ช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 แม่น้ำเจ้าพระยาเกิดสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำลำน้ำจนส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะการสูบน้ำดิบเพื่อนำไปผลิตน้ำประปา โดยที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นสถานีสูบน้ำดิบสำคัญที่น้ำดิบจากจุดดังกล่าวจะถูกนำไปผลิตน้ำประปาสำหรับผู้ใช้น้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยบริเวณนี้เริ่มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำเค็มรุกตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2562 หลังจากนั้นก็เกิดสถานการณ์เป็นระยะ ๆ ตลอดฤดู โดยความเค็มที่วัดได้มีทั้งที่เกิน
0.25 กรัม/ลิตร และเกิน 0.50 กรัมต่อลิตร ที่เกิดสลับกันไป ซึ่งหากค่าความเค็มที่วัดได้เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร จะต้องมีการเฝ้าระวังการผลิตน้ำประปา เนื่องจากจะทำให้ประปามีรสกร่อยและเป็นอันตรายต่อผู้ใช้น้ำบางกลุ่ม และถ้าค่าความเค็มเกิน 0.50 กรัม/ลิตร จะต้องหยุดสูบน้ำดิบ เนื่องจากเป็นความเค็มที่เกินมาตรฐานน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปา โดยในช่วงฤดูแล้งนี้ค่าความเค็มสูงสุดที่วัดได้ อยู่ที่ 2.06 กรัมต่อลิตร ในวันที่ 28 ธันวาคม 2562 ซึ่งถือเป็นค่าความเค็มที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้สถานการณ์น้ำเค็มได้รุกสูงขึ้น
ไปถึงบริเวณจุดตรวจวัดน้ำเค็มที่วัดไผ่ล้อม อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2562 กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และ ปลายเดือนเมษายน 2563 ซึ่งส่วนใหญ่ความเค็มที่วัดได้มีค่าเกิน 0.25 กรัมต่อลิตร และมีค่าที่วัดได้เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในวันที่ 28 ธันวาคม 2562 ที่วัดได้ 0.51 กรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นค่าสูงสุดที่วัดได้ในช่วงฤดูแล้ง 2562/2563 ของจุดตรวจวัดนี้ และเป็นวันเดียวกันกับที่เกิดค่าความเค็มสูงสุดที่สถานีสำแล