จากการวิเคราะห์ความรุนแรงของสภาวะฝนแล้งด้วยดัชนีฝนมาตรฐาน (SPI) โดย USDA จะเห็นได้ว่าในภาพรวมทั้งปี 2566 ประเทศไทยประสบกับสภาวะฝนแล้งเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ โดยบริเวณที่ประสบกับสภาวะฝนแล้งอยู่ในเกณฑ์ฝนแล้งรุนแรง (Severe Drought) จนถึงฝนแล้งรุนแรงมากเป็นพิเศษ (Exceptional Drought) ประกอบด้วย ทางตอนบนของภาคเหนือบริเวณจังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา ภาคกลางเกือบทุกพื้นที่ ด้าน
ตะวันตกของภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนตั้งแต่จังหวัดชุมพรจนถึงจังหวัดพังงา ส่วนบริเวณที่ประสบกับสภาวะฝนแล้งอยู่ในเกณฑ์แห้งผิดปกติ (Abnormally Dry) จนถึงฝนแล้งปานกลาง (Moderate Drought) ประกอบด้วย เกือบทุกพื้นที่ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านตะวันออกของภาคตะวันออก และตอนกลางของภาคใต้บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช ถึงแม้จะมีฝนตกน้อยมากกว่าปกติเกิดขึ้นในพื้นที่
ส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ก็มีบางพื้นที่ที่มีฝนตกมากกว่าปกติ ประกอบด้วย บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีฝนตกจนทำให้อากาศอยู่ในเกณฑ์ชื้นมากกว่าปกติ (Abnormally Wet) เกิดขึ้นในบางพื้นที่ นอกจากนี้พื้นที่ตอนล่างของภาคใต้บริเวณจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ก็มีฝนตกจนทำให้อากาศอยู่ในเกณฑ์ชื้นมากกว่าปกติ (Abnormally Wet) จนถึงชื้นมากกว่าปกติค่อนข้างมาก (Severe Wet)
หากแบ่งการวิเคราะห์สภาวะฝนแล้งเป็นช่วงครึ่งปีแรกและช่วงครึ่งปีหลัง พบว่าถึงแม้ในช่วงครึ่งปีหลังประเทศไทยประสบกับสภาวะฝนแล้งลดน้อยลง แต่ก็ยังคงอยู่ในเกณฑ์แล้งรุนแรง (Severe Drought) ถึงรุนแรงมากเป็นพิเศษ (Exceptional
Drought) ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ตอนบนบริเวณจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ที่มีสภาวะฝนแล้งรุนแรงมากเป็นพิเศษ (Exceptional Drought) ทั้งช่วงครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลัง แต่ทั้งนี้มีบางพื้นที่ของภาคเหนือและด้านตะวันออก
ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความชื้นมากกว่าปกติ รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา จนถึงนราธิวาส มีความชื้นมากกว่าปกติทั้งช่วงครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลัง
แต่หากวิเคราะห์ข้อมูลทั้งปีแบ่งเป็นราย 3 เดือน รวม 4 ช่วง จะพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยประสบกับสภาวะฝนแล้งรุนแรงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงแรกจนถึงช่วงที่
3 โดยเฉพาะช่วงที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน) ที่ประสบกับสภาวะฝนแล้งในระดับรุนแรงมากเป็นพิเศษ (Exceptional Drought) ในหลายพื้นที่ ทั้ง ๆ ที่อยู่ในช่วงฤดูฝน แต่พอ
เข้าสู่ช่วงที่ 4 พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีความชื้นสูงมากกว่าปกติ และมีบางพื้นที่ของภาคเหนือความชื้นสูงถึงระดับมากกว่าปกติเป็นพิเศษ (Exceptional Wet)
หากวิเคราะห์สภาวะฝนแล้งเป็นรายเดือน พบว่าในเดือนมกราคมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในสภาวะแห้งผิดปกติเกือบทั้งหมด มีเพียงบางพื้นที่ทางตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ตอนล่างที่มีความชื้นมากกว่าปกติ ส่วนเดือนมีนาคมพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์แห้งผิดปกติจนถึงระดับแล้งรุนแรง มีเพียงบางพื้นที่ของภาคเหนือที่มีสภาวะชื้นมากกว่าปกติ เดือนเมษายนพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในเกณฑ์แห้งมากกว่าปกติจนถึงแล้งรุนแรงมาก มีเพียงบางพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานีที่มีความชื้นมากกว่าปกติ
ต่อมาในเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นเดือนที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแต่ประเทศไทยกลับประสบกับสภาวะฝนแล้งรุนแรงเป็นพิเศษ (Exceptional Drought) ในหลายพื้นที่และไม่มีพื้นที่ใดเลยที่มีความชื้นมากกว่าปกติ ต่อมาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมพื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาวะแล้ง ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความชื้นมากกว่าปกติเกิดขึ้นทั้งสองเดือน ต่อมาในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม หลายพื้นที่ของประเทศไทยประสบกับสภาวะฝนแล้งรุนแรงมากเป็นพิเศษ (Exceptional Drought) ต่อเนื่องสองเดือน โดยเฉพาะ
ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ แต่เมื่อเข้าสู่เดือนตุลาคมสภาวะแล้งลดลงมาก โดยเฉพาะบางพื้นที่ของภาคเหนือที่มีความชื้นเพิ่มสูงขึ้นจนอยู่ในระดับมากเป็นพิเศษ (Exceptional Wet) แต่ยังคงมีสภาวะแล้งเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ต่อมาช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสภาวะแล้งเกิดขึ้นต่อเนื่องสองเดือน ตรงกันข้ามกับพื้นที่ภาคกลางมีความชื้นสูงเกิดขึ้นต่อเนื่องสองเดือน