สถานการณ์น้ำเค็มรุกแม่น้ำเจ้าพระยา

ปี 2566 บริเวณสถานีสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นสถานีสูบน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาแจกจ่ายให้แก่พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีสถานการณ์ความเค็มของน้ำดิบอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถผลิตน้ำประปาได้ตลอดทั้งปี ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งต่างจากปี 2564 ที่เกิดน้ำเค็มรุกเกิดขึ้นในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม มิถุนายน และกรกฎาคม โดยเฉพาะในช่วงเดือน

กุมภาพันธ์ที่ค่าความเค็มสูงสุดที่วัดได้อยู่ในช่วง >2.0-5.0 กรัมต่อลิตร ซึ่งเกินมาตรฐานน้ำเพื่อการผลิตประปา ทำให้ต้องหยุดสูบน้ำเป็นช่วง ๆ รวมทั้งเกินเกณฑ์มาตรฐานเพื่อการเกษตร หรือไม่สามารถนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ได้ ส่วนสถานีวัดมะขาม อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งห่างจากสถานีสำแล ลงมาทางทิศใต้เพียง 5 กิโลเมตร ในปีนี้ที่สถานการณ์ปกติเช่นกัน โดยตรวจพบความเค็มอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังคุณภาพน้ำเพื่อการ

ผลิตน้ำประปา (0.25-0.50 กรัมต่อลิต) ในบางวันของเดือนสิงหาคมและกันยายนเท่านั้น เช่นเดียวกันกับที่สะพานพระนั่งเกล้าที่ค่าความเค็มรุนแรงน้อยกว่าปี 2565 ตรงกันข้ามกับที่สะพานพระพุทธยอดฟ้าที่ปีนี้น้ำเค็มเกิน 2.0 กรัมต่อลิตร เกิดขึ้นเกือบทุกเดือนต่างจากปี 2565 ที่เกิดขึ้นเฉพาะช่วงต้นปีเท่านั้น รวมถึงที่คลองลัดโพธิ์และพระนครใต้ที่สถานการณ์ความเค็มของน้ำค่อนข้างรุนแรงกว่าปี 2565 เช่นกัน

หมายเหตุ :
ช่วง 0.25 ถึง 0.50 กรัมต่อลิตร คือ เกณฑ์เฝ้าระวังคุณภาพน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปา
มากว่า 0.50 กรัมต่อลิตร คือ เกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปา
มากกว่า 2.0 กรัมต่อลิตร คือ เกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำเพื่อการเกษตร