เขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ
รายงานสถานการณ์ปริมาณน้ำเก็บกัก ปริมาณน้ำไหลเข้าและปริมาณน้ำระบายของแต่ละเขื่อนจากกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ปี 2566 เขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมรวมกันทั้งปี 40,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดลงจากปีที่แล้วมากถึง 13,074 ล้านลูกบาศก์เมตร (เกือบเท่าความจุของเขื่อนภูมิพล) แต่ยังถือเป็นปริมาณน้ำไหลลงสะสมที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10

ปีและมีการระบายน้ำออกไปมากปถึง 38,193 ล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับที่ 4 รองจากปี 2561 ปี 2565 และปี 2560 ทั้งนี้ ณ วันสิ้นปี ปริมาณน้ำกักเก็บของทั้ง 35 เขื่อน เหลืออยู่ 54,621 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 77% ของความจุเขื่อน อยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง ซึ่งลงลงจากปีที่แล้ว

เล็กน้อย โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การได้จริง 31,084 ล้านลูกบาศก์เมตร หากเทียบกับข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี ( 2557-2566) พบว่าปี 2566 มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2560 และ 2565

ปริมาณน้ำกักเก็บและปริมาณน้ำใช้การได้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม                                               ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมทั้งปีและปริมาณน้ำระบายสะสมทั้งปี
   หมายเหตุ :
   1. ข้อมูลจากกรมชลประทาน
   2. เกณฑ์ปริมาณน้ำกักเก็บ >100% = เกินความจุเก็บกัก , >80-100% = น้ำมาก , > 50-80% = น้ำปานกลาง , >30-50% = น้ำน้อย , <= 30% = น้ำน้อยวิกฤต


เนื่องจากปี 2566 มีปริมาณฝนทั้งประเทศลดลงจากปี 2565 ค่อนข้างมากในทุกภาค ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนแต่ละภาคลดลงไปด้วย ทำให้ต้องลดการระบายน้ำลงไปด้วย ยกเว้นภาคเหนือที่มีการระบายน้ำ

มากขึ้น โดยมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2561 หากเทียบกับข้อมูลในรอบ 10 ปี ซึ่งถึงแม้ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนจะลดน้อยลง แต่เนื่องจากในช่วงต้นปีแต่ละภาคมีน้ำต้นทุนเกิน 80% ของความจุเขื่อน ซึ่งอยู่ใน

เกณฑ์น้ำมาก ประกอบกับระบายออกไปน้อย ทำให้ช่วงปลายปี แต่ละภาคยังคงมีน้ำกักเก็บคงเหลือในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลางถึงน้ำมากในทุกภาค รายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้


ภาคเหนือ มีปริมาณน้ำไหลลงสะสมตั้งแต่ต้นปี 13,576 ล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับที่ 4 รองจากปี 2565 2560 และ 2561 และมีการระบายน้ำมากถึง 15,261 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2561 และเป็นปริมาณน้ำระบายที่มากกว่าปริมาณน้ำไหลลงเขื่อน โดย ณ วันสิ้นปี มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 17,389 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 70% ของความจุเขื่อน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง ที่มีน้ำมากเป็นอันดับที่ 4 รองจากปี 2560 2565 และ 2561 โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การได้จริง 10,644 ล้านลูกบาศก์เมตร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำไหลลงสะสมตั้งแต่ต้นปี 8,775 ล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2560 และ 2565 และมีการระบายน้ำไป 6,784 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 4 รองจากปี 2560 2565 และ 2561 และเป็นปริมาณน้ำระบายที่น้อยกว่าปริมาณน้ำไหลลงเขื่อน โดย ณ วันสิ้นปี มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 6,765 ล้านลูกบาศก์เมตร

คิดเป็น 81% ของความจุเขื่อน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก ที่มากเป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2565 และ 2560 โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การได้จริง 5,115 ล้านลูกบาศก์เมตร

ภาคกลาง มีปริมาณน้ำไหลลงสะสมตั้งแต่ต้นปี 11,863 ล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับที่ 5 รองจากปี 2564 2561 2565 และ 2560 และมีการระบายน้ำออกไปเพียง 9,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้อยเป็นอันดับที่ 5 รองจากปี 2558 2559 2563 และ 2564 และเป็นปริมาณน้ำระบายที่น้อยกว่าปริมาณน้ำไหลลงเขื่อน โดย ณ วันสิ้นปี มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 23,142 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 83% ของความจุเขื่อน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก ที่มากเป็นอันดับที่ 4 รองจากปี 2564 2561 และ 2560 โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การได้จริง 9,805 ล้านลูกบาศก์เมตร

ภาคตะวันออก มีปริมาณน้ำไหลลงสะสมตั้งแต่ต้นปีเพียง 987 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยน้อยเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2562 แต่มีการระบายน้ำออกไปมากถึง 1,235 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมาก

เป็นอันดับที่ 3 รองจากปี 2561 และ 2565 ซึ่งเป็นการระบายน้ำมากกว่าปริมาณน้ำไหลลงเขื่อน โดย ณ วันสิ้นปี มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 1,076 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 71% ของความจุเขื่อน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง ที่มีปริมาณน้ำมากเป็นอันดับที่ 5 รองจากปี 2565 2561 2564 และ 2560 โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การได้จริง 982 ล้านลูกบาศก์เมตร

ภาคใต้ มีปริมาณน้ำไหลลงสะสมตั้งแต่ต้นปี 5,779 ล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับที่ 5 รองจากปี 2561 2564 2565 และ 2560 โดยระบายน้ำออกไป 4,969 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยเป็นอันดับที่ 4 รองจากปี 2563 2559 และ 2558 ซึ่งเป็นปริมาณน้ำระบายที่น้อยกว่าปริมาณน้ำไหลลงเขื่อน โดย ณ วันสิ้นปี มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 6,248 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 76% ของความจุเขื่อน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง ที่มีปริมาณน้ำมากเป็นอันดับที่ 5 รองจากปี 2557 2561 2564 และ 2548 โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การได้จริง 4,538 ล้านลูกบาศก์เมตร

ปริมาณน้ำไหลลงสะสมทั้งปี

ปริมาณน้ำระบายสะสมทั้งปี

ปริมาณน้ำกักเก็บ ณ วันสิ้นปี


ปริมาณน้ำใช้การได้ ณ วันสิ้นปี



หมายเหตุ :
  • ใช้ข้อมูลเขื่อนขนาดใหญ่รายงานโดยกรมชลประทาน
  • ภาคเหนือมีเขื่อนขนาดใหญ่ 8 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนแม่งัด จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง เขื่อนแม่กวง จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก และเขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเขื่อนขนาดใหญ่ 12 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนมูลบน จ.นครราชสีมา เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร และเขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา
  • ภาคกลางมีเขื่อนขนาดใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี และเขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี
  • ภาคตะวันออกมีเขื่อนขนาดใหญ่ 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนบางพระ จ.ชลบุรี เขื่อนหนองปลาไหล จ.ระยอง เขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เขื่อนประแสร์ จ.ระยอง และเขื่อนนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี
  • ภาคใต้มีเขื่อนขนาดใญ่ 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี และเขื่อนบางลาง จ.ยะลา
  • ความจุเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 อ่าง รวม 70,926 ล้านลูกบาศก์เมตร (อ้างอิงจากรายงานข้อมูลเขื่อนรายวันของกรมชลประทานเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2566)


  • หากแบ่งเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ออกเป็นกลุ่มตามเกณฑ์ปริมาณน้ำกักเก็บของกรมชลประทาน สามารถแบ่งได้ดังนี้

    เขื่อนที่มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือเกินความจุเขื่อน (มากกว่า 100% ของความจุเขื่อน มี 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่งัด (107.91%) เขื่อนกิ่วคอหมา (107.51%)

    เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำมาก (มากกว่า 80-100% ของความจุเขื่อน) มีทั้งหมด 15 แห่ง ได้แก่ เขื่อนหนองปลาไหล (95.71%) เขื่อนกิ่วลม (90.79%) เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน (89.89%) เขื่อนลำปาว [89.77%)

    เขื่อนนฤบดินทรจินดา (87.15%) เขื่อนแม่มอก (86.00%) เขื่อนบางลาง (85.93%) เขื่อนวชิราลงกรณ (85.35%) เขื่อนขุนด่านปราการชล [84.69%) เขื่อนปาสักชลสิทธิ์ (84.32%) เขื่อนประแสร์ (83.55%) เขื่อนอุบลรัตน์ (83.22%) เขื่อนศรีนครินทร์ (82.30%) เขื่อนสิรินธร (81.28%) เขื่อนจุฬาภรณ์ (80.07%)

    เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง (มากกว่า 50-80% ของความจุเขื่อน) มีทั้งหมด 14 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา (79.92%) เขื่อนน้ำพุง (78.79%) เขื่อนห้วยหลวง (78.61%) เขื่อนน้ำอูน (78.19%) เขื่อนรัชชประภา (77.98%) เขื่อนภูมิพล (74.09%) เขื่อนบางพระ (71.07%) เขื่อนลำพระเพลิง

    (68.51%) เขื่อนลำนางรอง (61.17%) เขื่อนสิริกิติ์ (59.95%) เขื่อนแก่งกระจาน (59.50%) เขื่อนมูลบน (59.12%) เขื่อนลำตะคอง (57.83%) เขื่อนลำแซะ (53.49%)

    เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย (ตั้งแต่ 30-50% ของความจุเขื่อน) มีทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนปราณบุรี (45.86%) เขื่อนทับเสลา (44.79%) เขื่อนคลองสียัด (34.00%) เขื่อนกระเสียว (31.97%)

    เขื่อนที่มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤต (น้อยกว่า 30% ของความจุเขื่อน) ปี 2565 ไม่มีเขื่อนใดที่มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือน้อยกว่า 30% ของความจุเขื่อน

    ปริมาณน้ำกักเก็บ วันที่ 31 ธันวาคม 2566



    ถึงแม้ตลอดปี 2566 จะมีน้ำไหลลงเขื่อนน้อยกว่าปี 2565 และก็ยังคงถือเป็นปริมาณน้ำที่ค่อนข้างมาก ทำให้เขื่อนส่วนใหญ่ยังคงมีน้ำกักเก็บคงเหลือค่อนข้างมาก โดยในช่วงปลายปี มีเขื่อนที่ปริมาณน้ำกักเก็บเกินความจุอยู่ 2 แห่ง เขื่อนที่มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ในเกณฑ์น้ำมากถึง 15 แห่ง เกณฑ์น้ำปานกลางอีก 14 แห่ง เกณฑ์

    น้ำน้อย 4 แห่ง และไม่มีเขื่อนใดเลยที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤต

    อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณฝนโดยภาพรวมของประเทศจะลดลงจากปี 2565 ค่อนข้างมาก แต่ในบางช่วงเวลาและบางพื้นที่ได้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลทำให้บางเขื่อนประสบกับสถานการณ์น้ำที่ต่างไปจาก

    ปกติที่เคยเป็น รวมถึงมีตัวเลขปริมาณน้ำที่ทำลายสถิติในหลายเขื่อน โดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายนที่เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งส่งผลต่อเขื่อนต่าง ๆ ในพื้นที่ดังนี้


    ห้วยหลวง จ.อุดรธานี – มีน้ำไหลลงเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเดือนกันยายน โดยในวันที่ 17 กันยายน 2566 เพียงวันเดียวมีน้ำไหลลงเขื่อนมากถึง 17.01 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำไหลลง

    เขื่อนรายวันที่มากที่สุดและส่งผลทำให้ปริมาณน้ำไหลลงสะสมทั้งปีมากถึง 218.81 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากที่สุดหากเทียบกับข้อมูลย้อนหลังในรอบ 10 ปี และทำให้เขื่อนต้องระบายน้ำออกถึง 179.64 ล้านลูกบาศก์

    เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำระบายที่มากที่สุดในรอบ 10 ปี เช่นกัน และหากเทียบกับข้อมูลปริมาณน้ำไหลเข้าและปริมาณน้ำระบายในรอบ 20 ปี ปี 2566 จะเป็นรองเพียงแค่ปี 2554 ที่เกิดอุกทกภัยรุนแรงเท่านั้น


    ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนรายวันของเขื่อนห้วยหลวง
    ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมทั้งปีของเขื่อนห้วยหลวง
    ปริมาณน้ำระบายสะสมทั้งปีของเขื่อนห้วยหลวง


    เขื่อนภูมิพล จ.ตาก – อิทธิพลจากฝนที่ตกหนักในช่วงปลายเดือนกันยายน ส่งผลทำให้เขื่อนภูมิพลมีน้ำไหลลงเขื่อนค่อนข้างมาก โดยในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 มีน้ำไหลลงเขื่อนมากถึง 204.31 ล้านลูกบาศก์เมตร และตลอดทั้งปีมีน้ำไหลลงเขื่อนรวมกันสูง

    ถึง 6,627.92 ล้านลูกบาศ์เมตร ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2565 ทำให้ต้องระบายน้ำมากถึง 8,049 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำระบายมากที่สุดหากเทียบกับข้อมูลในรอบ 10 ปี และหากเทียบปริมาณน้ำระบายในรอบ 20 ปี ปี 2566 จะ

    เป็นรองเพียงแค่ปี 2555 เท่านั้น ซึ่งปี 2555 เป็นปีที่ต้องเร่งระบายน้ำ เนื่องจากปี 2554 มีน้ำไหลลงเขื่อนมากจนเกิดสถานการณ์น้ำล้นเขื่อนและต้องเร่งระบายผ่านทางน้ำล้น

    ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนรายวันของเขื่อนภูมิพล
    ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมทั้งปีของเขื่อนภูมิพล
    ปริมาณน้ำระบายสะสมทั้งปีของเขื่อนภูมิพล


    เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก - อิทธิพลจากฝนที่ตกหนักในช่วงปลายเดือนกันยายน จนถึงต้นเดือนตุลาคม ส่งผลทำให้

    เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีน้ำไหลลงเขื่อนค่อนข้างมาก โดยในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 เพียงวันเดียวมีน้ำไหลลงเขื่อนมากถึง

    77.51 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นน้ำไหลลงเขื่อนรายวันที่สูงที่สุดหากเทียบกับข้อมูลในรอบ 10 ปี

    ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนรายวันของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน

    เขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง - อิทธิพลจากฝนที่ตกหนักในช่วงปลายเดือนกันยายน ส่งผลทำให้เขื่อนแม่มอกมีน้ำไหลลงเขื่อนค่อนข้าง

    มาก โดยในวันที่ 30 กันยายน 2566 เพียงวันเดียวมีน้ำไหลลงเขื่อนมากถึง 33.38 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นน้ำไหลลงเขื่อน

    รายวันที่สูงที่สุดหากเทียบกับข้อมูลในอดีตตั้งแต่ปี 2561 ที่เริ่มมีการบันทึกข้อมูล

    ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนรายวันของเขื่อนแม่มอก

    ปี 2566 ไม่ได้มีเฉพาะเหตุการณ์ฝนตกหนักที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่และบางช่วงเวลาเท่านั้น แต่มีบางพื้นที่ที่มีฝนตกน้อยด้วย โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกที่มีฝนตกน้อยกว่าปกติเกิดขึ้น ส่งผลทำให้เขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา มีน้ำไหลลงเขื่อน

    เพียง 131.38 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้อยที่สุดหากเทียบกับข้อมูลในรอบ 10 ปี รวมถึงตอนบนของภาคใต้บริเวณจังหวัดสุราษรฎร์ธานีที่มีฝนตกน้อยด้วยเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้เขื่อนรัชชประภามีน้ำไหลลงเขื่อน

    ค่อนข้างน้อย ทำให้มีการระบายน้ำค่อนข้างน้อยด้วยเช่นกัน โดยตลอดทั้งปีมีการระบายน้ำออกไปเพียง 1,779.77 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้อยที่สุดหากเทียบกับข้อมูลในรอบ 10 ปี

    ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมทั้งปีของเขื่อนคลองสียัด
    ปริมาณน้ำระบายสะสมทั้งปีของเขื่อนรัชชประภา