ตลอดปี 2563 มีน้ำไหลลงเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ ประมาณ 27,438 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีการระบายไป 23,898 ล้านลูกบาศก์เมตร หากเปรียบปริมาณน้ำไหลเข้ามากกว่าน้ำระบายคือการได้กำไร และปริมาณน้ำระบายมากกว่าน้ำไหลเข้าคือการขาดทุนเท่ากับว่า ปี 2563 ได้
กำไร 13% หรือกักเก็บน้ำไว้ได้เพิ่มจากปี 2562 ประมาณ 3,540 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยภาคกลางเป็นเพียงภาคเดียวที่ระบายน้ำขาดทุนไป 28% ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้กำไรมากที่สุดถึง 54% เนื่องจากปีนี้ได้รับผลกระทบจากพายุที่เคลื่อนตัวผ่านในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม ทำให้เขื่อน
ที่อยู่บริเวณตอนล่างของภาคมีน้ำไหลเข้ามาก โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดนครราชสีมา สำหรับภาคตะวันออกปีนี้ได้กำไร 41% เนื่องจากมีฝนตกมากในพื้นที่เช่นกัน ส่วนภาคเหนือและภาคใต้ได้กำไรเพียง 15% และ 14% ตามลำดับ เนื่องจากมีน้ำไหลลงเขื่อนค่อนข้างน้อย
ข้อมูลสถิติย้อนหลัง 10 ปี (2554-2563) แสดงให้เห็นว่าปีที่มีน้ำไหลลงเขื่อนรวมทั้งปีมากกว่าน้ำระบายรวมทั้งปี มีทั้งหมด 6 ปี ได้แก่ ปี 2554 2556 2559 2560 2561 และปี 2563 ส่วนปีที่มีน้ำไหลลงเขื่อนรวมทั้งปีน้อยกว่าน้ำระบายรวมทั้งปี มีทั้งหมด 4 ปี ได้แก่ ปี 2555 2557 2558 และ 2562
หากแจกแจงเป็นรายภาค พบว่าเขื่อนในภาคเหนือมีน้ำไหลเข้ามากกว่าน้ำระบายอยู่ 5 ปี คือ ปี 2554 2556 2559 2560 และ 2563 ส่วนปีที่เหลือมีน้ำไหลลงเขื่อนรวมทั้งปีน้อยกว่าน้ำระบายรวมทั้งปี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีน้ำไหลลงเขื่อนน้อยกว่าน้ำระบายเพียง 2 ปี คือปี 2555 และปี 2561
ภาคกลางมีเพียงปี 2557 2562 และ 2563 ที่มีน้ำไหลลงเขื่อนน้อยกว่าน้ำระบาย สำหรับภาคตะวันออก ปี 2562 เป็นเพียงปีเดียวที่น้ำไหลลงเขื่อนน้อยกว่าน้ำระบาย สำหรับภาคใต้มีน้ำไหลลงเขื่อนน้อยกว่าน้ำระบายเพียง 3 ปี ได้แก่ ปี 2555 2558 และ 2562
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลเขื่อนขนาดใหญ่ย้อนหลัง 10 ปี (2554-2563) จะเห็นได้ว่าในปี 2563 นี้เขื่อนที่มีการระบายน้ำน้อยกว่าปริมาณน้ำไหลเข้าอยู่เพียง 6 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแควน้อย เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนน้ำอูน เขื่อนลำปาว เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ ซึ่งจำนวนเขื่อนน้อยกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก ที่เกิดการระบายน้ำมากกว่าน้ำไหลเข้าถึง 26 เขื่อน นอกจากนี้
หลายเขื่อนมีตัวเลขทำลายสถิติข้อมูลปริมาณน้ำไหลเข้าและปริมาณน้ำระบายเกิดขึ้นในปีนี้ โดยเขื่อนที่การระบายน้ำมากกว่าปริมาณน้ำไหลเข้ามากที่สุดหากเทียบกับข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี หรือเรียกได้ว่า ขาดทุนมากที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งหมายถึง การนำน้ำของปีก่อนหน้าออกมาใช้มากที่สุดในรอบ 10 ปี มีเพียงเขื่อนเดียวคือเขื่อนวชิราลงกรณ และยังเป็นเขื่อนที่ทำลายสถิติมี
ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี อีกด้วย ส่วนเขื่อนที่ได้กำไรมากที่สุดในรอบ 10 ปี มี 8 เขื่อน ได้แก่ ลำตะคอง ลำพระเพลิง จุฬาภรณ์ บางพระ ป่าสัก มูลบน ลำนางรอง และหนองปลาไหล โดยเฉพาะเขื่อนลำพระเพลิง ที่ทำลายสถิติมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนมากที่สุดในรอบ 10 ปี นอกจากนี้ เขื่อนสิรินธรเป็นเพียงเขื่อนเดียวที่ในรอบ 10 ปี ไม่เคยระบายน้ำแบบขาดทุน