อยจนน้ำไม่สามารถไหลข้ามตัวฝายได้ ทำให้พื้นที่แม่น้ำยมด้านท้ายฝายยางบ้านเกาะวงษ์เกียรติ์ แห้งขอดจนกลายเป็นหาดทรายสามารถเดินข้ามไปมาได้ จะมีก็เพียงน้ำขังตามแอ่งต่างๆ โดยชาวบ้านสามารถเดินหาปลากลางแม่น้ำยมได้ในช่วงนี้


ส่วนชาวนาในตำบลท่าขุนราม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เร่งติดตั้งเครื่องยนต์ทางการเกษตร สูบน้ำในคลองไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังต้องการน้ำ เพื่อให้ต้นข้าวเสียหายน้อยที่สุด เนื่องจากขณะนี้ในพื้นที่เสียงภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง นายวัน ทาริยะวงศ์ อายุ 55 ปี เปิดเผยว่า ได้ปลูกข้าวอายุได้ประมาณ 2 เดือน ซึ่งขณะนี้ต้นข้าวกำลังตั้งท้อง ข้าวในช่วงนี้ต้องการน้ำ หากไม่มีน้ำจะทำให้ต้นข้าวได้รับความเสียหาย แต่ในช่วงนี้ชาวนาประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ทางการเกษตร จากฝนทิ้งช่วงไม่ตกลงมาตามฤดูกาล จึงต้องเร่งตั้งเครื่องยนต์ทางการเกษตรสูบน้ำในคลองรดต้นข้าว แทนการรอน้ำฝนประคองไม่ให้ต้นต้นข้าวยืนต้นตาย ถึงแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาแต่ก็ดีกว่าปล่อยให้ข้าวยืนต้นตาย





วิกฤตภัยแล้ง! แหล่งผลิตนํ้าประปาโคราชมีน้ำไม่ถึง 10 %

TNNThailand : 12 มกราคม 2563 13:59


วันนี้ ( 12 ม.ค.63 ) สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา บ้านดงพลอง หมู่ที่ 7 ตำบลหลุมข้าว อำเภอโนนสูง กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น ล่าสุดพบว่า แหล่งผลิตน้ำประปา ปริมาณน้ำเหลือไม่ถึง 10% ของความจุ ทำให้ชาวบ้านกว่า 150 หลังคาเรือนที่ใช้น้ำประปาในแหล่งน้ำนี้ ต่างหวั่นวิตกเกรงว่าปริมาณน้ำจะใช้ได้ไม่ถึงเดือน เนื่องจากปริมาณน้ำเริ่มแห้งลงอย่างรวดเร็ว

นายบุญส่ง อายุ 65 ปี ชาวบ้านดงพลองบอกว่า สระน้ำที่ใช้ผลิตน้ำประปาแห่งนี้เป็นแหล่งน้ำที่รับน้ำมาจากลำเชียงไกร ในอำเภอโนนไทย โดย ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา สระน้ำบ้านดงพลอง และ ฝายเก็บน้ำบ้านดงพลอง แห่งนี้ไม่เคยแห้งขอดเลย แต่มาปีนี้พบว่าปริมาณน้ำแห้งเกือบหมดทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำการเกษตรได้เหมือนทุกๆปีที่ผ่านมา แม้กระทั่งจะปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง ชาวบ้านก็ยังไม่กล้าที่จะปลูก เพราะเกรงว่าปริมาณน้ำจะไม่พอใช้ในการอุปโภค-บริโภค เพราะปริมาณน้ำที่เหลืออยู่เริ่มมีรสชาติเค็ม มีกลิ่นเหม็น แต่ชาวบ้านต้องทนใช้เพราะมีแหล่งน้ำเหลืออยู่เพียงแค่แหล่งเดียวเท่านั้น จึงอยากวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือชาวบ้านเป็นการเร่งด่วนก่อนที่ชาวบ้านจะขาดน้ำใช้แบบถาวร จนกว่าจะมีฝนตกลงมา





‘ภัยแล้ง’ เริ่มกระทบภาคอุตสาหกรรม

BangkokBizNews : 10 กุมภาพันธ์ 2563 | โดย สุโชติ ถิรวรรณรัตน์ | คอลัมน์ เปิดมุมมองลงทุนใหม่


ล่าสุดฝ่าย วิจัยฯ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ประเมินปริมาณน้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.ระยอง ที่อยู่ในระดับต่ำมาก และมีความเสี่ยงที่โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อาจต้องลดกำลังการผลิตลง
ประเด็นเรื่องของความเสี่ยง "ภัยแล้ง" 2563 ที่ผมเคยเขียนถึงมาก่อนหน้า ว่าจะกระทบต่อภาคการเกษตรและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ ล่าสุดฝ่าย วิจัยฯ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ประเมินปริมาณน้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.ระยอง ที่อยู่ในระดับต่ำมาก มีความเสี่ยงที่ โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าวอาจต้องลดกำลังการผลิตลง หากสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้รุนแรงกว่าคาด หรือหากสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยปีนี้เข้าสู่ฤดูฝนช้ากว่าปกติ

จากข้อมูลของกรมชลประทาน ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง จาก 5 อ่างเก็บน้ำหลักใน จ.ระยอง อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 30% ของความสามารถในการกักเก็บน้ำ ซึ่งอาจจะไม่พอใช้ไปจนถึงฤดูฝนในช่วงปลายเดือน พ.ค.-มิ.ย.2563 ล่าสุด บริษัท EASTW ซึ่งเป็นผู้ป้อนน้ำให้กับผู้ใช้โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ จ.ระยอง ได้ขอความร่วมมือผู้ใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมให้ช่วยกันลดปริมาณการใช้น้ำลง 10% จากการศึกษาข้อมูลของฝ่ายวิจัยฯ ผู้ประกอบการที่ตั้งอยู่ในนิคมฯ ของ WHA มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากนิคมฯของ WHA พึ่งพาน้ำจาก EASTW เป็นหลัก โดยนิคมฯของ WHA ต้องซื้อน้ำดิบจาก EASTW และกรมชลประทานราว 90% ของปริมาณน้ำดิบทั้งหมดที่ใช้

แต่สำหรับนิคมฯอมตะซิตี้ (ระยอง) และนิคมฯอมตะซิตี้ (ชลบุรี) ของ AMATA จะไม่ถูกกระทบจากภัยแล้ง เพราะมีปริมาณน้ำสำรองของนิคมฯ เพียงพอที่จะรองรับการใช้น้ำรายวันไปได้อีกอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งจะทำให้สามารถผ่านพ้นฤดูแล้งปีนี้ไปได้ ทั้งนี้มีโรงไฟฟ้าประเภท SPP ที่อาจได้รับผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อาจต้องลดกำลังการผลิตลง ทำให้ลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลง โรงไฟฟ้าที่มีความเสี่ยง ได้แก่ GPSC, WHAUP, GULF, และ EGCO
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯ ทำการวิเคราะห์ Sensitivity ผลกระทบต่อประมาณการกำไรของโรงไฟฟ้าต่างๆ โดยอิงจาก i) สมมติฐานว่าเกิดภาวะภัยแล้งนานหกเดือน (ม.ค. - มิ.ย. 2563) ii) คำนึงถึงผลกระทบต่อโรงไฟฟ้า SPP ทุกแห่งใน จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี ยกเว้นโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในนิคมฯของ AMATA iii) ผู้ใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากปริมาณการขายไอน้ำ (Steam load) ที่ลดลง 5% ในปีนี้ (ภายใต้ สมมติฐานว่า Steam load ลดลง 10% เป็นเวลา 6 เดือน) และ iv)

การวิเคราะห์ Sensitivity ของปริมาณการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ (SPP load) ที่ลดลง 1-5% ในปีนี้ (ตาม ปกติ SPP load จะอยู่ในช่วง 40-60% ซึ่งผลการวิเคราะห์ Sensitivity ของเราพบว่า ผลประกอบการของ GPSC ในปีนี้มี downside มากที่สุดอยู่ที่ 4.6% เนื่องจากมีสัดส่วน IU capacity ของ SPP ที่จะถูกกระทบจากภัยแล้งสูงที่สุด (20.6% ของพอร์ต) ในขณะที่เราประเมินว่าผลประกอบการ ปีนี้ของ BGRIM EGCO GULF และ WHAUP จะมี downside 1.4%, 0.5%, 2.4% และ 3.0% ตามลำดับ

นอกจากนี้ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทย ทั้งจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (สายพันธุ์ใหม่), ความล่าช้า ของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563, และปัญหาภัยแล้ง อาจส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตลงให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคในปีนี้ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า มีความเสี่ยงที่นักวิเคราะห์จะต้องทำการปรับลดประมาณการกำไรปี 2563 ลง แม้แต่หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ถือเป็นหุ้น Defensive ก็ตาม

จากปัจจุบันที่นักวิเคราะห์ทำการปรับลดประมาณการกำไรปี 2563 ลงมาแล้วราว -3% ตั้งแต่ต้นปี 2563 (ข้อมูล Bloomberg consensus) และมีโอกาสที่นักวิเคราะห์จะใช้การประชุมนักวิเคราะห์ในช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค.นี้ ในการพิจารณาปรับลดประมาณการกำไรปี 2563 ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีผมเชื่อว่าราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่ได้ทำการปรับตัวลง Underperform ตลาดหุ้นโลกมาตลอด ตั้งแต่ต้นปี 2563 น่าจะสะท้อนประเด็นดังกล่าวไปพอสมควรแล้ว

และคาดว่าภายหลังการปรับลดประมาณการโดยนักวิเคราะห์เสร็จสิ้นแล้ว ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ น่าจะเริ่มคลี่คลาย หรือลดความกังวลไปได้พอดี เช่น การแพร่ระบาด ของไวรัสโคโรน่า (สายพันธุ์ใหม่) คาดว่าจะเริ่มควบคุมสถานการณ์ได้ (อิงจากข้อมูลในอดีตของโรคอุบัติใหม่), ปัญหา พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 น่าจะสามารถเบิกจ่ายได้อย่างช้าภายในเดือน พ.ค.นี้ (ระหว่างที่ผมเขียนบทความนี้ ยังไม่ทราบผลการลงมติของศาลรัฐธรรมนูญ) และปัญหาภัยแล้ง น่าจะเริ่มคลี่คลายเมื่อประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนช่วง เดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้เป็นต้น






สถานการณ์ภัยแล้งกระทบต้นกำเนิดน้ำยม แหล่งกักเก็บน้ำ แห้งขอด

BangkokBizNews : 7 เมษายน 2563


สถานการณ์ภัยแล้งกระทบต้นกำเนิดน้ำยม แหล่งกักเก็บน้ำ แห้งขอด
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 จังหวัดพะเยาได้ประสบกับปัญหา กับสภาพอากาศที่ร้อนและเกิดความแห้งแล้งขึ้น ส่งผลให้แหล่ง ต้นน้ำยมในเขตพื้นที่อำเภอปง จังหวัดพะเยา อยู่ในสภาพที่แห้งขอดไร้น้ำเนื่องจากปีนี้ฝนแล้งและเกิดความแห้งแล้งรุนแรงที่สุดส่งผลกระทบกับลำน้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงภาคเหนือและเป็นแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลักส่งน้ำสู่เจ้าพระยา ต้นกำเนิดอยู่ที่อำเภอปง จังหวัดพะเยา และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ต้นน้ำยม กว่า 5 หมื่นคน ได้รับผลกระทบ ขาดน้ำ ใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร แต่ปีนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมวิกฤตหนัก ไม่มีน้ำไหลลงไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ ชาวบ้านต้องได้รับผลกระทบ น้ำไม่พอใช้ จึงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือโดยด่วน สภาพลำน้ำยม เหลือแต่ดินทราย และบางจุดชาวบ้านได้มีการสร้างฝายกักเก็บน้ำเอาไว้ทำให้มีน้ำขังอยู่ได้ปริมาณที่แทบจะไม่มี น้ำ หากฝนไม่ตกลงมาคาดว่าน้ำเหนือฝายก็จะแห้งตามไปด้วย ส่งผลกระทบและสร้างปัญหาให้กับชาวบ้าน ต้องขาดแคลนน้ำ ใช้ ในการอุปโภคบริโภคและน้ำใช้ในทางการเกษตร

สำหรับแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลักที่เกิดจากลำน้ำ 2 สาย คือ ลำน้ำควรและลำน้ำงิม ลำน้ำควร เกิดจากลำน้ำคางและลำน้ำปุก ไหลมาบรรจบกันที่บ้านนาอ้อม ตำบลขุนควร เรียกว่าลำน้ำควร ลำน้ำงิม เป็นลำน้ำที่ต้นกำเนิดมาจากดอยภูลังกาไหลผ่านตำบลงิม จึงเรียกว่าลำน้ำงิม ลำน้ำควรและลำน้ำงิมไหลมาบรรจบกันที่เขตติดต่อระหว่างบ้านบุญยืน หมู่ที่ 3 ตำบลนาปรัง กับบ้านเหล่า หมู่ที่ 9 ตำบลควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา เรียกว่าแม่น้ำยม มีความยาวประมาณ 700 กิโลเมตร กระแสน้ำไหลผ่านที่ราบสูง จาก จ.พะเยา ผ่านไป จังหวัดแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก และ พิจิตร ไปบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสงจังหวัดนครสวรรค์ ก่อนแม่น้ำน่านจะไปรวมกับแม่น้ำปิง ที่ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายสำคัญของพื้นที่ราบลุ่ม ภาคกลางของประเทศไทยดังกล่าว