ปริมาณฝนรายฤดูกาล



แผนภาพแสดงการกระจายตัวของฝนที่ต่างไปจากปกติ

เกิดฝนตกน้อยต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงฤดูฝนปี 2561


แผนภาพการกระจายตัวของฝนที่ตกผิดไปจากปกติ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเกิดสถานการณ์ฝนตกน้อยกว่าปกติต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงฤดูฝนปี 2561 (พฤษภาคม-ตุลาคม 2561) ซึ่งมีฝนตกเฉลี่ยน้อยกว่าปกติประมาณ 62 มิลลิเมตร หรือน้อยกว่าปกติประมาณ 5% โดยเกิดฝนตกน้อยกว่าปกติมากเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ตอนกลางของประเทศ ครอบคลุมทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก รวมถึงในบางพื้นที่ของภาคใต้ แต่ทั้งนี้บริเวณชายขอบของประเทศกลับมีฝนตกมากกว่าปกติค่อนข้างมากในหลายพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณตอนบนของภาคเหนือและด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาในช่วงฤดูแล้งปี 2561/2562 (พฤศจิกายน 2561-เมษายน 2562) ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนตกน้อยเป็น

ปกติ แต่กลับพบว่าฝนที่ตกน้อยอยู่แล้วกลับน้อยลงไปอีก ครอบคลุมพื้นที่ตอนบนของประเทศทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปซึ่งโดยปกติเป็นช่วงฤดูฝนของภาคแต่กลับมีฝนตกน้อยกว่าปกติค่อนข้างมาก มีเพียงภาคใต้ตอนบนเท่านั้นที่มีฝนตกมากกว่าปกติเป็นบริเวณกว้าง ทั้งนี้ปริมาณฝนเฉลี่ยตลอดฤดูแล้งน้อยกว่าปกติประมาณ 66 มิลลิเมตร หรือน้อยกว่าประมาณ 24% และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนปี 2562 (พฤษภาคม-ตุลาคม 2562) พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศยังคงมีฝนตกน้อยต่อเนื่อง มีเพียงบางพื้นที่ของภาคใต้ตอนล่างและบางพื้นที่ทางด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้นที่มีฝนตกมากกว่าปกติเป็นบริเวณกว้าง โดยปริมาณฝนเฉลี่ย

ตลอดฤดูฝนน้อยกว่าปกติประมาณ 151 มิลลิเมตร หรือน้อยกว่าประมาณ 13% ต่อมาเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งปี 2562/2563 (พฤศจิกายน 2562-เมษายน 2563) สถานการณ์ฝนยังคงตกน้อยต่อเนื่องในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ มีเพียงบางพื้นที่ของภาคตะวันออก ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้นที่มีฝนตกมากกว่าปกติเป็นหย่อมเล็ก ๆ และจะเห็นได้ว่าภาคใต้มีฝนตกน้อยกว่าปกติค่อนข้างมากทั้งภาค แม้จะอยู่ในช่วงฤดูฝนของภาค ทั้งนี้ปริมาณฝนเฉลี่ยตลอดฤดูน้อยกว่าปกติประมาณ 106 มิลลิเมตร หรือน้อยกว่าประมาณ 38% ซึ่งสถานการณ์ฝนตกน้อยต่อเนื่องยาวนานในครั้งนี้ ส่งผลทำให้เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่



ที่มา : สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)





สถานการณ์ฝนในช่วงฤดูฝน

เปรียบเทียบกับช่วงที่เกิดสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงในอดีต


เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ฝนในช่วงฤดูฝน (พฤษภาคม-ตุลาคม) ของปี 2562 กับปีที่เคยเกิดฝนแล้งในอดีตที่ผ่านมา ได้แก่ ปี 2552 ปี 2553 ปี 2557 ปี 2558 จะเห็นได้ว่าทุกปีที่เกิดภัยแล้งปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศน้อยกว่าปกติทั้งสิ้น โดยปี 2562 ปริมาณฝนน้อยเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2558 เนื่องจากปี 2562 มีฝนตกมากในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก



แผนที่แสดงปริมาณฝนในช่วงฤดูฝน


ที่มา : สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)



แผนที่แสดงปริมาณฝนที่ต่างไปจากปกติในช่วงฤดูฝน


ที่มา : สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)





แผนที่แสดงปริมาณฝนในช่วงฤดูแล้ง

เปรียบเทียบกับช่วงที่เกิดสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงในอดีต


เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ฝนในช่วงฤดูแล้ง (พฤศจิกายน-เมษายน) ของฤดูแล้งปี 2562/2563 กับช่วงฤดูแล้งที่เคยเกิดภัยแล้งในอดีตที่ผ่านมา ได้แก่ ช่วงฤดูแล้งปี 2552/2553 ปี 2557/2558 ปี 2558/2559 จะเห็นได้ว่าเกือบทุกฤดูแล้งข้างต้นมีฝนตกเฉลี่ยทั้งประเทศน้อยกว่าปกติ ยกเว้นช่วงฤดูแล้ง 2557/2558 ที่มีฝนตกมากกว่าปกติเพียงเล็กน้อย ประมาณ 3.6% โดยเกิดฝนตกมากกว่าปกติบริเวณภาคเหนือและภาคกลางเป็นบริเวณกว้าง สำหรับช่วงฤดแล้งปี 2562/2563 เป็นฤดูแล้งที่มีฝนตกน้อยกว่าปกติมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีอื่น ๆ โดยมีฝนตกเฉลี่ยทั้งฤดูเพียง 173 มิลลิเมตร หรือน้อยกว่าปกติประมาณ 38%



แผนที่แสดงปริมาณฝนในช่วงฤดูแล้ง

ที่มา : สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)



แผนที่แสดงปริมาณฝนที่ต่างไปจากปกติในช่วงฤดูแล้ง

ที่มา : สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)