ปี 2564 มีพายุที่เคลื่อนผ่านเข้ามาในประเทศไทย 2 ลูก ได้แก่ 1) พายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” (DIANMU) ที่ลดระดับความแรงลงเป็นพายุดีเปรสชันก่อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดมุกดาหารเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2564 ส่งผลทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของภาคตะวันออก
เฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคกลาง ในช่วงวันที่ 23-26 กันยายน 2564 ส่วนลูกที่ 2 คือ พายุโซนร้อน “ญะวาด” ที่เคลื่อนผ่านภาคใต้ของไทยบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ในขณะยังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ก่อนที่จะเคลื่อนตัวลงทะเลอันดามันแล้วทวีกำลัง
แรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ญะวาด” ในวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ซึ่งพายุลูกนี้ส่งผลทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของภาคใต้ ในช่วงวันที่ 28 พฤศจิกายนถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2564
พายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” (DIANMU)
ก่อตัวขึ้นเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางในวันที่ 21 กันยายน 2564 หลังจากนั้นได้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันในวันที่ 22 กันยายน 2564 จากนั้นได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนในวันที่ 23 กันยายน
2564 ก่อนจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางนาม ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 24 กันยายน 2564 แล้วเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่ประเทศลาว พร้อมกับอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันบริเวณเมืองสะหวันนะเขต หลังจากนั้นได้เคลื่อนเข้าประเทศไทยบริเวณจังหวัดมุกดาหารในช่วงค่ำของวันเดียวกันในขณะที่ยังมีกำลัง
แรงอยู่ในระดับพายุดีเปรสชัน จากนั้นได้อ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณจังหวัดขอนแก่นในวันที่ 25 กันยายน 2564 ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเกือบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายตัวเป็นบริเวณกว้างในหลายพื้นที่
พายุโซนร้อน “ญะวาด” (JAWAD)
ก่อตัวขึ้นเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ใกล้กับทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 หลังจากนั้นได้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่อ่าวไทยผ่านภาคใต้บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 30
พฤศจิกายน 2564 ส่งผลทำให้บริเวณภาคใต้ของไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ หลังจากนั้นได้เคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามันแล้วทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 แล้วเคลื่อนตัวต่อไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือพร้อมทวีกำลังแรงขึ้นต่อเนื่องเป็นพายุ
โซนร้อนเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ต่อมาในวันที่ 4 ธันวาคม 2564 พายุได้ลดกำลังลงเป็นดีเปรสชันอีกครั้ง แล้วสลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำไปในวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งทางด้านตะวันตกของอ่าวเบงกอลเข้าสู่ประเทศบังคลาเทศ
นอกจากพายุทั้ง 2 ลูกที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากพายุอีก 18 ลูก ที่ถึงแม้จะไม่ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย แต่อิทธิพลของพายุส่งผลต่อสภาพอากาศ ทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย
พายุที่สลายตัวไปในบริเวณประเทศเพื่อนบ้าน 7 ลูก
1) พายุโซนร้อน “โคะงุมะ” (KOGUMA) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 11-13 มิถุนายน 2564 โดยสลายตัวไปในบริเวณตอนบนของประเทศเวียดนาม
2) พายุดีเปรสชัน 08W (Depression 08W) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 5-8 กรกฎาคม 2564 โดยสลายตัวไปในบริเวณตอนบนของประเทศเวียดนาม
3) พายุโซนร้อน “โกนเซิน” (CONSON) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 5-13 กันยายน 2564 โดยสลายตัวไปในบริเวณตอนกลางของประเทศเวียดนาม
4) พายุโซนร้อน “ไลอ้อนร๊อก” (LIONROCK) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 5-10 ตุลาคม 2564 โดยสลายตัวไปในบริเวณตอนบนของประเทศเวียดนาม
5) พายุโซนร้อน “คมปาซุ” (KOMPASU) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 7-14 ตุลาคม 2564 โดยสลายตัวไปในบริเวณตอนบนของประเทศเวียดนาม
6) พายุดีเปรสชัน 26W (Depression 26W) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 24-27 ตุลาคม 2564 โดยสลายตัวไปในบริเวณตอนล่างของประเทศเวียดนาม
7) พายุดีเปรสชัน 29W (Depression 29W) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 14-17 ธันวาคม 2564 โดยสลายตัวไปในบริเวณประเทศมาเลเซีย
พายุที่เคลื่อนตัวเข้ามาในบริเวณทะเลจีนใต้ 5 ลูก
1) พายุโซนร้อน “ฉอยหวั่น” (CHOI-WAN) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 29 พฤษภาคม ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2564
2) พายุดีเปรสชัน 07W (Depression 07W) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 3-6 กรกฎาคม 2564
3) พายุไต้ฝุ่น “เจิมปากา” (CEMPAKA) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 17-25 กรกฎาคม 2564
4) พายุโซนร้อน “ลูปิต” (LUPIT) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 2-9 สิงหาคม 2564
5) พายุไต้ฝุ่น “ราอี” (RAI) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 12-22 ธันวาคม 2564
พายุที่เคลื่อนตัวอยู่บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอล 6 ลูก
1) พายุดีเปรสชัน BOB-01 (Depression BOB-01 (90B)) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 2-3 เมษายน 2564
2) พายุไซโคลน “ยาส” (YAAS) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 23-28 พฤษภาคม 2564
3) พายุดีเปรสชัน BOB-03 (Depression BOB-03) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 12-15 กันยายน 2564
4) พายุไซโคลน “กุหลาบ” (GULAB) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 24-28 กันยายน 2564
5) พายุดีเปรสชัน BOB-05 (Depression BOB-05) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2564
6) พายุดีเปรสชัน BOB-06 (Depression BOB-06) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2564
หากเปรียบเทียบจำนวนพายุในปี 2564 กับสถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในรอบ 71 ปี (2494-2566) จะเห็นได้ว่า ปี 2564 มีพายุเคลื่อนเข้ามาในประเทศไทยเพียง 1 ลูกเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 2 ลูก นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2540 พายุที่เคลื่อนตัวเข้ามายังประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
โดยมีปีที่จำนวนพายุเท่ากับค่าเฉลี่ยเพียง 6 ปี เท่านั้น และหากพิจารณาข้อมูลเป็นรายเดือน พบว่า เดือนที่มีพายุเคลื่อนเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุดคือ เดือนตุลาคม ซึ่งมีพายุที่เคลื่อนเข้ามาทั้งหมด 56 ลูก รองลงมาคือ เดือนกันยายนและเดือนพฤศจิกายน โดยมีจำนวนพายุที่เคลื่อนเข้ามาทั้งหมด 53 และ 31 ลูก ตามลำดับ ทั้งนี้พายุที่
เคลื่อนตัวเข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับดีเปรสชัน ซึ่งมีเคลื่อนเข้ามาในประเทศไทยทั้งหมดถึง 186 ลูก ต่างจากพายุโซนร้อนที่มีเคลื่อนเข้ามาเพียง 18 ลูกเท่านั้น นอกจากนี้ พายุ “เกย์” ยังคงเป็นพายุเพียงลูกเดียวในรอบ 71 ปี ที่เคลื่อนเข้ามาในประเทศไทยในขณะที่ความแรงยังอยู่ในระดับพายุไต้ฝุ่น