วันที่ 31 ธันวาคม 2563 เขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือรวมกัน 43,153 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 61% ของความจุเขื่อน อยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2558 และ 2562 ที่ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง จะพบว่า ปีนี้มีปริมาณน้ำคงเหลือน้อยกว่าปี 2562 อยู่ 1,130 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มากกว่าปี 2558 อยู่ 3,401 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ช่วงปี 2557-2558
และ 2562-2563 ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง 2 ปี เช่นเดียวกัน สำหรับปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนรวมทั้งปี 2563 มีอยู่ทั้งสิ้น 27,438 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปี 2562 อยู่ 1,916 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มากกว่าปี 2558 อยู่ 3,666 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ในปี 2563 มีการระบายน้ำไปทั้งสิ้น 23,898 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งระบายน้อยกว่าปี 2562 ค่อนข้างมาก เนื่องจากปริมาณน้ำกักเก็บ
น้อยมาตั้งแต่ปี 2562 รวมทั้งมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนค่อนข้างน้อย ทำให้จำเป็นต้องกักเก็บน้ำเพิ่มเพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ทั้งนี้หากเทียบกับข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี พบว่าปี 2563 มีการระบายน้ำน้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2559 ที่เกิดภัยแล้งในปี 2558 ทำให้จำเป็นต้องกักเก็บน้ำเพิ่มในปี 2559 ปริมาณน้ำระบายจึงมีค่อนข้างน้อย
หากแจกแจงข้อมูลเป็นรายภาคและเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี พบว่าในปี 2563 เกือบทุกภาคมีปริมาณน้ำคงเหลือสิ้นปีมากกว่าปี 2562 อยู่เล็กน้อย ยกเว้นภาคกลางที่มีน้ำคงเหลือเพียง 18,863 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง แต่เป็นน้ำใช้การได้จริงเพียง 5,528 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งถือเป็นปริมาณน้ำที่น้อยมาก โดยน้อยกว่าปีที่แล้วอยู่ถึง 3,452 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากเขื่อนวชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์ที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของภาคมีน้ำกักเก็บคงเหลือน้อยมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบทางพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่อาจต้องพึ่งพาน้ำจากสองเขื่อนนี้ (ซึ่งจะกล่าวเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไป) หากเทียบกับปี 2558 ที่ประเทศไทย
ประสบภัยแล้งรุนแรงจะพบว่ามีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือใกล้เคียงกันโดยปี 2563 มีมากกว่าอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากพื้นที่ภาคกลางจะมีน้ำเหลือน้อยแล้ว พื้นที่ภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่ต้องส่งน้ำลงมายังภาคกลางรวมถึงพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็มีน้ำเหลือน้อยเช่นกัน โดยมีน้ำกักเก็บคงเหลือรวมกันเพียง 11,659 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ซึ่งเป็นน้ำใช้การได้จริงเพียง 4,913 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น รวมทั้งเป็นปริมาณน้ำคงเหลือที่น้อยต่อเนื่อง 2 ปีติดกัน สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลทำให้ทั้งภาคกลางและภาคเหนือมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือปีนี้มีฝนตกมากทางตอนล่างของภาค รวมถึงบางพื้นที่ทาง
ตอนบนของภาค ส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนมากขึ้นจากปีที่แล้วแต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง ปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือสิ้นปีอยู่ที่ 5,589 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้การได้จริง 3,940 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนภาคตะวันออกปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วค่อนข้างมากเช่นกัน สถานการณ์ค่อนข้างปกติ โดยมีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือสิ้นปี 1,042 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง เป็นน้ำใช้การได้จริง 943 ล้านลูกบากศ์เมตร ส่วนภาคใต้เป็นอีกหนึ่งภาคที่ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในสถานการณ์ค่อนข้างปกติ โดยมีน้ำกักเก็บคงเหลือสิ้นปี 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง เป็นปริมาณน้ำใช้การได้จริง 4,290 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมตลอดทั้งปี 2563 จะเห็นได้ว่าภาคเหนือมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมตั้งแต่ต้นปี 8,434 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อยแต่ยังถือเป็นปริมาณน้ำไหลลงที่ค่อนข้างน้อย และน้อยต่อเนื่องมา 2 ปี หากเทียบกับข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี จะพบว่าปี 2563 มีน้ำไหลลงเขื่อนน้อยเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2558 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือปีนี้มีน้ำไหลลง
เขื่อนเพิ่มมากขึ้น ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 5,452 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปีที่แล้วอยู่เล็กน้อยแต่มากกว่าปี 2558 ค่อนข้างมาก สำหรับภาคกลางมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมตั้งแต่ต้นปีเพียง 6,904 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี รวมถึงน้อยกว่าช่วงปี 2557-2558 ซึ่งประเทศไทยเกิดภัยแล้งรุนแรง ภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมตั้งแต่
ต้นปี 1,260 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก ส่วนภาคใต้มีน้ำไหลลงเขื่อนสะสมตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 5,388 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์ค่อนข้างปกติเนื่องจากมีฝนตกทางตอนล่างของภาคค่อนข้างมากในช่วงปลายปี ทำให้มีน้ำไหลลงเขื่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา
เนื่องจากน้ำต้นทุนของปี 2563 มีค่อนข้างน้อย ประกอบกับในระหว่างปีมีน้ำไหลลงเขื่อนค่อนข้างน้อย ทำให้ต้องกักเก็บน้ำเพิ่มในหลาย ๆ เขื่อน ปริมาณน้ำระบายของแต่ละภาคจึงอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย โดยภาคเหนือมีน้ำระบายรวมทั้งปี 7,148
ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปี 2562 ค่อนข้างมาก และน้อยเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2559 ภาคกลางมีน้ำระบายรวมทั้งปี 8,865 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปีที่แล้ว และน้อยเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2555 และ 2556 ส่วนภาคตะวันออกมีน้ำระบาย
รวมทั้งปี 746 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,494 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคใต้ 4,644 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้ง 3 ภาคนี้ มีการระบายน้ำน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี
หากแยกตัวเลขปริมาณน้ำเก็บกักวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ที่จะใช้เป็นต้นทุนน้ำในปี 2564 ออกเป็นรายเขื่อน มีรายละเอียดดังนี้
เขื่อนที่มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือเกินความจุเขื่อน (มากกว่า 100% ของความจุเขื่อน มีเขื่อนลำตะคองเพียงเขื่อนเดียวที่มีปริมาณน้ำกักเก็บเกินความจุของเขื่อน โดยมีปริมาณน้ำกักเก็บ 110% ของความจุเขื่อน
เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำมาก (มากกว่า 80-100% ของความจุเขื่อน) มีทั้งหมด 10 แห่ง ได้แก่ เขื่อนขุนด่านปราการชล (87%) เขื่อนจุฬาภรณ์ (89%) เขื่อนบางลาง (94%) เขื่อนปราณบุรี (91%) เขื่อนมูลบน (100%) เขื่อนลำแซะ (88%) เขื่อนลำนางรอง (82%) เขื่อนลำพระเพลิง (99%) เขื่อนสิรินธร (83%) เขื่อนหนองปลาไหล (96%)
เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง (มากกว่า 50-80% ของความจุเขื่อน) มีทั้ง หมด 14 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน (83%) เขื่อนแม่งัด (54%) เขื่อนกระเสียว (67%) เขื่อนกิ่วลม (65%) เขื่อนทับเสลา (68%) เขื่อนนฤบดินทรจินดา (76%) เขื่อนน้ำพุง (53%) เขื่อนบางพระ (65%) เขื่อนประแสร์ (77%) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (69%) เขื่อนรัชชประภา (67%) เขื่อนวชิราลงกรณ (53%) เขื่อนศรีนครินทร์ (74%) เขื่อนสิริกิติ์ (56%)
เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย (ตั้งแต่ 30-50% ของความจุเขื่อน) มีทั้งหมด 9 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแควน้อย (44%) เขื่อนแม่กวง (42%) เขื่อนแม่มอก (39%) เขื่อนกิ่วคอหมา (45%) เขื่อนคลองสียัด (39%) เขื่อนน้ำอูน (45%) เขื่อนภูมิพล (41%) เขื่อนลำปาว (48%) เขื่อนห้วยหลวง (43%)
เขื่อนที่มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤต (น้อยกว่า 30% ของความจุเขื่อน) ซึ่งปี 2563 ไม่มีเขื่อนใดที่มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือน้ำกว่า 30% ของความจุเขื่อน
ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในเขื่อนโดยภาพรวมของปี 2563 ดีกว่าปี 2562 ที่มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยถึงน้อยวิกฤตถึง 19 เขื่อน ส่วนปีนี้มีเพียง 9 เขื่อน แต่จะเห็นได้ว่า 2 ใน 9 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนแควน้อย เป็นเขื่อนสำคัญของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่จะต้องส่งน้ำลงมายังพื้นที่ภาคกลาง ประกอบกับเขื่อนสิริกิติ์ที่จะต้องส่งน้ำลงมายังพื้นที่ภาคกลางเช่นเดียวกัน ปีนี้ปริมาณน้ำกักเก็บเหลือเกินครึ่งของความจุเขื่อนไปเพียง
เล็กน้อยเท่านั้น ด้วยเหตุนี้อาจส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาน้ำจากภาคเหนือเป็นหลัก นอกจากนี้ ในปีนี้เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ ที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของภาคกลางในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งโดยปกติแล้วหากลุ่มน้ำเจ้าพระยาเกิดการขาดแคลนน้ำ จะมีการผันน้ำจากสองเขื่อนดังกล่าวเพื่อเข้ามาช่วยบรรเทาสถานการณ์บริเวณภาคกลาง
ตอนล่างได้ในบางพื้นที่ แต่ในปีนี้ปริมาณน้ำใช้การได้ของทั้งสองเขื่อนเหลือน้อยมาก โดยเฉพาะเขื่อนวชิราลงกรณที่มีน้ำเหลือน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี ส่วนเขื่อนศรีนครินทร์ปริมาณน้ำเหลือน้อยมากเช่นกัน แต่ยังมากกว่าช่วงปี 2557-2558 อยู่เล็กน้อย ด้วยเหตุนี้อาจทำให้มีน้ำไม่เพียงพอที่จะผันไปยังลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้
นอกจากปีนี้จะมีหลายเขื่อนที่มีน้ำเหลือน้อยแล้ว ยังมีหลายเขื่อนที่มีน้ำเหลือมากด้วยเช่นกัน โดยมีเขื่อนที่มีน้ำเหลือมากกว่า 80% ของความจุเขื่อนอยู่ถึง 11 แห่ง โดยเป็นเขื่อนที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 7 แห่ง เนื่องจากเป็นบริเวณที่ได้รับ
อิทธิพลจากพายุที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ซึ่งส่งผลทำให้เขื่อนลำตะคอง และเขื่อนลำพระเพลิงบริเวณจังหวัดนครราชสีมา มีน้ำคงเหลือมากที่สุดเมื่อเทียบกับข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี นอกจากนี้เขื่อนปราณบุรี จังหวัด
ประจวบคีรีขันธ์ ก็มีน้ำคงเหลือมากที่สุดในรอบ 10 ปี เหมือนกัน เนื่องจากมีฝนตกมากจากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณดังกล่าวตลอดช่วงครึ่งหลังของเดือนตุลาคม