จากการวิเคราะห์ความรุนแรงของสภาวะฝนแล้งด้วยดัชนีฝนมาตรฐาน (SPI) โดย USDA จะเห็นได้ว่าในภาพรวมทั้งปี 2564 ประเทศไทยประสบกับสภาวะฝนแล้งเพียงเล็กน้อยในบางพื้นที่ทางด้านตะวันออกของภาคเหนือและบางพื้นที่ทางตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีฝนค่อนข้างมากโดยเฉพาะทางด้านตะวันตกของภาคเหนือและทางด้านตะวันออกของภาคตะวันออกที่มีฝนมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ หากพิจารณาเป็นราย 6 เดือน จะพบว่าครึ่งปีหลังมีฝนมากในหลายพื้นที่แต่กลับเกิดสภาวะฝนแล้งมากทางด้านตะวันออกของภาคเหนือ ต่างจากช่วงครึ่งปีแรกที่มีสภาวะฝนแล้งบริเวณตอนบนของภาคใต้
และหากวิเคราะห์ข้อมูลราย 3 เดือน จะพบว่า ช่วง 3 เดือนแรกพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศประสบกับสภาวะฝนแล้ง ยกเว้นในบางพื้นที่ทางตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีฝนตกมากในบางพื้นที่ หลังจากนั้นอีก 3 เดือนถัดมา ภาวะฝนแล้งได้คลี่คลายในหลายพื้นที่ ยกเว้นในบางพื้นที่ทางด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตอนบนของภาคใต้ที่ยังประสบกับสภาวะฝนแล้งอยู่ หลังจากนั้นถัดมาอีก 3 เดือน ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะทางด้านตะวันตกของประเทศตั้งแต่จังหวัดตากลงมาถึงภาคกลางรวมถึงภาคตะวันออก ตรงข้ามกับภาคเหนือและภาค
ตะวันออกเฉียงเหนือที่ต้องประสบกับสภาวะฝนแล้ง โดยเฉพาะทางด้านตะวันออกของภาคเหนือบริเวณจังหวัดน่านที่ฝนแล้งค่อนข้างรุนแรง ต่อมาในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีสภาวะฝนแล้งได้คลี่คลายลง มีฝนตกมากกระจายตัวในทุกภาคของประเทศ และหากพิจารณาเป็นรายเดือนจะพบว่าปี 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับสภาวะฝนแล้งเป็นบริเวณกว้างในหลายพื้นที่ในเดือนมกราคม มีนาคม โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคมที่มีพื้นที่ฝนแล้งต่อเนื่องกันหลายเดือน นอกจากนี้ยังมีช่วงพฤศจิกายนถึงธันวาคมที่เกิดสภาวะฝนแล้งในหลายพื้นที่แต่สถานการณ์รุนแรงน้อยกว่าช่วงกลางปี