ปี 2566 เป็นปีที่ไม่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้ามายังบริเวณประเทศไทยเลยแม้แต่ลูกเดียว แต่มีพายุหนึ่งลูกที่สลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อนเคลื่อนตัวเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศประเทศไทยโดยตรง พายุลูกนั้นคือ
"พายุดีเปรสชัน 13W" (Depression 13W)
ที่ก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลจีนใต้ใกล้ชายฝั่งประเทศฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 หลังจากนั้นได้เคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตก ก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม เมื่อเวลา 22.00 น. ของวันที่ 25 กันยายน 2566 และได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ก่อนเคลื่อนผ่านประเทศ
เวียดนามและลาวเข้าสู่ประเทศไทย โดยเคลื่อนแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงวันที่ 26-27 กันยายน 2566 ก่อนเคลื่อนตัวออกไปยังประเทศพม่า ซึ่งพายุดังกล่าวส่งผลทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้น
นอกจากพายุดีเปรสชัน 13W แล้วยังมีพายุอีก 11 ลูกที่ถึงแม้จะไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง แต่ได้เคลื่อนเข้ามายังบริเวณที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศของประเทศไทย โดยเป็นพายุที่เกิดขึ้นทางด้านฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก จำนวน 7 ลูก และฝั่งมหาสมุทรอินเดียอีก 4 ลูก ได้แก่
1) พายุไซโคลน “โมคา” (MOCHA) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 7-15 พฤษภาคม 2566 โดยก่อตัวขึ้นที่บริเวณทะเลอันดามัน และสลายตัวไปในบริเวณตอนบนของประเทศพม่า
2) พายุไต้ฝุ่น “ตาลิม” (TALIM) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 9-19 กรกฎาคม 2566 โดยก่อตัวขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วเคลื่อนตัวผ่านตอนบนของประเทศฟิลิปปินส์ และสลายตัวไปในบริเวณตอนใต้ของประเทศจีน
3) พายุไต้ฝุ่น “ทกซูริ” (DOKSURI) เกิดขึ้นใช่วงวันที่ 17-29 กรกฎาคม 2566 โดยก่อตัวขึ้นที่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วเคลื่อนตัวผ่านตอนบนของประเทศฟิลิปปินส์ และสลายตัวไปในบริเวณด้านตะวันออกของประเทศจีน
4) พายุดีเปรสชัน “BOB-03” เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 30 กรกฎาคมถึง 2 สิงหาคม 2566 โดยก่อตัวขึ้นที่บริเวณอ่าวเบงกอลและสลายตัวไปในบริเวณประเทศอินเดีย
5) พายุซุปเปอร์ไต้ฝุ่น “เซาลา” (SAOLA) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 22 สิงหาคมถึงวันที่ 5 กันยายน 2566 โดยก่อตัวขึ้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก แล้วเคลื่อนตัวผ่านตอนบนของประเทศฟิลิปปินส์ และสลายตัวไปในบริเวณอ่าวตังเกี๋ย
6) พายุไต้ฝุ่น “ไห่ขุย” (HAIKUI) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 27 สิงหาคมถึงวันที่ 5 กันยายน 2566 โดยก่อตัวขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วเคลื่อนตัวผ่านประเทศไต้หวัน และสลายตัวไปในบริเวณด้านตะวันออกของประเทศจีน
7) พายุไต้ฝุ่น “โคอินุ” (KOINU) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 27 กันยายนถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2566 โดยก่อตัวขึ้นที่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วเคลื่อนตัวผ่านชายฝั่งประเทศไต้หวัน และสลายตัวไปในบริเวณอ่าวตังเกี๋ย
8) พายุโซนร้อน “ซันปา” (SANBA) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 16-21 ตุลาคม 2566 โดยก่อตัวขึ้นที่บริเวณทะเลจีนใต้ และสลายตัวไปบริเวณอ่าวตังเกี๋ย
9) พายุไซโคลน “ฮอมูน” (HAMOON) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 20-25 ตุลาคม 2566 โดยก่อตัวขึ้นที่บริเวณอ่าวเบงกอล แล้วสลายตัวไปในบริเวณประเทศอินเดีย
10) พายุโซนร้อน “มิดิลี” (MIDHILI) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 14-17 พฤศจิกายน 2566 โดยก่อตัวขึ้นที่อ่าวเบงกอล แล้วสลายตัวไปในบริเวณประเทศบังคลาเทศ
11) พายุโซนร้อน “เจอลาวัต” (JELAWAT) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 12-23 ธันวาคม 2566 โดยก่อตัวขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ และสลายตัวไปในบริเวณใกล้ชายฝั่งประเทศมาเลเซีย
ทั้งนี้ ปี 2566 เป็นปีที่ไม่มีพายุเคลื่อนเข้ามาในประเทศไทยเลยแม้แต่ลูกเดียว ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วจะมีประมาณปีละ 3 ลูก ทั้งนี้จากสถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในรอบ 73 ปี (2494-2565) จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2540 พายุที่เคลื่อนตัวเข้ามายังประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งในช่วง 27 ปี (2540-2566) มีปีที่มีพายุเคลื่อนเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 1 ลูก อยู่ 9 ปี จำนวน
2 ลูก มี 9 ปี และจำนวน 3 ลูกมี 6 ปี และไม่มีพายุเคลื่อนเข้ามาเลย 3 ปี หรืออาจสรุปได้ว่าในช่วง 30 ปีหลังมานี้ โดยส่วนใหญ่จะมีพายุเคลื่อนเข้ามาในประเทศไทยเพียงปีละประมาณ 1-2 ลูกเท่านั้น และหากพิจารณาข้อมูลเป็นรายเดือน พบว่าเดือนที่มีพายุเคลื่อนเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุดคือ เดือนตุลาคม ซึ่งมีพายุที่เคลื่อนเข้ามาทั้งหมด 56 ลูก รองลงมาคือเดือนกันยายนและเดือนพฤศจิกายน ที่มีพายุที่เคลื่อนเข้า
มาทั้งหมด 54 และ 31 ลูก ตามลำดับ ทั้งนี้พายุที่เคลื่อนตัวเข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับดีเปรสชัน ซึ่งมีเคลื่อนเข้ามาในประเทศไทยทั้งหมดถึง 187 ลูก ต่างจากพายุที่เคลื่อนเข้าไทยในระดับพายุโซนร้อนที่มีเพียง 18 ลูกเท่านั้น และมีพายุที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในระดับพายุไต้ฝุ่นเพียงลูกเดียวเท่านั้นในรอบ 73 ปี คือ พายุ “เกย์” ที่เคลื่อนเข้าภาคใต้ของไทยในปี 2532