ปี 2564 เขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมรวมกันทั้งปี 46,294 ล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2560 ที่ประเทศไทยมีปริมาณฝนทั้งประเทศใกล้เคียงกับปี 2554 ที่เกิดอุทกภัยรุนแรง
ทั้งนี้มีการระบายน้ำออกไปเพียง 31,595 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำไหลเข้า ทำให้ ณ วันสิ้นปี มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือสำหรับเป็นต้นทุนในปี 2565 อยู่ถึง 53,248 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 75% ของความ
จุเขื่อน อยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง และเป็นน้ำใช้การได้จริง 29,706 ล้านลูกบาศก์เมตร หากเทียบกับข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี ( 2555-2564) พบว่าปี 2564 มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2560
หากแจกแจงข้อมูลเป็นรายภาคและเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี (2555-2564) พบว่าในปี 2564 มีปริมาณน้ำกักเก็บและปริมาณน้ำใช้การมากกว่าปี 2563 ในทุกภาค โดยเฉพาะภาคกลางที่มีปริมาณน้ำกักเก็บคงหลือสิ้นปี 25,145 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก และเป็นน้ำใช้การได้จริง 11,808 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากทางด้านตะวันตกของภาคมีฝนตกหนักทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนค่อนข้างมาก ทั้งเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนกระเสียว และเขื่อน
ทับเสลาที่มีน้ำไหลลงเขื่อนมากจนทำสลายสถิติน้ำไหลลงเขื่อนรายปี (โดยจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไป) ซึ่งต่างจากภาคเหนือมีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 13,781 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลางค่อนไปทางน้อย เป็นน้ำใช้การได้เพียง 7,036 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยเป็นอันดับที่ 5 รองจากปี 2558 2562 2563 และ 2557 หากเทียบกับข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 6,631 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้การได้ 4,982
ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์ปานกลางค่อนไปทางมาก โดยมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2560 ส่วนภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 1,205 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้การได้ 1,105 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก โดยมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2561 ด้านภาคใต้มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 4,686 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้การได้ 4,775 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลางค่อนไปทางมาก โดยมากเป็นอันดับที่ 4 รองจากปี 2556 2561 และ 2557
นอกจากนี้เมื่อวิเคราะห์ถึงปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมตลอดปี 2564 จะเห็นว่าปริมาณน้ำไหลลงสะสมเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วค่อนข้างมากในทุกภาค โดยเฉพาะภาคกลางที่มีน้ำไหลลงเขื่อนสูงถึง 17,466 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี ส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำ
กักเก็บคงเหลือสิ้นปีมากที่สุดด้วย ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่วนภาคเหนือมีปริมาณน้ำไหลลงสะสม 11,301 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับปีอื่น ๆ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำไหลลงสะสม 8,618 ล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี
2560 และ 2555 ภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำไหลลงสะสม 1,715 ล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2561 ส่วนภาคใต้มีปริมาณน้ำไหลลงสะสม 7,193 ล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2561
เนื่องจากต้นทุนน้ำของปี 2564 มีค่อนข้างน้อย ทำให้ต้องกักเก็บน้ำเพิ่มในหลายเขื่อน ปริมาณน้ำระบายจึงค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำไหลเข้า โดยเฉพาะภาคกลางที่มีน้ำไหลลงเขื่อนมากที่สุดในรอบ 10 ปี แต่มีการระบายน้ำไปเพียง 9,876 ล้านลูกบาศก์
เมตร ซึ่งน้อยเป็นอันดับที่ 4 รองจากปี 2557 2558 และ 2563 ส่วนภาคเหนือระบายน้ำไปเพียง 8,465 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2559 และ 2563 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำระบาย 5,649 ล้านลูกบาศก์
เมตร มากเป็นอันดับที่ 5 รองจากปี 2561 2562 2555 และ 2557 ภาคตะวันออกระบายน้ำมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2561 และ 2556 ส่วนภาคใต้ระบายน้ำมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2561 และ 2555
หากแยกตัวเลขปริมาณน้ำเก็บกักวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ที่จะใช้เป็นต้นทุนน้ำในปี 2565 ออกเป็นรายเขื่อน มีรายละเอียดดังนี้
เขื่อนที่มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือเกินความจุเขื่อน (มากกว่า 100% ของความจุเขื่อน มี 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง (103.84%) เขื่อนหนองปลาไหล (100.58%) เขื่อนกระเสียว (100.33%)
เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำมาก (มากกว่า 80-100% ของความจุเขื่อน) มีทั้งหมด 21 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำแซะ (100.00%) เขื่อนมูลบน (98.77%) เขื่อนลำพระเพลิง (98.77%) เขื่อนลำนางรอง (95.79%) เขื่อนจุฬาภรณ์ (94.22%) เขื่อนประแสร์ (94.17%) เขื่อนกิ่วลม (92.38%) เขื่อนบางพระ (92.12%) เขื่อนศรีนครินทร์ (92.09%)
เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน (91.72%) เขื่อนแม่มอก (91.35%) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (89.79%)
เขื่อนแก่งกระจาน (89.65%) เขื่อนขุนด่านปราการชล (88.59%) เขื่อนปราณบุรี (88.51%) เขื่อนทับเสลา (86.82%) เขื่อนสิรินธร (86.42%) เขื่อนอุบลรัตน์ (85.58%) เขื่อนวชิราลงกรณ (84.67%) เขื่อนนฤบดินทรจินดา (84.64%) เขื่อนกิ่วคอหมา (82.73%)
เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง (มากกว่า 50-80% ของความจุเขื่อน) มีทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ เขื่อนรัชชประภา (79.40%) เขื่อนบางลาง (70.53%) เขื่อนลำปาว (61.39%) เขื่อนภูมิพล (59.39%) เขื่อนน้ำอูน (59.42%) เขื่อนน้ำพุง (57.01%) เขื่อนห้วยหลวง (53.27%)
เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย (ตั้งแต่ 30-50% ของความจุเขื่อน) มีทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนคลองสียัด (49.10%) เขื่อนสิริกิติ์ (46.11%) เขื่อนแม่งัด (43.18%) เขื่อนแม่กวง (32.53%)
เขื่อนที่มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤต (น้อยกว่า 30% ของความจุเขื่อน) ปี 2564 ไม่มีเขื่อนใดที่มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือน้ำกว่า 30% ของความจุเขื่อน
สถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2564 ส่งผลทำให้น้ำต้นทุนของเขื่อนขนาดใหญ่สำหรับใช้ในปี 2565 มีค่อนข้างมาก โดยในช่วงปลายปี มีเขื่อนที่ปริมาณน้ำเกินความจุอยู่ 3 แห่ง และมีเขื่อนที่มีสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมากถึง 21 แห่ง จากเขื่อนทั้งหมด 35 แห่ง เนื่องจากเกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ทำให้มีน้ำไหลลงเขื่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเขื่อนที่ตั้งอยู่ในทางด้านตะวันตกของประเทศตั้งแต่ภาคเหนือตลอดแนวยาวลงมาจนถึงภาคกลางตอนล่าง ซึ่งปีนี้ เขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง มีน้ำไหลลงเขื่อนมากที่สุดตั้งแต่มีการสร้างเขื่อน และเกิดสถานการณ์น้ำล้นเขื่อนในช่วงปลาย
เดือนกันยายน 2564 ส่วนเขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีน้ำไหลลงเขื่อนมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากปี 2560 หากเทียบกับข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี นอกจากนี้เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี และเขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี ก็มีน้ำไหลลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี เช่นกัน โดยเฉพาะเขื่อนกระเสียวและเขื่อนทับเสลา ที่เกิดน้ำล้นเขื่อนในช่วงต้นเดือนตุลาคม ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ผิดปกติ เนื่องจากสองเขื่อนนี้มักเผชิญกับปัญหาน้ำน้อยอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้หลายเขื่อนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกก็มีน้ำไหลเข้ามากเช่นกัน
โดยเขื่อนนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี มีน้ำไหลเข้ามากที่สุดตั้งแต่มีการสร้างเขื่อน นอกจากนี้ยังมีเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา เขื่อนหนองปลาไหล จ.ระยอง ที่มีน้ำไหลลงเขื่อนมากที่สุดในรอบ 10 ปี นอกจากนี้ยังมีเขื่อนที่ถึงแม้จะไม่ทำลายสถิติน้ำไหลลงมากที่สุดแต่ก็มีน้ำไหลลงมากเป็นอันดับที่ 2 หากเทียบข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น