ปริมาณฝนรายเดือน





ปริมาณฝนสะสมรายเดือนในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง

เปรียบเทียบกับช่วงที่เกิดสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงในอดีต


ตลอดฤดูฝนปี 2562 มีปริมาณฝนสะสม 1,035 มิลลิเมตร ซึ่งน้อยกว่าฤดูฝนของปีที่เกิดภัยแล้งปีอื่น ยกเว้นฤดูฝนปี 2558 ที่มีปริมาณฝนน้อยที่สุดเพียง 986 มิลลิเมตร และเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งของปี 2562/2563 ปริมาณฝนได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเป็น 1,208 มิลลิเมตร ซึ่งยังคงน้อยกว่าปีแล้งอื่น ๆ แต่มากกว่าปี 2558 เล็กน้อยเพียง 18 มิลลิเมตร และเมื่อพิจารณาข้อมูลเป็นรายเดือนในช่วงฤดูฝนปี 2562 จนถึงช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 (พฤษภาคม 2562 ถึง เมษายน 2563) จะเห็นได้ว่าในช่วงฤดูฝนมีฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และสิงหาคม ส่วนเดือนที่เหลือปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติรวมถึงเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง ฝนตกน้อยกว่าปกติทุกเดือน






แผนที่แสดงปริมาณและการกระจายตัวของฝนรายเดือน

เปรียบเทียบกับช่วงที่เกิดสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงในอดีต

เมื่อเปรียบเทียบปริมาณและการกระจายตัวของฝนรายเดือนในช่วงที่เกิดภัยแล้งปี 2562-2563 กับค่าฝนปกติ รวมทั้งเปรียบเทียบกับช่วงที่เคยเกิดภัยแล้งในอดีต จะเห็นได้ว่าใน
เดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นเดือนแรกของฤดูฝน มีฝนตกเฉลี่ยทั้งประเทศ ประมาณ 158 มิลลิเมตร ซึ่งตกน้อยกว่าปกติและน้อยกว่าปี 2552 แต่มากกว่าปี 2557 และ 2558 ทั้งนี้ภาคเหนือและภาคกลางมีฝนตกค่อนข้างน้อยแต่มีฝนตกมากในบางพื้นที่ทางด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ตอนล่าง และในบางพื้นที่ของภาคใต้ฝั่งตะวันตก
เดือนมิถุนายน 2562 มีฝนตกเฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 133 มิลลิเมตร ซึ่งตกน้อยกว่าค่าปกติ รวมทั้งน้อยกว่าปี 2552 2557 แต่มากกว่าปี 2558 ทั้งนี้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกน้อยกว่าปกติมากเป็นบริเวณกว้าง
เดือนกรกฎาคม 2562 มีฝนตกเฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 140 มิลลิเมตร ซี่งน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับค่าฝนปกติและปีที่เกิดภัยแล้งปีอื่น ๆ โดยเฉพาะบริเวณตอนกลางของประเทศครอบคลุมทั้งพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ที่มีฝนตกน้อยกว่าปกติเป็นบริเวณกว้าง
เดือนสิงหาคม 2562 มีฝนตกเฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 302 มิลลิเมตร ซึ่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับค่าฝนปกติและฝนที่ตกในปีที่เกิดภัยแล้งปีอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตกที่มีฝนตกมากเป็นบริเวณกว้าง ส่วนภาคกลางยังคงมีฝนตกน้อยต่อเนื่อง

เดือนกันยายน 2562 มีฝนตกเฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 210 มิลลิเมตร ซึ่งน้อยทึ่สุดเมื่อเทียบกับค่าปกติและปริมาณฝนของปีที่เกิดภัยแล้งปีอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคเหนือและบางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและบางพื้นที่ของภาคใต้ตอนล่างที่มีฝนตกค่อนข้างน้อย
เดือนตุลาคม 2562 มีฝนตกเฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 92 มิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าฝนปกติและฝนที่ตกในเดือนที่เกิดภัยแล้งปีอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีฝนตกน้อยมากเป็นบริเวณกว้างอย่างเห็นได้ชัด
เดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่เข้าสู่ฤดูแล้ง ที่มีฝนตกเฉลี่ยทั้งประเทศเพียง 41 มิลลิเมตร ซึ่งน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับค่าฝนปกติและค่าฝนของปีอื่น ๆ โดยพื้นที่ตอนบนของประเทศมีฝนตกน้อยมาก ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมถึงตอนบนของภาคใต้
เดือนธันวาคม 2562 มีฝนตกเฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 14 มิลลิเมตร ซึ่งมากกว่าปี 2552 อยู่เล็กน้อย แต่น้อยกว่าค่าปกติรวมถึงน้อยกว่าค่าฝนของปีแล้งปีอื่นๆ
เดือนมกราคม 2563 มีฝนตกเพียงเฉลี่ยทั้งประเทศเพียง 4 มิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าฝนปกติและค่าฝนของปีแล้งปีอื่น ๆ ทุกภาคของประเทศมีฝนตกน้อยมาก โดยเฉพาะภาคใต้ซึ่งถือว่าผิดปกติเนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนของภาคแต่กลับมีฝนตกน้อยมาก

เดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีฝนตกเฉลี่ยทั้งประเทศ 7 มิลลิเมตร น้อยกว่าค่าฝนปกติ รวมทั้งน้อยกว่าปีแล้งอื่น ๆ ยกเว้นปี 2559 ที่เดือนนี้มีฝนตกเพียงแค่ 5 มิลลิเมตร
เดือนมีนาคม 2563 มีฝนตกเฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 32 มิลลิเมตร น้อยกว่าค่าฝนปกติและน้อยกว่าปี 2558 แต่มากกว่าปี 2553 และ ปี 2559 ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มฝนกระจุกตัวเป็นบริเวณกว้างอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกเท่านั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศยังคงมีฝนตกน้อยมาก
เดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของฤดูแล้ง มีฝนตกเฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 74 มิลลิเมตร น้อยกว่าค่าฝนปกติและมากกว่าปีแล้งอื่น ๆ ทุกปี โดยมีฝนตกเพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้า และมีการกระจายในทุกภาคของประเทศ แต่ภาคกลางตอนล่างยังคงมีฝนตกน้อยกว่าพื้นที่อื่น ๆ



ฝนปกติ
ภัยแล้งช่วงปี 2552-2553
ภัยแล้งช่วงปี 2557-2558
ภัยแล้งช่วงปี 2558-2559
ภัยแล้งช่วงปี 2562-2563
ที่มา : สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)